เปรต

สุกรเปรต วิบากกรรมของผู้ยุยงให้คนอื่นแตกแยก

 สุกร เปรต วิบากกรรมของผู้ยุยงให้คนอื่นแตกแยก

พระพุทธศาสนากล่าวถึงวิบากกรรมของคนที่ชอบพูดยุยงให้คนอื่นแตกแยก ไว้อย่างน่าสนใจ ว่าตายแล้วต้องเกิดเป็น เปรต อย่างเวทนา ดังมีปรากฏในคัมภีร์เปตวัตถุ (เรื่อง เปรต ) มาดังนี้

วันหนึ่ง ขณะเดินลงจากเขาคิชฌกูฏ พระมหาโมคคัลลานะแสดงอาการแย้มให้ปรากฏ (ยิ้มน้อยๆ ให้พอรู้ว่ามีเหตุพิเศษ) พระลักขณะจึงถามว่าท่านแสดงอาการแย้มนั้นเพราะเหตุใด พระมหาโมคคัลลานะตอบว่า “ขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่จะถามปัญหานี้ ขอให้ท่านถามในสำนักพระพุทธเจ้า เมื่อกลับจากบิณฑบาตและฉันอาหารเช้าแล้ว” สุกรเปรต

ตอนสายวันนั้น ขณะกำลังเข้าเฝ้าฯ พระพุทธเจ้าพระลักขณะได้ถามถึงอาการแย้มนั้นอีกครั้ง พระมหาโมคคัลลานะจึงตอบว่า “ได้เห็นเปรตตนหนึ่งมีอัตภาพใหญ่ยาวมาก ร่างกายของมันคล้ายมนุษย์ แต่ศีรษะของมันคล้ายศีรษะสุกร หางมันเกิดที่ปาก มีหมู่หนอนไหลออกจากปากเราไม่เคยเห็นสัตว์ผู้มีรูปอย่างนี้เลย จึงยิ้ม”

พระศาสดาทรงสดับดังนั้นแล้วตรัสว่า

“เราเองก็เคยเห็นสัตว์ลักษณะปานนี้ที่โพธิมณฑลเช่นกัน แต่เราไม่พูดด้วยหวังจะอนุเคราะห์คนทั้งหลาย เพราะหากเราพูดไปแล้ว คนพวกใดไม่เชื่อ ความไม่เชื่อนั้นก็จะเป็นโทษแก่เขาเอง บัดนี้เราได้โมคคัลลานะเป็นพวกแล้ว โมคคัลลานะพูดจริง เราก็เป็นพยานของโมคคัลลานะได้”

ภิกษุทั้งหลายต่างทูลถามถึงบุพกรรมของสุกรเปรตตนนั้น พระพุทธองค์จึงทรงแสดงถึงอดีตกรรมของมันว่า…

ในสมัยแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้านามว่า “กัสสปะ” มีพระเถระ 2 รูปจำวัดอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่ง ทั้งสองรักใคร่นับถือกันเสมือนพี่น้องคลานตามกันมา พระมหาเถระผู้อาวุโสกว่ามีพรรษา 60 ปี ส่วนพระอนุเถระมีพรรษา 59 ปี ปฏิบัติตนประหนึ่งเป็นสามเณรของพระมหาเถระ คอยถือบาตรและจีวรให้ ตลอดจนปรนนิบัติต่อพระมหาเถระอย่างดีเสมอมา

กระทั่งวันหนึ่ง พระธรรมกถึก (ผู้ชำนาญในการแสดงธรรม) ได้เดินทางมายังอาวาสนั้นและขออาศัยอยู่ด้วย พระเถระทั้งสองให้การต้อนรับด้วยความยินดี ทั้งยังเชื้อเชิญให้พระธรรมกถึกแสดงธรรมแก่พุทธบริษัทในวันธรรมสวนะหรือวันฟังธรรม จากนั้นจึงพาพระธรรมกถึกไปบิณฑบาตในหมู่บ้านใกล้เคียง เมื่อฉันอาหารเสร็จ ก็ขอร้องให้แสดงธรรม เมื่อชาวบ้านได้ฟังธรรมแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงนิมนต์พระธรรมกถึกมาฉันอาหารอีกในวันรุ่งขึ้น

ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน พระมหาเถระและพระอนุเถระได้ให้การรับรองพระธรรมกถึกด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่พระธรรมกถึกนั้นใจบาป คิดชั่ว หมายจะครองอาวาสแห่งนั้นแต่เพียงผู้เดียว จึงวางอุบายให้พระเถระทั้งสองแตกคอกันจะได้ออกจากอาวาสไป แต่เนื่องจากพระธรรมกถึกรู้ดีว่าพระเถระทั้งสองมีอุปนิสัยอ่อนโยนยิ่งนัก การจะยุแยงให้ผิดใจกันอย่างบุ่มบ่ามย่อมไม่ได้ผล จึงค่อยๆ ใช้กลอุบายสร้างความระคายใจให้พระเถระทั้งสองอย่างแยบยล

เย็นวันหนึ่ง พระธรรมกถึกเข้าไปหาพระมหาเถระผู้อาวุโสกว่าแล้วกล่าวว่า “ท่าน ข้าพเจ้ามีเรื่องจะพูดกับท่านหน่อยหนึ่ง”

“มีอะไรก็พูดมาเถิด ผู้มีอายุ”

พระธรรมกถึกทำทีลังเลอยู่ครู่หนึ่งแล้วกล่าวเพียงว่า “ท่านผู้เจริญ!การพูดมีโทษมาก ข้าพเจ้าไม่พูดละ”

จากนั้นพระธรรมกถึกก็เข้าไปยังสำนักของพระอนุเถระผู้อ่อนอาวุโส และกล่าวเป็นนัยให้พระอนุเถระฟังเช่นเดียวกัน พระธรรมกถึกทำทีมีลับลมคมนัยเช่นนี้อยู่สองสามวัน กระทั่งเห็นว่าพระเถระทั้งสองกระวนกระวายใจเต็มที่แล้ว จึงกล่าวว่า

“ข้าพเจ้าสงสัยว่าทำไมท่านกับพระอนุเถระจึงไม่ถูกกัน”

“ท่านสัตบุรุษ ท่านเอาอะไรมาพูด เราทั้งสองรักใคร่กันเหมือนพี่น้องท้องเดียวกัน เมื่อตัวเราได้สิ่งใด พระอนุเถระก็ได้สิ่งนั้น พระอนุเถระได้สิ่งใด เราก็ได้สิ่งนั้น โทษใดๆ ของพระอนุเถระนั้นเราไม่เคยเห็นเลยตลอดกาลอันยาวนานที่อยู่ร่วมกันมา”

“อย่างนั้นหรือท่าน ถ้าอย่างนั้นทำไมพระอนุเถระจึงพูดกับข้าพเจ้าว่า ให้พิจารณาให้ดีเสียก่อนที่จะคบหากับพระมหาเถระ”

พระมหาเถระได้ฟังดังนั้นก็มีใจโกรธแค้น ความรักใคร่เอ็นดูที่มีต่อพระอนุเถระแตกสลายลง ดุจภาชนะดินที่ถูกตีด้วยไม้ ส่วนพระธรรมกถึกก็ได้เข้าไปกล่าวเช่นนี้กับพระอนุเถระเช่นกัน ทำให้พระอนุเถระหมดความนับถือในตัวพระมหาเถระ

เช้าวันรุ่งขึ้น ทั้งคู่จึงแยกทางกันไปบิณฑบาต ขณะที่พระอนุเถระยืนอยู่ที่ศาลาอันเป็นที่บำรุง พระมหาเถระก็ไปถึงพระอนุเถระเกิดความลังเลว่า “เราควรจะรับบาตรและจีวรของพระเถระดีหรือไม่หนอ”

แต่ด้วยความที่เคยปรนนิบัติพระเถระมาโดยตลอดพระอนุเถระจึงใจอ่อน และคิดว่าไม่ควรเสียวัตรปฏิบัติอันดีที่เคยทำมา ท่านจึงเข้าไปหาพระเถระแล้วกล่าวว่า “ขอท่านจงให้บาตรและจีวรของท่านแก่ข้าพเจ้าเถิด”

แต่พระมหาเถระกลับชี้นิ้วและตวาดเอาว่า “จงไป จงไปคนหัวดื้อ เจ้าไม่ควรรับบาตรและจีวรของเรา”

พระอนุเถระจึงตอบโต้ไปว่า “ความจริงข้าพเจ้าก็คิดอยู่เหมือนกันว่าจะไม่รับบาตรและจีวรของท่าน”

ผลที่สุดพระเถระทั้งสองก็แตกคอกัน รูปหนึ่งเดินจากไปทางทิศตะวันออก ส่วนอีกรูปหนึ่งเดินจากไปทางทิศตะวันตก

พระธรรมกถึกเห็นดังนั้นก็รู้สึกสมใจ แต่แสร้งกล่าวว่า“อย่าทำอย่างนี้เลยท่าน อย่าทำอย่างนี้เลย” แต่พระเถระทั้งสองก็ไม่ฟัง วันรุ่งขึ้นพระธรรมกถึกเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านอย่างเคย เมื่อชาวบ้านถามถึงพระเถระทั้งสอง พระธรรมกถึกจึงชี้แจงว่า “เมื่อวานนี้ท่านทั้งสองทะเลาะกัน แตกแยกกันไปแล้ว อาตมาพยายามห้ามเท่าไรก็ไม่ฟัง” เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวบ้านเสียใจมาก บางคนที่มีไหวพริบถึงกับตั้งข้อสังเกตว่า“ความพลั้งพลาดใดๆ ของท่านผู้เจริญทั้งสอง พวกเราไม่เคยเห็นมาก่อน ภัยที่เกิดแก่พระเถระทั้งสองคงเนื่องมาจากพระธรรมกถึกนี่เอง”

ส่วนพระเถระทั้งสองเมื่อบาดหมางกันไป ก็มิได้มีความสบายใจเลย หนำซ้ำยังไม่ได้ปฏิบัติภาวนาธรรม เพราะต่างก็กังวลใจกับความแตกแยกที่เกิดขึ้น

กระทั่งกาลล่วงไป 100 ปี พระเถระทั้งสองบังเอิญไปพบกันในวิหารแห่งหนึ่ง เมื่อพระมหาเถระเห็นพระอนุเถระแล้วก็ไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้ พระอนุเถระเองก็มองพระมหาเถระผู้อาวุโสด้วยนัยน์ตาเอ่อล้นด้วยน้ำตา ท่านก้มกราบพระมหาเถระแล้วกล่าวว่า

“ข้าพเจ้าถือบาตรและจีวรของท่านอยู่เป็นเวลานาน ท่านได้เห็นมารยาทอันใดของข้าพเจ้าที่ไม่สมควรอยู่บ้างหรือ”

“ไม่เคยเห็นเลย ผู้มีอายุ” พระมหาเถระตอบ

“ถ้าอย่างนั้น เหตุใดท่านจึงพูดกับพระธรรมกถึกว่าอย่าคบหาสมาคมกับข้าพเจ้า”

“ผู้มีอายุ เราไม่เคยพูดเลย แล้วท่านเล่า เห็นความประพฤติอันไม่สมควรใดๆ ของเราหรือ”

“ไม่เคยเลย” พระอนุเถระตอบ “ถ้าอย่างนั้น ทำไมท่านจึงพูดกับพระธรรมกถึกว่าอย่าคบหาสมาคมกับเรา”

“ข้าพเจ้าไม่เคยพูดเลย เป็นความจริง ข้าพเจ้าไม่เคยพูดเลย” พระอนุเถระยืนยันขันแข็ง

เมื่อได้ทราบความจริงดังนี้ ความบาดหมางซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลาถึง 100 ปีก็ระงับลง พระเถระทั้งสองล่วงรู้ถึงเจตนาร้ายของพระธรรมกถึก จึงกล่าวชวนกันว่า “เราไปไล่พระธรรมกถึกออกจากอาวาสกันเถิด”

ผลจากการยุยงให้พระเถระผู้ทรงศีลต้องผิดใจกัน ทำให้พระธรรมกถึกต้องชดใช้ผลกรรมในอเวจีมหานรกหนึ่งพุทธันดร มีร่างกายเป็นสุกรเปรตดังที่พระมหาโมคคัลลานะได้พบเห็น และแม้สมณธรรมที่ได้บำเพ็ญเพียรมา 20,000 ปีก็ไม่อาจช่วยสุกรเปรตตนนั้นได้ 

เรื่อง เก็บมาเล่าโดย ขวัญ เพียงหทัย


รวม ผีไทย ตำนานหลอนชวนผวา ไม่รู้จักไม่ได้แล้ว

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : เวลา กรวดน้ำ ใครบ้างที่จะได้รับผลบุญที่อุทิศไป

เกือบลงนรก..กว่าจะพบผ้าเหลือง!

ตั้งโปรแกรมจิต เลือกภพก่อนตาย ทำได้จริงหรือไม่?

 

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.