พลานุภาพของการสวดมนต์

พลานุภาพของการสวดมนต์ จากพระไตรปิฎก

พลานุภาพของการสวดมนต์ จากพระไตรปิฎก

พลานุภาพของการสวดมนต์ ทำให้จิตใจผ่อนคลาย เป็นสมาธิ ถือเป็นกิจกรรมสำหรับพัฒนาจิตวิญญาณอย่างหนึ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มานับพันปีตั้งแต่ยุคโบราณ ศาสนิกชนในศาสนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพราหมณ์ ฮินดู พุทธ คริสต์ อิสลาม ล้วนแต่สวดมนต์กันเป็นกิจวัตร

ในศาสนาพุทธ มีการกล่าวถึงพลานุภาพของการสวดมนต์ไว้อย่างชัดเจน ในพระไตรปิฎก เช่น เมื่อพระมหากัสสปเถระ และ พระมหาโมคคัลลานะอาพาธ พระพุทธองค์เสด็จมาเยี่ยม และทรงสวด โพชฌงค์ 7 ประการ ให้แก่พระสาวกทั้งสอง เมื่อสวดจบ พระมหากัสสปะและพระมหาโมคคัลลานะก็หายจากอาการอาพาธนั้น หรือแม้เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงพระประชวรเอง ก็โปรดให้ พระมหาจุนทะ สวดโพชฌงค์ 7 ประการถวาย เมื่อสวดจบ พระพุทธองค์ก็ทรงสรรเสริญโพชฌงค์ 7 และหายจากอาการประชวร

นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่น ๆ อีกมากมาย ที่การสวดมนต์ช่วยให้หายป่วยได้ เช่น เมื่อท่าน คิริมานนท์ อาพาธ พระพุทธองค์มีรับสั่งให้พระอานนท์ ไปเยี่ยม และให้สวดแสดง สัญญา 10 ประการ ให้ฟัง เมื่อฟังจบท่านคิริมานนท์ก็หายจากอาการอาพาธ

แม้แต่ฆราวาสในครั้งพุทธกาล เมื่อป่วยจนใกล้ถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ก็ยังนิยมนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ให้ฟังถึงที่บ้าน ดังที่ธรรมิกอุบาสกนิมนต์พระมาสวด มหาสติปัฏฐานสูตร แล้วจึงถึงแก่กรรม

ในทางพุทธศาสนาอธิบายว่า การสวดมนต์มีพลังในการบำบัดโรค เพราะ การได้สวดมนต์หรือได้ฟังเสียงสวดมนต์เป็นอุบายให้จิตใจสงบ เป็นสมาธิ จิตจึงนิ่ง และว่างจากการปรุงแต่งอารมณ์ ช่วยให้ลืมความรู้สึกเจ็บปวดไปได้ชั่วขณะ และช่วยให้อาการเครียด หรือกังวลผ่อนคลายลงได้

นอกจากนั้น การได้พิจารณาข้อธรรมต่าง ๆ ในบทสวดมนต์ก็ยังทำให้เกิดความปีติ โสมนัส ชุ่มชื่น เบิกบานใจ จิตใจจึงมีพลัง ทำให้ความเจ็บป่วยทางกายพลอยหายไปได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความเข้าใจในธรรมต่าง ๆ เป็นอย่างดี เคยปฏิบัติธรรมมาก่อน มีใจน้อมไปในทางธรรม ชอบฟังธรรม ชอบสวดมนต์อยู่เป็นประจำ หรือเคยฝึกสมาธิภาวนามาก่อน เมื่อได้ยินเสียงสวดมนต์ จะยิ่งรู้สึกชุ่มชื่นเบิกบานหัวใจ ทำให้ได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น

ที่สุดเมื่อจิตเป็นสมาธิจากการสวดมนต์ ความสงบเยือกเย็นก็จะตามมา ส่งผลให้จิตใจหนักแน่นมั่นคง ไม่หวั่นไหวกับอะไรง่าย ๆ แม้พบเจออุปสรรคหนักหนาเพียงใด ก็จะฝ่าฟันไปได้ในที่สุด

รู้หรือไม่! สวดมนต์อย่างไรให้ได้อานิสงส์สูงสุด

  • ใจต้องอยู่กับบทสวด ขณะสวดสติควรจดจ่ออยู่กับการพิจารณาตัวอักษร ให้รู้ว่าอักขระหรือตัวหนังสือที่เรากำลังท่องนั้นคือตัวอะไร เช่น ขณะกำลังสวดว่า “นะโม” ก็ต้องรู้ว่าประกอบขึ้นด้วยคำว่า “นะ” กับคำว่า “โม” ไม่ใช่ปากท่องไป แต่ใจคิดไปถึงเรื่องอื่น
  • รู้คำแปล การสวดมนต์โดยรู้คำแปลจะทำให้ได้ประโยชน์สูงสุด คือ เกิดปัญญา แต่หากยังแปลไม่ออก ก็ควรสวดด้วยใจที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
  • สวดอย่างมีสมาธิและผ่อนคลาย โดยเลือกสวดในช่วงเวลาที่ร่างกายพร้อม เช่น หลังมื้ออาหารไปแล้วสัก 1 – 2 ชั่วโมง เพื่อให้ไม่รู้สึกอึดอัด และสวดในสถานที่เงียบสงบและมีอากาศถ่ายเท
  • ควรสวดมนต์ด้วยตัวเองก่อนนอน การได้เปล่งเสียงสวดมนต์ดังๆ ประมาณ 10 – 15 นาทีขึ้นไปจะทำให้ร่างกายหลั่งสารซีโรโทนินซึ่งมีฤทธิ์คล้ายยานอนหลับ ทำให้หลับสนิทและสบายขึ้น

เรียบเรียงจาก “ไขความลับมนตราบำบัด” เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร Secret คอลัมน์ Healthy Body in Healthy Mind เรื่อง เสาวลักษณ์ ศรีสุวรรณ 


บทความน่าสนใจ

คาถาเดินทางไกล บทสวดมนต์ก่อนเดินทาง แคล้วคลาดปลอดภัย

เทวดากับการสวดมนต์ เรื่องเล่าถึงเทวดาของ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

Mystery of Life : คำร้องขอของ เจ้ากรรมนายเวร และปาฏิหาริย์ของการสวดมนต์

ปาฏิหาริย์จากการสวดมนต์ เติมเต็มความสุขของลมหายใจสุดท้าย

คุณประโยชน์ของการสวดมนต์ บำบัดโรคด้วยการเปล่งเสียง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.