คติพระโพธิสัตว์

” คติพระโพธิสัตว์ ” ความเชื่อที่เริ่มจะกลาย ความหมายที่เริ่มจะกลืน

คติพระโพธิสัตว์ ความเชื่อที่เริ่มจะกลาย ความหมายที่เริ่มจะกลืน

คติพระโพธิสัตว์ แปลว่าอะไร? พระโพธิสัตว์ แปลว่า “ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตรัสรู้” หรือ “ผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต” หมายถึง ผู้ที่กำลังบำเพ็ญบารมีอย่างยิ่งยวดเพื่อบรรลุถึงพระโพธิญาณและเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต

ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทบารมีที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญมี 10 ประการเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “บารมี 10” หรือ“บารมี 10 ทัศ” ประกอบด้วย 1. ทานบารมี 2. ศีลบารมี 3. เนกขัมมบารมี4. ปัญญาบารมี 5. วิริยบารมี 6. ขันติบารมี 7. สัจจบารมี 8. อธิษฐานบารมี 9. เมตตาบารมี 10. อุเบกขาบารมี

คติพระโพธิสัตว์นี้มีอยู่ในพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและอาจริยวาท(หินยานและมหายาน) แต่มีจุดเน้นและพัฒนาการที่แตกต่างกันอยู่บ้างพอสมควร

จุดเน้นและพัฒนาการที่ว่าแตกต่างกันนี้เป็นอย่างไร พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตฺโต) ตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ว่า

“…คติโพธิสัตว์เดิมมีความหมายต่อชาวพุทธว่า พระโพธิสัตว์เป็นแบบอย่างแก่เราทุกคนในการทำความดี ให้ชาวพุทธเอาอย่างพระโพธิสัตว์ในการจะทำความดี และช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่เห็นแก่ตัวเองเลย ยอมเสียสละแม้แต่ชีวิตของตัวเองเพื่อทำความดีและเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้ เป็นคติที่สอนเพื่อให้ทำตามอย่างพระโพธิสัตว์

“แต่มหายานทำไปทำมาคนกลายเป็นมองคติโพธิสัตว์ใหม่ ในแง่ว่าพระโพธิสัตว์ท่านมีมหากรุณาและอานุภาพที่ยิ่งใหญ่ที่จะช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลาย เลยทำให้เป็นจุดเน้นไปว่า ถ้ามนุษย์เราหวังความช่วยเหลือเราก็ไปหาพระโพธิสัตว์ ขอให้ท่านช่วยได้คล้ายกับไปขอผลจากเทวดา ตกลงก็เลยมีคติโพธิสัตว์แบบมหายานขึ้นมา

“อย่างไรก็ตาม พระโพธิสัตว์ที่เราพูดถึงทั่วไป แต่เดิมคือพระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น พระโพธิสัตว์ก็ได้เสียชีวิตไปก่อนหมดแล้ว พระโพธิสัตว์ของเถรวาทมุ่งเอาพระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ซึ่งได้ทำความดีเอาไว้เป็นแบบอย่างให้เราทำอย่างนั้นบ้าง แต่ท่านสิ้นชีวิตไปหมดแล้วแม้แต่องค์พระพุทธเจ้าเองก็ได้ปรินิพพานไปแล้ว

“มหายานก็คิดว่า แล้วจะทำอย่างไรให้มีพระโพธิสัตว์ที่ยังรอช่วยผู้คนอยู่ได้

“ถึงตอนนั้นก็นึกได้ถึงหลักการแต่เดิมที่ว่า ความเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ผูกขาดอยู่กับพระพุทธเจ้าองค์ใด ใครบำเพ็ญบารมีจนครบบริบูรณ์ก็เป็นพระพุทธเจ้าได้ พระพุทธเจ้าก็มีเรื่อยไป เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้าอีกมากมายก็ยังบำเพ็ญบารมีเป็นโพธิสัตว์อยู่ ก็คือยังช่วยเหลือสัตว์โลกอยู่

“ถ้าอย่างนั้น เราก็เอาพระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้ามาสิ จะได้มาช่วยมนุษย์ในปัจจุบันได้ ตกลงมหายานก็เลยไม่เอาพระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน แต่หันไปหาพระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ตรัสรู้ ยังไม่เป็นพุทธะ ซึ่งยังบำเพ็ญบารมีอยู่ แล้วเอามาให้ชาวพุทธนับถือ จะได้มาช่วยเหลือคนทั้งหลายได้

“ตอนนี้เท่ากับว่าทางพุทธศาสนามหายานนี้ได้คู่แข่งที่จะมาช่วยชดเชยความเชื่อแบบอ้อนวอนเทพเจ้าได้แล้ว คือมีพระโพธิสัตว์มาช่วยสัตว์ทั้งหลายที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถขอร้องพระโพธิสัตว์อย่างพระอวโลกิเตศวรผู้เต็มไปด้วยพระมหากรุณาให้มาช่วยเรา

“เพราะฉะนั้น ชาวพุทธก็ไปขอร้องไปอ้อนวอนพระโพธิสัตว์แบบใหม่นี้ ท่านก็มาช่วยเหลือ คราวนี้คุณไม่ต้องอ้อนวอนเทพเจ้าฮินดูนะ ไม่ต้องไปอ้อนวอนพระพรหม ไม่ต้องไปอ้อนวอนพระนารายณ์แต่คุณมาหาพระโพธิสัตว์ก็ได้ พระโพธิสัตว์ก็ช่วยได้

“เป็นอันว่า พุทธศาสนามหายานก็มีพระโพธิสัตว์มาแข่งกับเทพเจ้าฮินดู

“แต่ก็อีกนั่นแหละ ของพุทธนี่แข่งไม่ได้เต็มที่ เพราะว่าเทพเจ้าของฮินดูนั้นเขาแสดงกิเลสได้เต็มที่เลย เทพเจ้าสามารถใช้ฤทธิ์ประหัตประหารคนอื่น ยกทัพทำสงครามกันก็ได้ แต่พระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนา ท่านบำเพ็ญคุณธรรมมีแต่ความดี ไม่มีการทำร้ายใคร

“ทีนี้มนุษย์ที่เป็นปุถุชนนี้มันมีเรื่องโกรธแค้นกัน อยากจะทำร้ายผู้อื่นบ้างอยากจะแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวให้เต็มที่ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของใครบ้าง เมื่อมาหาเทพเจ้า เทพเจ้าก็สนองความต้องการได้เต็มที่ จะฆ่าจะทำลายศัตรูก็ได้ แต่มาหาพระโพธิสัตว์ ท่านมีคุณธรรมมีแต่เมตตากรุณา ท่านไม่ทำสิ่งที่ร้าย

“เพราะฉะนั้น การอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ก็ไม่สามารถทดแทนเทพเจ้าฮินดูได้จริง เพราะจำกัดด้วยขอบเขตของคุณธรรม ถึงตอนนี้ก็คือพระพุทธศาสนานอกจากเสียหลักแล้ว ยังเสียเปรียบเขาด้วย

“คติโพธิสัตว์เดิมนั้นคือเป็นแบบอย่างให้ทุกคนต้องเพียรพยายามทำความดีให้ได้อย่างนั้น ๆ แม้แต่เสียสละตนเองหรือชีวิตของตนเพื่อทำความดีอย่างเต็มที่

“แต่ตอนนี้ตามคติโพธิสัตว์ใหม่กลายเป็นว่า มีพระโพธิสัตว์ผู้เสียสละคอยช่วยเราอยู่แล้ว เราก็ไปขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ เราไม่ต้องทำ

“เมื่อเป็นอย่างนี้ ความหมายของพระโพธิสัตว์ก็พลิกไปเลย…

“…น่าสังเกตว่า พระโพธิสัตว์พระองค์ต่าง ๆ ของมหายานนี้พัฒนาขึ้นในระยะเดียวกับที่พระศิวะ (อิศวร) และพระวิษณุ(นารายณ์) กำลังเริ่มปรากฏองค์เด่นขึ้นมาในศาสนาฮินดู (พระพรหมด้อยลง)  และเป็นยุคเดียวกันกับที่ศาสนาคริสต์กำลังเกิดขึ้นด้วย

“แต่รวมแล้วก็เป็นคติที่แข่งกับฮินดูซึ่งมีการอ้อนวอนขอผล  ถ้าเราไม่ระวังรักษาหลักการให้ดี พระพุทธศาสนาก็จะโน้มเอียงไปทางศาสนาฮินดู เมื่อมหายานมาเป็นอย่างนี้  ก็ต้องถือว่าเสียหลัก และการที่เสียหลักนี้ ก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กลืนกับศาสนาฮินดูได้ต่อมา

“การที่เสียหลักก็คือ ย้ายจุดเน้นจากการที่ใช้ความเพียรพยายามทำกรรมดีต่าง ๆ ด้วยฉันทะ  วิริยะ  อุตสาหะไปเป็นลัทธิอ้อนวอนขอผลอะไรต่าง ๆ ก็เลยใกล้กับศาสนาฮินดู…”

[จาริกบุญ จารึกธรรม :พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) หน้า 470 - 475]

ทุกวันนี้มีวัดในเมืองไทยซึ่งโดยมากเป็นวัดพุทธแบบเถรวาท (มีวัดจีน  วัดญวนแบบมหายานบ้าง  แต่ก็นับว่าน้อยมาก)นิยมปั้นหรือแกะสลักพระโพธิสัตว์ไว้ในวัดเพื่อให้พุทธศาสนิกชนเคารพบูชา และขอพรพระโพธิสัตว์  โดยมากที่นิยมปั้นหรือแกะสลักจากไม้และหินก็คือ พระโพธิสัตว์กวนอิมหรือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์

การบูชาสักการะพระโพธิสัตว์นั้น เป็นบุญกิริยาอย่างไม่ต้องสงสัย แต่สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ ท่าทีในการบูชาสักการะพระโพธิสัตว์นั้นสอดคล้องกับคติการนับถือพระโพธิสัตว์เดิมแท้หรือไม่ 

เรื่อง :  พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี

ภาพ : pixabay


บทความน่าสนใจ

ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระโพธิสัตว์

สุวรรณสาม ดาบสน้อยยอดกตัญญู นิทานธรรมะสอนใจบุตรธิดา

มาฟัง ดาราเล่านิทานชาดก กันเถอะ กับโครงการ  บารมีดีที่ตน

พระเตมีย์ มหาบุรุษผู้ปฏิเสธการกลับไปใช้กรรมในนรก เรื่องเล่าทศชาติชาดก พระชาติแรก

ชาดก การรดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งกุศลและอกุศล โดย ท่านว.วชิรเมธี

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.