วัดสังฆทาน

วัดสังฆทาน สัปปายะสถานบำบัดใจด้วยธรรม (ชาติ)

วัดสังฆทาน สัปปายะสถานบำบัดใจด้วยธรรม (ชาติ)

วัดสังฆทาน ตั้งอยู่ในจังหวัดนนทบุรีนับเป็นวัดที่ร่มรื่น เหมาะสำหรับผู้ต้องการแสวงหาความสงบสุขทางจิตใจ

พระครูสมุห์ไพรินทร์ สิริวัฑฒโน เจ้าอาวาสวัดสังฆทานกล่าวถึงประวัติว่า เดิมวัดแห่งนี้เป็นวัดร้าง มีเพียงพระพุทธรูปหลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่ในศาลาไม้มุงสังกะสี สาเหตุที่ชื่อว่าวัดสังฆทาน เนื่องจากทุกปีชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น มักนิมนต์พระสงฆ์จากวัดข้างเคียงมาที่ศาลาเพื่อถวายสังฆทานเป็นกุศโลบาย ให้ทุกคนมาช่วยกันทำความสะอาดวัดปีละครั้งจากนั้นในปี พ.ศ. 2511 หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ อดีตเจ้าอาวาส ธุดงค์ผ่านมาและเห็นว่ามีบรรยากาศเงียบสงบเหมาะสำหรับการภาวนา แต่ท่านคิดว่าตนเองยังมีบารมีไม่มากพอ จึงเดินทางไปปฏิบัติธรรมต่อที่เขาถ้ำหมี จังหวัดสุพรรณบุรี และถ้ำกะเปาะ จังหวัดชุมพร ประมาณ 6 ปีแล้วกลับมาจำพรรษาที่วัดสังฆทาน

แม้ช่วงแรกการเดินทางเข้ามาที่วัดสังฆทานค่อนข้างยากลำบาก เพราะไม่มีถนนตัดผ่าน ต้องนั่งเรือและเดินผ่านร่องสวน แต่ด้วยวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดของหลวงพ่อสนอง เช่น ฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ไม่จับเงินทองและปฏิบัติตามแนวทางเนสัชชิก ถือการนั่งเป็นวัตร เว้นการนอน ทำให้ญาติโยมศรัทธาและเริ่มเข้ามาถือศีลปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงพ่อสนองมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่านจึงเริ่มพัฒนาวัด เพื่อรองรับการปฏิบัติธรรมของญาติโยมเรื่อยมาจนปัจจุบัน ในช่วงเทศกาลมีผู้มาปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนี้นับพันคน

“คนที่มาวัดสังฆทานต้องเตรียมใจว่าไม่ได้มาสบาย กินอาหารมื้อเดียวปฏิบัติจริงจัง แต่หากเราตั้งใจดีแล้ว ความลำบากก็ไม่ใช่อุปสรรค เรามาลำบากแค่กาย แต่ใจเราสงบ ก็นับว่าคุ้มค่า”

สถานที่ทำวัตรเช้า – เย็น เดินจงกรม ยืนสมาธิ ส่วนใหญ่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ให้ความร่มรื่น

“หลวงพ่อสนองท่านเน้นการปลูกต้นไม้เพื่อให้ความร่มเย็น เพราะบรรยากาศเหล่านี้ส่งผลต่อการปฏิบัติ แค่เข้ามาเห็นต้นไม้ เห็นความร่มรื่นก็เย็นกายแล้ว เมื่อเย็นกาย ใจเราก็จะเย็นตาม ธรรมชาติทำให้ใจเราสงบดับความทุกข์ใจเราได้”

ทั้งนี้สิ่งที่คาดหวังจากการเปิดให้วัดเป็นที่ปฏิบัติธรรมคือ “อยากให้ญาติโยมรู้จักความสงบสุขทางจิตใจ เพราะทุกวันนี้สังคมภายนอกมีแต่ความโลภ โกรธ หลง มีแต่ความเร่าร้อน การแก่งแย่ง อาฆาตพยาบาท จึงอยากให้คนได้เข้าถึงธรรมะ เมื่อเรามีหลักธรรมะ รู้จักความเมตตา เราก็อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข”

skt2

แนวทางปฏิบัติ

สติปัฏฐาน 4 กำหนดอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน

ระเบียบปฏิบัติ (การเตรียมตัวก่อนการรับศีล)

1. ผู้บวชเนกขัมมะให้อยู่ปฏิบัติได้ไม่เกินครั้งละ 7 คืน นอกจากเป็นผู้ที่พระเจ้าหน้าที่หรือหัวหน้าแม่ชีรับรองให้อยู่ต่อได้

2. ผู้ปฏิบัติต้องนำหลักฐานคือ รูปถ่าย 2 นิ้ว 1 รูป สำเนาทะเบียนบ้านบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการพร้อมสำเนามายื่นต่อเจ้าหน้าที่ในวันสมัครบวช ผู้ใดต้องการปิดวาจาให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ในวันสมัคร โดยสมัครปฏิบัติธรรมได้ทุกวัน

3. เตรียมเครื่องนุ่งห่มที่ถูกต้องตามแบบที่ทางวัดกำหนดเท่านั้น ห้ามใช้สไบลูกไม้ สไบถัก หากไม่มี สามารถยืมชุดปฏิบัติธรรมของวัดได้

4. ผู้ปฏิบัติธรรมต้องมาลงทะเบียนก่อน 16.00 น. เพื่อเตรียมตัวรับศีลในเวลา 17.00 น.

wat

กิจวัตรปฏิบัติ

3.30 น. ตื่นนอน ปฏิบัติกิจส่วนตัว 4.00 น.พร้อมกันที่พระอุโบสถหรือลานธรรมเพื่อทำวัตรเช้า จากนั้นจึงปฏิบัติธรรมและทำความสะอาดสถานที่ 6.30 น. รับน้ำปานะและเริ่มเดินจงกรม 9.30 น. รับประทานอาหาร12.30 น. ทำวัตรกลางวัน 15.00 น. ทำความสะอาดสถานที่กระทั่ง 16.00 น. จึงเริ่มเดินจงกรมอีกครั้งและรับน้ำปานะจากนั้น 18.00 น. ทำวัตรเย็นและปฏิบัติธรรม

สำหรับวันพระ วันเสาร์ และโอกาสพิเศษต่าง ๆ จะรับศีลอุโบสถ ฟังธรรม และปฏิบัติธรรม (เนสัชชิก) ตลอดรุ่งและช่วงเช้าจะมีสวดมนต์พิเศษเวลา 8.30 น.

หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ นอกจากเป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดแล้ว ยังเชี่ยวชาญด้านสมุนไพรเนื่องจากในอดีตท่านต้องธุดงค์ไปตามป่า จึงได้เรียนรู้วิชามาจากครูบาอาจารย์ เมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสังฆทานจึงดำริให้ตั้ง “คลินิกการแพทย์แผนไทย โอสถสถานหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ” จ่ายยาให้ผู้ป่วย ผู้ยากไร้ โดยไม่คิดค่าบริการ

วัดสังฆทาน 100/1 หมู่ 3 บ้านบางไผ่น้อย ตำบลบางไผ่ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนนทบุรี 11000 ข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2496-1240 - 42

เรื่อง : Pitchaya ภาพ : นิตยสาร Secret


บทความน่าสนใจ

วัดบุคคโล ประกายศรัทธาแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา

“ศิลปะกระจก” ความงดงามเพื่อพุทธบูชา ณ วัดมณีจันทร์ จ.บุรีรัมย์

วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร การศึกษาคือหัวใจสําคัญของการเผยแผ่

ชวนเที่ยว 5 วัด ลดเครียด-ใจสงบวันหยุด

วัดยานนาวา แหล่งธรรมะเพื่อคนทุกวัย

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก วัดแห่งมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙

พิศพระธรรม 1,200 วินาที ณ พิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา วัดเทพศิรินทราวาส


 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.