การพัฒนาจิต

การพัฒนาจิต 2 วิธี ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน บทความธรรมะจากพระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ    

การพัฒนาจิต 2 วิธี ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน บทความธรรมะจากพระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

เมื่อมีการต่อสู้กันระหว่างความดีกับความชั่ว ธรรมะกับอธรรมถูกกับผิด เหตุผลกับอารมณ์ ถามว่าฝ่ายไหนจะเป็นฝ่ายชนะ

คนส่วนใหญ่จะตอบว่า ความดีชนะความชั่ว ธรรมะชนะอธรรม ถูกชนะผิด เหตุผลชนะอารมณ์

นั่นเป็นคำตอบแบบคตินิยมของคนโดยทั่วไป ความเป็นจริงแล้วยังตอบไม่ได้ว่าฝ่ายไหนจะเป็นฝ่ายชนะจนกว่าจะทราบว่าฝ่ายไหนมีกำลังมากกว่ากัน ฝ่ายนั้นแหละจะเป็นฝ่ายชนะ นี่เป็นกฎของธรรมชาติ

คำว่ากำลังมากกว่าในที่นี้มิได้หมายถึงฝ่ายที่มีจำนวนมากกว่าหรือมีพละกำลังมากกว่าแต่เพียงอย่างเดียว ยังหมายรวมถึงมีศักยภาพสูงกว่า มีสติปัญญาล้ำเลิศกว่ามีกุศโลบายที่เหนือกว่า รวมเข้าไปด้วย

หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีองค์ประกอบของคุณสมบัติดังกล่าวเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่เหนือกว่าคือผู้ชนะ

ด้วยเหตุนี้ ความชั่วจะชนะความดี อธรรมอาจจะชนะธรรมะ ผิดอาจจะชนะถูก อารมณ์อาจจะชนะเหตุผลก็ได้ หากฝ่ายนั้นมีกำลังมากกว่า ในชีวิตประจำวันสิ่งเหล่านี้ก็มีให้เห็นอยู่เนืองๆ

หากฝ่ายชั่วเอาชนะฝ่ายดี อธรรมชนะธรรมะ ผิดชนะถูก อารมณ์ชนะเหตุผลอะไรจะเกิดขึ้น            

ถ้าเกิดขึ้นกับบุคคล คนคนนั้นก็เสื่อม หากเกิดกับองค์กรใดสังคมใด องค์กรนั้นสังคมนั้นก็เสื่อม เพราะจะยอมให้ความชั่วตลอดจนอารมณ์เป็นใหญ่เหนือความดีและเหตุผล ซึ่งผิดทำนองคลองธรรม ฝ่ายชั่วจะเข้ามามีอิทธิพลครอบงำจิตใจคน อันจะนำวิถีชีวิตของบุคคล ค่านิยมของสังคมดิ่งลงสู่ที่ต่ำ

ถามว่า ความชั่ว อธรรม สิ่งที่ผิด และอารมณ์มาจากไหน อยู่ที่ไหน

คำตอบก็คือ มาจากคนคนนั้น อยู่ที่คนคนนั้น หรือมาจากใจของคน อยู่ที่ใจของคน

ความชั่วไม่ได้อยู่ที่วัตถุสิ่งของ ไม่ได้อยู่ที่เงินตรา อาวุธการเมือง อำนาจ ตำแหน่งหน้าที่ เหล้า ไพ่ บ่อน ซ่อง ยาเสพติดให้โทษ สิ่งเหล่านี้มันอยู่ของมันเฉยๆ ทำร้ายใครไม่ได้ มีแต่คนที่เข้าไปครอบครอง เข้าไปสัมผัสสัมพันธ์ และนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ในทางที่ผิดด้วยใจที่เห็นผิด จึงทำร้ายตนเองเป็นเบื้องต้น และเบียดเบียนผู้อื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

ในทำนองเดียวกัน คุณธรรม ความดี ความถูกต้อง เหตุผลก็มิได้อยู่ที่วัตถุสิ่งของ เงินตรา อำนาจหน้าที่ สถานะทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคม หากแต่อยู่ที่ตัวบุคคลเมื่อเข้าไปสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้นด้วยใจที่เห็นถูก จึงจะสามารถนำสิ่งดังกล่าวไปใช้ในทางที่ถูก เป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

ใจที่เห็นถูกหรือสัมมาทิฏฐินี่เอง เป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะนำบุคคลให้ตั้งอยู่ในความดี ละเว้นความชั่ว

ความดีและความชั่วซึ่งอยู่ในใจของทุกๆ คน และมีอิทธิพลครอบงำชีวิตของแต่ละคนมายาวนาน นับภพชาติไม่ถ้วน ทั้งสองฝ่ายทำงานแข่งกันอยู่ตลอดมา ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ทุกคนจึงเคยทำทั้งความดีและความชั่ว

ขณะใดที่ความดีมีกำลังเข้มแข็ง ก็จะเอาชนะความชั่วไม่ประพฤติชั่ว แต่ขณะใดที่ความชั่วมีกำลังเหนือกว่าความดีก็จะประพฤติชั่วทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นความชั่ว โดยไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อผลร้ายที่จะตามมา

ทุกครั้งที่ความดีเอาชนะความชั่ว ก็จะเพิ่มกำลังความเข้มแข็งแก่ความดีที่มีอยู่ในจิต แต่คราวใดที่ความชั่วเอาชนะความดีได้ กำลังของความชั่วก็จะมีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทอนกำลังของความดีให้ลดน้อยลง

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่รักษาใจให้ตั้งมั่นอยู่ในความดีไว้ได้ เมื่อมีความชั่วผุดขึ้นมาในกระแสของความคิด กำลังของความดีที่เหนือกว่าก็จะเอาชนะความชั่วได้ ทำให้ไม่พลาดพลั้งไปทำความชั่ว คนดีจึงทำดีได้ง่าย ทำชั่วได้ยาก

ตรงกันข้ามกับคนที่ประพฤติชั่วเป็นนิสัยจนความชั่วมีกำลังเหนือกว่าความดี ความชั่วจึงชักนำชีวิตไปให้ทำชั่วอยู่เสมอ พระพุทธองค์ตรัสว่า คนชั่วทำดีได้ยาก ทำชั่วได้ง่าย

คนเรามีจุดอ่อนจุดแข็งกับความดีความชั่วไม่เหมือนกัน แม้คนคนเดียวกันในเวลาและสถานการณ์ที่ต่างกัน ก็ยังมีภูมิคุ้มกันกับความดีความชั่วต่างกัน บางสถานการณ์เราข่มความชั่วได้ แต่บางสถานการณ์แม้เป็นความชั่วเรื่องเดียวกันเรากลับข่มไม่ได้ คนที่มีโอกาสทำชั่ว แต่ไม่ทำ ถือว่ามีความมั่นคงในจิตใจที่จะไม่ทำชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ถือว่าคุณธรรมของจิตยังไม่มั่นคง หากกระทบสิ่งเร้าที่เป็นจุดอ่อนก็อาจทำชั่วได้ ส่วนผู้ที่เป็นอริยบุคคล (พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์) จะไม่ทำชั่วผิดศีลอันเป็นบาปอกุศล

คนทุกคนอยากเป็นคนดี ไม่มีใครอยากเป็นคนชั่ว แต่ที่ทำดีได้ยาก ทำชั่วได้ง่าย เป็นเพราะขาดการฝึกจิตหรือขาดการพัฒนาสมรรถนะของจิตให้ความดีมีกำลังเข้มแข็งขึ้น ทอนกำลังความชั่วให้อ่อนลง

คำว่า จิต กับ ใจ มีความหมายเหมือนกัน ในภาษาธรรมนิยมใช้คำว่าจิตแทนคำว่าใจ

เราจะพัฒนาสมรรถนะของจิตได้อย่างไร พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีการพัฒนาจิตไว้ 2 วิธีด้วยกัน

วิธีแรกคือ การทำสมาธิ หรือสมถกรรมฐาน หมายถึง การทำสมาธิเพื่อให้จิตได้พักจากการคิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมของจิตที่คุ้นเคยอยู่ในวิถีชีวิต ทำให้จิตขาดความสงบสุข อ่อนล้า ไม่มีพลัง นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางให้กิเลสตัณหาเข้าไปสะสมหมักหมมอยู่ในจิตใจ วิธีทำสมาธิมีมากมายหลายวิธี แต่ที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์ก็คือ การให้จิตมีสติรู้อยู่กับลมหายใจเข้า – ออก หรือที่ดัดแปลงปฏิบัติกันในปัจจุบัน ซึ่งเรียกวิธีนี้ว่า พุท – โธ

วิธีที่สองคือ การทำวิปัสสนา หรือวิปัสสนากรรมฐาน หมายถึงการฝึกจิตใจให้เกิดปัญญารู้เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงตามกฎของธรรมชาติ คือ ความเป็น อนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้) อนัตตา (ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง บังคับไม่ได้ดังปรารถนา) เพื่อให้จิตถอดถอนจากความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดที่เห็นว่าชีวิตนี้เป็น ตัวกู และสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่เป็น ของกู อันเป็นเหตุที่นำทุกข์มาให้ และเป็นขุมกำลังให้ฝ่ายกิเกสตัณหามีกำลังเข้มแข็งในจิตใจ

สมถะ – วิปัสสนา จะทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มสมรรถนะของจิต ชำระฝ่ายอกุศลอันเกิดจากกิเลสตัณหาที่หมักหมมอยู่ในจิตให้จางลงขณะเดียวกันก็เพิ่มกำลังของฝ่ายกุศลในจิตให้เข้มแข็งขึ้น ช่วยให้เอาชนะความชั่ว มั่นคงต่อความดี วิธีนี้วิธีเดียวที่จะชำระจิตให้ผ่องใสพ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง

ขอให้ผู้อ่านตั้งตนอยู่บนความไม่ประมาท เพราะชีวิตมีทุกข์ภัยอยู่รอบด้าน ควรหาโอกาสเข้าอบรมปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาจิตให้เกิดสันติสุขเป็นที่พึ่งของชีวิตได้อย่างมั่นคง อย่าอ้างว่าไม่มีเวลาเลย เราเอาเวลาของชีวิตไปให้ผู้อื่นและสิ่งอื่นมากเกินเหตุไปแล้ว

ต้องเอากลับคืนมาให้ชีวิตเราบ้างก่อนที่จะหมดเวลา

 

ที่มา : คอลัมน์ You are what you do เคยตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Secret เขียนโดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

ภาพ : www.pexels.com


บทความน่าสนใจ

7 ขั้นตอน เจริญภาวนา ด้วยการซ้อมตาย

สุขทุกวัน 7 วัน 7 กูรู ตอน แก้นิสัยขี้โกรธ โดย แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

อาศรมมาตา ที่พักเพื่อพัฒนาจิตใจ สถานปฏิบัติธรรมสำหรับผู้หญิง

Q: พัฒนาจิตให้มีความสุขทำอย่างไรคะพระอาจารย์

หนทางพระพุทธเจ้า หนทางของมหาบุรุษ

เข้าใจภาพรวมของพระพุทธศาสนาด้วยหลักธรรม 10 ประการ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.