การแผ่เมตตา

ท่าน ว. ไขข้อข้องใจ เหตุใดการแผ่เมตตาให้คนที่เราโกรธเกลียดจึงไม่ได้ผล

ท่าน ว. มีคำตอบมาให้ว่า ทำไม ” การแผ่เมตตา ” ไม่ได้ผลสักที

ตอนหนึ่งของบทความเรื่อง “อานิสงส์ของการเจริญสติ” ท่าน ว. วชิรเมธี กล่าวถึง การแผ่เมตตา ให้คนที่เราโกรธไว้ว่า…

“แต่ละคนล้วนมีกรรมเป็นของตัวเอง ซึ่งเรียกว่าแค่นี้ก็ทุกข์หนักหนาสาหัสมากพออยู่แล้ว แล้วทำไมจะต้องมาสร้างกรรมใหม่ต่อกันและกันอีก เราแต่ละคนแบกกรรมของตัวเองก็เรียกว่าหนักอึ้งพอแล้ว ถ้าเรายังมาโกรธกันและกัน มาสร้างกรรมสร้างเวรใหม่ก็เท่ากับว่าเรากำลังเพิ่มภาระแห่งความทุกข์ลงไปบนเป้หลังของเราให้หนักอึ้งยิ่งขึ้น เมื่อคิดได้อย่างนี้ว่าเราต่างก็มีภาระมากพอแล้วก็จะเห็นทั้งเราเห็นทั้งเขากลายเป็นเสมือนสัตว์ผู้ลอยคออยู่ในทะเลทุกข์เสมอกัน

แท้ที่จริงทั้งเราทั้งเขาเป็นบุคคลที่ควรแก่การสังเวช ควรแก่ความสงสาร ควรแก่ความเมตตาทั้งคู่ ฉะนั้นอย่ามาเสียเวลาโกรธกันอยู่อีกเลย เมตตากันไว้ดีกว่า แล้วก็แผ่เมตตาให้เขา ภาวนาให้เขามีความร่มเย็นเป็นสุข มีอายุยืนยาว มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตแข็งแรงสมบูรณ์ มีครอบครัวที่มั่นคงมีหน้าที่การงานที่สูงส่ง แล้วนึกถึงเขาแต่ในทางที่ดีงาม ถ้าทำได้อย่างนี้ ปลูกจิตที่ประกอบด้วยไมตรีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดกระแสแห่งเมตตาจิตจากเราก็จะส่งไปถึงเขาพอเขารับรู้ได้ เขาจะมีความร่มเย็นเป็นสุขแล้วจะสามารถหันมาปฏิสัมพันธ์ต่อเราด้วยความเมตตาอารีเหมือนที่เรามีต่อเขา

เช่นเดียวกัน เมื่อเราตักน้ำมาแล้วไปรดต้นไม้ ถ้าต้นไม้ชุ่มเย็น เชื่อไหม น้ำที่กระเซ็นถูกตัวเราก็ทำให้ร่างกายเราชุ่มเย็นเหมือนกัน นั่นแหละ คนที่รดน้ำคือเมตตาให้คนอื่น ความชุ่มเย็นนอกจากเกิดขึ้นกับเป้าหมายแห่งความเมตตาของเราแล้วก็เกิดขึ้นกับจิตใจของเราเองด้วย ต้นไม้ที่ได้รับการรดน้ำแล้วงอกงามฉันใด คนที่คอยรดน้ำให้ต้นไม้ก็มีความงอกงามเพิ่มขึ้นในจิตในใจฉันนั้น ฉะนั้นผู้รู้หรือนักปราชญ์จำนวนมากจึงมักจะบรรลุธรรมท่ามกลางแมกไม้ที่ร่มรื่นเพราะแมกไม้ที่ร่มรื่นเป็นที่มาของจิตใจที่รื่นรมย์ในชีวิตของเรา

ความเมตตาเปรียบเสมือนสายน้ำและเปรียบเสมือนผืนป่าอันร่มรื่น ถ้าเราปลูกฝังบ่มเพาะเมตตาจิตลงไปในใจของเรามากขึ้น ๆ ตัวเราเองก็จะรื่นรมย์ เหมือนกับว่าเรานั้นมีธารน้ำหลั่งไหลอยู่ภายในตัว เหมือนกับตัวเราเองนั้นเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ตัวเราเองก็มีความชุ่มเย็นอยู่ภายใน ใครมาก็พลอยชุ่มเย็นตามไปด้วย ฉะนั้นการแผ่เมตตาให้คนที่เราโกรธนั้น อย่าไปแผ่ตอนที่เราโกรธ แต่ควรจะฝึกให้มันเป็นวิถีชีวิตของเราทุกวัน ๆ จนกระทั่งว่าเมตตากับวิถีชีวิตของเรากลายเป็นเนื้อเดียวกัน

ในสมัยพุทธกาล เวลาที่พระอริยสาวกเจอกัน ท่านมักจะถามกันว่า “ท่านสารีบุตรท่านอยู่ด้วยวิหารธรรมอะไร” พระสารีบุตรก็จะตอบว่า “ช่วงนี้ผมอยู่ด้วยเมตตาพรหมวิหาร”“ช่วงนี้ผมอยู่ด้วยสุญญตาพรหมวิหาร” หรือ“ช่วงนี้ผมอยู่ด้วยกรุณาพรหมวิหาร”

คำว่า “วิหาร” แปลว่า คุณธรรมประจำจิตประจำใจ เราทุกคนควรจะฝึกจิตฝึกใจของเราให้มีเมตตาเป็นเรือนใจเอาไว้เป็นพื้นฐานถ้าเรามีเมตตาเป็นเรือนใจเป็นพื้นฐานอยู่ตลอดเวลา ถึงเวลาโกรธขึ้นมา เราไม่ต้องภาวนามากมาย แค่กลับมาแผ่เมตตาในจิตในใจให้ตัวเอง แล้วก็ให้คนที่เขาทำให้เราโกรธ แค่นั้นเอง แม่น้ำแห่งเมตตาก็จะแสดงปาฏิหาริย์แห่งความชุ่มเย็นให้ปรากฏ

การที่คนจำนวนมากแผ่เมตตาแล้วไม่ได้ผล เพราะเขามัวแต่จะแผ่เมตตา แต่ไม่มีเมตตาที่จะนำไปแผ่ เห็นไหม ก่อนแผ่เมตตาจะต้องสร้างเมตตาจิตขึ้นในจิตในใจของตัวเองจนกระทั่งว่าให้ผลเป็นความชุ่มเย็นในจิตในใจของตัวเองก่อน แล้วจากนั้นจึงค่อยแผ่ออกไปกระแสแห่งเมตตาก็จะค่อย ๆ เลื่อนไหลไปถึงคนที่เป็นเป้าหมายที่เราแผ่เมตตาให้เขา คนจำนวนมากที่แผ่เมตตาแล้วไม่ได้ผล เพราะเขาแผ่เมตตาแต่ปาก แต่ใจของเขานั้นยังเต็มไปด้วยความโกรธอยู่เหมือนเดิม ฉะนั้นรากฐานของการแผ่เมตตาที่แท้จริงอยู่ที่ใจ ไม่ใช่ที่ปาก

ส่วนถ้อยคำสำหรับแผ่เมตตานั้น ไม่สำคัญหรอกว่าจะเป็นภาษาบาลีหรือภาษาไทยขอเพียงเรานึกแผ่ความปรารถนาดีออกไปจากใจเราอย่างแท้จริง พลังของจิตก็จะกระทบจิตที่เป็นเป้าหมายได้โดยตรง อย่ากังวลต่อถ้อยคำแต่จงกังวลว่า เวลาที่เราแผ่ความปรารถนาดีไปให้ใคร เรามีความจริงใจอยู่ในนั้นหรือเปล่า ถ้าเรามีความจริงใจที่ปรารถนาจะให้เขาอยู่ดีมีความสุข แม้ไม่ต้องท่องออกมาเป็นถ้อยคำแต่ใช้เพียงกระแสแห่งจิตที่คิดถึงเขาในทางกุศลแค่นั้นการแผ่เมตตาก็สำเร็จเหมือนกัน”

ที่มา : คอลัมน์ SPIRITUAL JOURNEY นิตยสาร Secret เขียนโดย ท่าน ว. วชิรเมธี

ภาพ : www.pexels.com


บทความน่าสนใจ

เคล็ดลับพลิกความโกรธให้เป็นความเมตตา บทความดีๆ จากท่าน ว.วชิรเมธี

5 เคล็ดลับหยุดโกรธให้ทัน ก่อนที่มันจะลุกลาม

เมตตาไม่มีประมาณ…เรื่องเล่าพระสงฆ์ชาวจีนที่อาจทำให้คุณน้ำตาซึม

“หนูกับลูกประคำ” อานิสงส์ของการ แผ่เมตตา เรื่องเล่าจากหลวงพ่อจรัญ

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.