การุณยฆาต

 การุณยฆาต คืออะไร การฆ่าแบบนี้เป็นบาปหรือไม่ เรามีคำตอบมาฝาก

 การุณยฆาต คืออะไร การฆ่าแบบนี้เป็นบาปหรือไม่ เรามีคำตอบมาฝาก 

ในวงการแพทย์การทำ การุณยฆาต เช่น การฆ่าสัตว์ให้ตายโดยสงบอย่างไม่ทรมาน เนื่องจากสัตว์ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หาย อาการหนัก ระบาดติดสู่คนและสัตว์อื่นได้ หรือการฆ่าไก่เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก การฆ่าวัวเพื่อป้องกันโรควัวบ้า การกระทำเช่นนี้เป็นบาปหรือได้บุญ 

การฆ่าด้วยความกรุณานั้นมุ่งเน้นการช่วยให้พ้นทุกข์ ในคัมภีร์พระไตรปิฎกมีเรื่องเล่าว่า คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเรื่องความเป็นปฏิกูลของร่างกาย ภิกษุกลุ่มหนึ่งฟังเทศนาเรื่องนี้แล้วเกิดเบื่อหน่ายในชีวิตและร่างกาย จึงจ้างให้เพชฌฆาตสมัครเล่นคนหนึ่งมาปลงชีวิตของตัวเอง ปรากฏว่าคราวนั้นมีภิกษุเต็มใจฆ่าตัวตายจำนวนมาก ความทราบถึงพระพุทธเจ้า จึงทรงปรับอาบัติภิกษุที่ทำเช่นนั้นว่ามีโทษหนักถึงขั้นต้องอาบัติปาราชิก คือ ขาดจากความเป็นภิกษุทันที

การที่ทรงปรับอาบัติปาราชิกแก่ภิกษุที่ตั้งใจฆ่าตัวตายเอง หรือขอให้คนอื่นฆ่าตัวเองด้วยความเต็มใจ รวมทั้งรู้เห็นเป็นใจให้มีการฆ่าตัวตาย ก็เพราะการฆ่าเป็นอาชญากรรมที่ตัดรอนชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งสูงค่าที่สุดที่มนุษย์มีอยู่ให้ขาดไป

เมื่อเราตายลงจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม นั่นหมายถึงโอกาสในการเข้าถึงสิ่งดีๆ ทั้งปวงได้หลุดลอยขาดหายไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสอันสำคัญที่สุดก็คือโอกาสในการบรรลุธรรม การฆ่าจึงเป็นการสังหารผลาญทั้งชีวิต ทั้งร่างกาย และทั้งโอกาสในการพัฒนาทางจิตวิญญาณไปพร้อมๆ กัน

ในทัศนะของพระพุทธศาสนา การฆ่าในทุกความหมายจึงถือว่าเป็นบาป

คำสอนเบื้องต้นที่สุดของพุทธศาสนาจึงเริ่มต้นด้วย “การไม่ฆ่า” (ปาณาติปาตา เวรมณี) คำสอนทั่วๆ ไปก็ล้วนมุ่งเน้นให้ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต เช่น การสอนให้มองสรรพสัตว์ สรรพชีพว่าล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในโลกด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

การฆ่าที่จะถือว่าเป็นบาปสมบูรณ์นั้นต้องประกอบด้วยเหตุปัจจัย

๕ ประการ

(๑) สัตว์มีชีวิต

(๒) รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต

(๓) มีจิต (เจตนา) คิดจะฆ่า

(๔) พยายามฆ่า

(๕) สัตว์ตาย

ถ้าครบองค์ประกอบทั้งห้าถือว่าเป็นบาปโดยสมบูรณ์ ทุกๆ ครั้งที่มีการฆ่าเกิดขึ้นในนามของความกรุณา เราคงต้องถามว่า ผู้ฆ่าได้ทำให้องค์ประกอบทั้งห้าสมบูรณ์หรือไม่ โดยมากล้วนแล้วแต่ทำให้องค์ประกอบทั้งห้าสมบูรณ์ทั้งนั้น เพราะคงไม่มีนักเรียนแพทย์หรือแพทย์คนไหนที่ไม่รู้ว่าสัตว์ที่ตนจะฆ่านั้นเป็นสิ่งมีชีวิต ดังนั้น ถ้ามีการฆ่าเกิดขึ้น แม้จะด้วยเจตนาดี ก็ยังคงถือว่าเป็นบาปอยู่นั่นเอง

แต่ถามต่อไปว่า บาปมากหรือบาปน้อย ท่านก็ให้หลักเกณฑ์การพิจารณาต่อไปว่า ถ้าสัตว์นั้นมีคุณมากก็บาปมาก มีคุณน้อยก็บาปน้อยลงไปตามส่วน แต่ที่จะไม่บาปเลยนั้นเป็นไม่มี ด้วยเหตุนั้น ถ้าเธอฆ่า เธอก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับบาป ในความหมายว่า อาจเป็นกรรมติดตัวต่อไปในอนาคต ต่างแต่ว่ากรรมนั้นอาจไม่รุนแรงมากนักเพราะเจตนาฆ่านั้นไม่ได้เกิดจากเจตนาร้าย แต่เป็นเจตนาดี

ในต่างประเทศ การฆ่าสัตว์ที่ติดเชื้อถือเป็นเรื่องปกติ ก็เพราะต่างชาติมีระบบความเชื่อต่างออกไปจากศาสนาพุทธ เพราะฉะนั้น ถ้าเธอคิดจะฆ่าด้วยความกรุณา ก็คงต้องถามด้วยว่า เธอฆ่าบนพื้นฐานของชุดความเชื่อแบบไหน

ถ้าฆ่าบนพื้นฐานของชุดความเชื่อแบบวิทยาศาสตร์ อาจไม่บาปเลยก็ได้

ถ้าฆ่าบนพื้นฐานของชุดความเชื่อแบบศาสนาอื่นๆ ก็คงต้องพิจารณากันไปตามกรณีนั้นๆ ว่าอ้างศาสนาไหน

แต่ถ้าฆ่าบนพื้นฐานของชุดความเชื่อแบบพุทธ (ซึ่งอิงสัจธรรม ไม่ใช่เป็นบาปเพราะพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ แต่เพราะมันเป็นไปตามกฎธรรมชาติอย่างนั้นเอง) แม้จะฆ่าด้วยกรุณาก็ยังคงเป็นบาปจะบาปมากบาปน้อย ให้พิจารณาจากเกณฑ์ทางจริยธรรมที่อธิบายแล้ว

 

ข้อมูลจาก 84000.org และ Wikipedia


บทความน่าสนใจ

Dhamma Daily: ฆ่าหนู ที่สกปรกเพราะมากัดสายไฟ เป็นบาปหรือไม่

Dhamma Daily : อยากฆ่าตัวตาย เพราะทุกข์กับความรักแสนสาหัส ควรทำอย่างไร

Dhamma Daily : ถ้าฆ่าสัตว์มีพิษเพื่อป้องกันตัว บาปหรือไม่

วิธีแก้ซึมเศร้า+อยากฆ่าตัวตาย สาเหตุจากกินของหวานมากไป

ผิดหวังจากความรัก จนคิดอยากฆ่าตัวตาย แล้วจะช่วยให้พ้นทุกข์หรือเปล่า

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: รู้สึกน้อยใจในชีวิตจนคิด อยากฆ่าตัวตาย ทำอย่างไรดีคะ

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.