จัดการ ความโลภ

วิธี จัดการความโลภ 3 ระดับ บทความจาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

วิธี จัดการ ความโลภ 3 ระดับ บทความจาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

กิเลสใหญ่ที่ครองใจชาวโลกเป็นที่รู้จักกันดีอยู่ 3 ตัว คือความโลก ความโกรธ และความหลง

ความโลภนั้นมีอยู่แทบทุกคน ทั้งโลภอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด

ความโลภอย่างหยาบเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่ากลัว และเป็นภัยต่อสังคม พฤติกรรมของผู้ที่มีความโลภอย่างหยาบคือ หากต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาเป็นของตน จะหามาโดยไม่คำนึงถึงวิธีการว่าจะผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม ทำร้ายทำลายผู้อื่น หรือเบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ เช่น พวกโจรปล้นทรัพย์ บางครั้งถึงกับฆ่าหรือทำร้ายเจ้าของทรัพย์ นอกจากนี้พวกลักขโมย ฉกชิงวิ่งราวทรัพย์ ก็เป็นพวกที่มีความโลภอย่างหยาบเช่นกัน

พวกขายยาเสพติดให้โทษ ขายยาบ้า ค้าของเถื่อน ขายของผิดกฎหมาย พวกหลอกลวงฉ้อฉลเอาทรัพย์ของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่ ขายสินค้าปลอม ทำธุรกิจผิดกฎหมาย ทุจริตคอรัปชั่นทั้งหลาย จะกินทวนน้ำหรือตามน้ำก็แล้วแต่ รวมถึงพวกโกงภาษี ก็จัดอยู่ในพวกมีความโลภอย่างหยาบทั้งสิ้น

กล่าวโดยสรุปคือพวกที่กระทำการทุจริต ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม เพียงเพื่อให้ได้ทรัพย์สิ่งของมาเป็นของตน อันเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น ถือว่าเป็นผู้ที่มีความโลภอย่างหยาบ ผลของการกระทำดังกล่าวหากถูกจับได้ จะได้รับโทษตามกฎหมาย หากยังไม่ถูกกฎหมายลงโทษ ก็เป็นที่รังเกียจถูกสังคมติฉินนินทา ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ความโลภอย่างกลาง เป็นเช่นไร คนส่วนมากไม่ค่อยตระหนักถึงความโลภอย่างกลาง เพราะไม่เข้าใจว่าทรัพยากรของโลกเป็นสมบัติส่วนกลางที่มวลมนุษย์ควรมีโอกาสใช้เพื่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอด

ในสังคมเศรษฐกิจระบอบทุนนิยม ที่เปิดโอกาสให้แข่งขันกันอย่างเสรี ผู้ที่มีศักยภาพทางทุนทรัพย์ หรือผู้คุมอำนาจทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ย่อมมีช่องทางครอบครองทรัพยากรของโลกได้มากกว่าผู้ที่มีอำนาจด้อยกว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้คนที่มีกำลังอำนาจดังกล่าว จึงดูดเอาทรัพยากรของโลกไปบริโภคมากมายเกินความจำเป็น บางคนรวยล้นฟ้ามีทรัพย์สินเป็นพัน หมื่น หรือแสนล้าน มากมายถึงขนาดนี้ก็ยังไม่พอ ยังแสวงหามาไว้ครอบครองให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด

ที่สำคัญยิ่งตระหนี่ถี่เหนียว ไม่บริจาคช่วยเหลือผู้อื่น หรือถึงบริจาคก็เพียงเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ให้ตนเอง หรือองค์กรธุรกิจของตน มากกว่าบริจาคด้วยจิตเมตตา หวังอนุเคราะห์เกื้อกูลต่อผู้ที่ขัดสน ด้อยโอกาส อย่างไรก็ตามมีมหาเศรษฐีของโลกบางคน บริจาคทรัพย์จำนวนมาก ให้องค์กรการกุศล เช่น ศาสนา การศึกษา และผู้ยากไร้ นับว่าเป็นผู้ที่มีกุศลจิตเมตตาต่อผู้อื่น

เศรษฐีได้ทรัพย์สินเหล่านี้มาแม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ถือเป็นการบริโภคส่วนเกินของชีวิต ใช้อำนาจทางเศรษฐกิจหรือทางการเมือง ดูดเอาทรัพยากรของโลกไปครอบครอง เป็นการกีดกันโอกาสของผู้ที่ยากไร้ไม่ให้เข้าถึงทรัพยากรของโลก เศรษฐีดังกล่าวถือว่าเป็นผู้ที่มีความโลภอย่างกลาง

คนบางคนเวลาไปงานเลี้ยงอาหารบุฟเฟต์ ตักอาหารมามากมายแล้วรับประทานไม่หมด ทำให้อาหารไม่เพียงพอสำหรับคนที่มาร่วมงานคนอื่น เช่นเดียวกับการสั่งอาหารมารับประทานมากมายหลายชนิด จนรับประทานไม่หมด หรือผู้ที่ซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ตลอดจนเครื่องใช้ไม้สอยประจำบ้านไว้มากมาย แล้วเก็บเอาไว้ไม่ค่อยได้ใช้ บุคคลดังกล่าวถือเป็นผู้มีความโลภอย่างกลาง เพราะบริโภคทรัพยากรของโลกอย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นของชีวิต

ความโลภอย่างละเอียด เป็นความโลภที่คนทั่วไปไม่ได้ตระหนักถึง เป็นกันแทบทุกคน ยากจะละความโลภนี้ได้ ความโลภประเภทนี้ได้แก่ การยึดติดทรัพย์สิ่งของอันเป็นที่รักของตนไว้อย่างเหนียวแน่น ด้วยแรงของตัณหา เป็นเหตุให้หวงแหนห่วงใยทรัพย์เหล่านั้น บางคราวสิ่งนั้นชำรุดเสียหายหรือพลัดพรากจากไป ก็เกิดความทุกข์

ในทางพุทธศาสนามีธรรมที่จะช่วยแก้ความโลภประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

การแก้ความโลภอย่างหยาบให้รักษาศีล โดยเฉพาะศีลข้อ 2 หากเว้นจากการลักทรัพย์แล้ว ก็ไม่คิดจะเบียดเบียนเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาครอบครอง อันทำให้เจ้าของทรัพย์ได้รับความเดือดร้อน สำหรับการประกอบอาชีพผิดกฎหมายนั้น แก้ได้ด้วยการมีสัมมาอาชีพ ซึ่งจัดอยู่ในศีลแห่งองค์มรรคเช่นกัน

การแก้ความโลภอย่างกลาง ให้มีเมตตาต่อผู้อื่น โดยเห็นว่าทรัพย์สิ่งของทั้งหลายเป็นทรัพยากรของโลก ที่คนร่วมโลกควรมีโอกาสได้ใช้เพื่อการดำรงชีวิต อย่างน้อยให้อยู่รอดได้ ผู้ที่มีมากจึงควรเสียสละแบ่งปันหรือให้ทาน แก่ผู้ที่มีความเป็นอยู่ยากไร้ เพื่อให้เขาพ้นจากความทุกข์ หรือบริจาคให้ผู้ที่สมควรแก่การช่วยเหลือ เพื่อให้เขาพัฒนากิจกรรมที่ทำอยู่ให้สูงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะงานที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ เช่น งานการกุศล

การแก้ความโลภอย่างละเอียด ต้องเจริญภาวนาใช้ปัญญาเข้าใจกฎไตรลักษณ์ เห็นความเป็นอนัตตาว่าสิ่งทั้งหลายไม่ใช่ของตน เป็นเพียงธาตุ 4 ที่มีอยู่ในโลกและเป็นสมบัติของโลก เราต่างพากันมาอาศัยโลกอยู่ มาใช้ธาตุ 4 ของโลกกันชั่วคราว เมื่อตายไปก็ต้องคืนสมบัติวัตถุต่างๆ ไว้ในโลก ไม่มีใครเอาสมบัติของโลกไปได้เลย

นอกจากนี้ธรรมชาติของธาตุ 4 ยังเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเก่า มีความชำรุดทรุดโทรมและเสื่อมสลายไปตามเหตุปัจจัย(เป็นอนิจจัง) ไม่อาจคงทนอยู่ในสภาพเดิมได้(เป็นทุกขัง) และไม่ใช่เป็นของๆ ใครจริง(เป็นอนัตตา) จึงไม่ควรยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นของเรา เราเพียงหามาเพื่อใช้ในการยังชีพและประกอบกิจการงาน มีหน้าที่ดูแลรักษาตามเหตุปัจจัย ต้องพร้อมจะปล่อยวางได้ทุกเมื่อ

เพราะหากถึงคราวตาย จิตยังยึดมั่นพันผูกด้วยความหวงห่วงใย สภาวะจิตที่เศร้าหมองเช่นนี้ จะนำพาชีวิตใหม่ไปเกิดในอบายภูมิ

พระโสดาบันท่านละความโลภทั้ง 3 ประเภทนี้ได้ สำหรับปุถุชนควรละความโลภอย่างหยาบให้ได้ และหากละความโลภอย่างกลางได้ก็จะดี ส่วนความโลภอย่างละเอียดต้องปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จึงจะละได้


ที่มา: นิตยสาร Secret

Photo by Sharon McCutcheon on Unsplash


บทความน่าสนใจ

คิดเก่ง ทุกข์เก่ง บทความธรรมะจาก ปิยสีโลภิกขุ

ชีวิตนี้แสนยาก เพราะตัวเราเองหรือเปล่า บทความธรรมะจาก ปิยสีโลภิกขุ

ถึงเพื่อนที่ชื่อ เพื่อนบ้านของจิตใจมนุษย์

เดินเล่นเห็นอะไร ณ Krattigen  เรื่องเล่าจากสวิตเซอร์แลนด์ โดยท่านเปสโลภิกขุ

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.