ทุกข์เก่ง

คิดเก่ง ทุกข์เก่ง บทความธรรมะจาก ปิยสีโลภิกขุ

คิดเก่ง ทุกข์เก่ง บทความธรรมะจาก ปิยสีโลภิกขุ

คิดเก่ง หมายถึง การคิดอย่างคล่องแคล่ว มีประสิทธิภาพ คิดดี หมายถึง การคิดถูกต้องดีงาม ไม่ขัดหลักศีลธรรม ส่วนคิดให้เป็นสุข คือ คิดสร้างสรรค์ในทางบวก เมื่อคิดมาก มันก็จะทุกข์ตาม กลายเป็นคิดเก่งก็จะ ทุกข์เก่ง

พระฝรั่งรูปหนึ่งเล่าว่า ก่อนบวชเคยเป็นผู้ช่วยพยาบาลดูแลผู้พิการทางสติปัญญา ท่านสังเกตว่า ผู้ป่วยที่คิดอะไรได้น้อย มักร่าเริงและมีความสุขกับชีวิตประจำวัน แต่คนที่คิดได้มากกว่ากลับเป็นทุกข์ และสร้างปัญหาให้ตัวเองได้มากตามไปด้วย

ข้อสังเกตนี้คงใช้กับคนทั่วไปได้เช่นกัน  เพราะคนคิดมากย่อมมีโอกาสเป็นทุกข์ได้มาก ยิ่งคิดซับซ้อน ความทุกข์ทางใจก็พลอยซับซ้อนไปด้วย

ความคิดของมนุษย์มีพลังอย่างยิ่ง ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุในปัจจุบันล้วนเป็นผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งความสำเร็จในชีวิตการงานมักจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการคิดเป็นสำคัญ คนทั่วไปจึงเห็นแต่ประโยชน์ของความคิด และไม่เห็นว่าเป็นที่มาของทุกข์ทางใจหลายประการ

หากความคิดทั้งหมดเป็นกุศล คงไม่เป็นปัญหาแต่ประการใด  แต่เราคงต้องยอมรับว่า ความคิดของเราส่วนใหญ่ไม่ค่อยเป็นไปในทางกุศลเท่าใดนัก เราจึงต้องรับผลจากความคิดของตนเอง

ชีวิตในสังคมสมัยใหม่มีกิจกรรมให้สมองทำงานเกือบตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการทำงานตามหน้าที่ หรือการรับข้อมูลผ่านสื่ออันหลากหลาย ความคิดที่ไม่หยุดหย่อนส่งผลโดยตรงต่อจิตใจ หลายคนพบว่าความคิดตกค้างในใจยาวนาน จนบางคราวถึงกับนอนไม่หลับ เวลาที่ต้องอยู่ตามลำพังก็อยู่กับตัวเองได้ยาก เพราะไม่อาจเผชิญกับความคิดฟุ้งซ่านที่วิ่งไปเรื่องโน้นเรื่องนี้โดยไม่รู้จบ บ่อยครั้งที่ความเหนื่อยล้าทางใจเกิดขึ้นจากการคิดไม่หยุดนี้เอง นอกจากนี้แล้วยังมีความคิดเชิงลบอีกหลายประการที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองขุ่นมัวและวิตกกังวลโดยไม่จำเป็น

บทเรียนแรกในการปฏิบัติธรรมจึงเป็นการเฝ้ามองความคิดในใจ ให้รู้ว่ายิ่งคิด ยิ่งทุกข์ หากปล่อยวางความคิดลงได้ก็เป็นสุข และเมื่อพัฒนาทักษะการหยุดคิดได้แล้วจึงจะใช้ความคิดไปในทิศทางที่เหมาะสมต่อไป การ “คิดเป็น” ในทางธรรมนั้น นอกจากจะคิดเก่งแล้ว ยังต้องคิดดีและคิดให้เป็นสุขด้วย

คิดเก่ง หมายถึง การคิดอย่างคล่องแคล่ว มีประสิทธิภาพ  คิดดี หมายถึง การคิดถูกต้องดีงาม ไม่ขัดหลักศีลธรรม ส่วนคิดให้เป็นสุข คือ คิดสร้างสรรค์ในทางบวกและรู้จักปล่อยวางความทุกข์ในใจ

สิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตที่ดีงามคือ “การคิดเป็น” ประกอบกับ “การหยุดคิดได้” ในเวลาที่ควรจะหยุด ทั้งสองอย่างนี้จะช่วยให้เราจัดการความคิดได้ลงตัวและมีสมดุล ไม่ถูกลากจูงไปในทางสร้างทุกข์มากนัก

โลกนี้มีอะไรมากมายที่ไม่จำเป็นต้องคิด บางอย่างรู้แล้วไม่เก็บมาใส่ใจน่าจะดีกว่า หากเรายอมโง่บางเรื่องก็จะไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการคิดวุ่นวาย ทำให้มีเวลานั่งมองและทำความเข้าใจชีวิตได้มากขึ้น

เคล็ดลับที่ว่านี้อาจดูเล็กน้อยจนหลายคนมองข้าม แต่เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตเป็นสุขได้มากกว่าที่คิด

แหล่งที่มา : นิตยสาร Secret ปีที่ 3 ฉบับที่ 66 (26 มี.ค. 54) หน้า 100 (ปี 2554) ชื่อคอลัมน์ : My Secret ผู้เขียน: ปิยสีโลภิกขุ


บทความน่าสนใจ

4 เรื่องที่ควรเตือนตัวเองเอาไว้ หากไม่อยากต้องจมอยู่กับความคิดมาก

7 ข้อดี ของการเป็น “มนุษย์ที่ชอบคิดมาก”

รู้จักกับ ศร ศวัส มลสุวรรณ เจ้าของเพจ คิดมาก ชายผู้สนิทกับความเศร้า

อย่าคิดมากกับเสียงวิจารณ์ของคนอื่น จนตัวเองต้องทุกข์ใจ

10 วิธีคิดสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง

10 วิธีคิดสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง

ผมเชื่อว่าความลำบากทำให้เรา “เติบโต” เฟิสท์ - เอกพงศ์ จงเกษกรณ์

ขอบคุณความลำบากที่ทำให้มีทุกวันนี้ เฮียนพ หมูปิ้งร้อยล้าน

อยู่สบาย แล้วทำไมต้องตายลำบาก บทความน่าคิด จากพระไพศาล วิสาโล 

บุคคล 7 ประเภท ที่มักต้องตกอยู่ในสถานะ “ลำบากใจ”

วิชาลำบาก ยากจน ขาดแคลน (2)  : พระราชญาณกวี

Dhamma Daily : ทำอย่างไรไม่ให้คิดกังวลและกลัวความตาย

หนุ่ม กะลา กับช่วงเวลาที่พบ ธรรม จากวันที่ทุกข์ถึงวันที่ซึ้งธรรม

โคตร…ประหยัด ขจัดทุกข์ แนวคิดสุขๆ ของจอห์น วิญญู

สารพัด  ทุกข์ของคนเป็นแม่  แก้ไขได้ด้วยธรรมะ

อยู่กับทุกข์ให้เป็น ก็ไม่เป็นทุกข์ บทความให้กำลังใจจาก พระไพศาล วิสาโล

เพราะรักมากจึงทุกข์มาก ไม่ปล่อยวางจึงไม่หลุดพ้น ข้อคิดตัวอย่างจากผีการะเกด

มีแฟนแล้วทุกข์ ความสุขอยู่ตรงไหน? เก็บมุมคิดจาก พศิน อินทรวงค์ (ชมคลิป)

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.