Q: หากกฎแห่งกรรมตามไปลงโทษในขณะที่เราไม่มีความระลึกรู้ เราก็ไม่ทุกข์สิครับ

ถาม: บางชาติเราอาจไปเกิดเป็นสัตว์ซึ่งมีแต่สัญชาตญาณ ไม่มี“สติ” หรือความระลึกรู้ (หรือแม้แต่ตอนที่เป็นทารกก็ตาม) เราย่อมไม่รู้ตัว ไม่เหมือนตอนที่โตเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์แล้ว ซึ่งจะมีสติรู้ตัวตลอด รู้ทุกข์ รู้สุข ฉะนั้น หากกฎแห่งกรรมตามไปลงโทษในขณะที่เราไม่มีความระลึกรู้ มันก็ไม่ทุกข์น่ะสิครับ

ตอบ: ความทุกข์ยังคงมีอยู่ เพียงแต่อาจไม่หนักหนาสาหัสเพราะมีการ “ปรุงแต่ง” เพิ่มเติมจากความสามารถในการคิด (สังขาร)ของคนเรา ทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้เป็น “ทุกข์ล้วนๆ” ทางกายภาพหรือทุกข์จนเคยชิน อย่างที่เรียกกันว่า ทุกข์มีอยู่ แต่ “ผู้ทุกข์” ไม่มี (ความจริงตัวตนของผู้ทุกข์คงมี แต่ไม่เข้มข้น) เช่น สัตว์ที่เกิดอยู่ในสภาพชีวิตที่สกปรก หรือเกิดอยู่ท่ามกลางการแก่งแย่งแข่งขันต้องมีชีวิตหลบหลีกการไล่ล่าเป็นอาจิณ หรือเกิดมาเพื่อถูกเขานำไปฆ่าเป็นอาหาร สภาพชีวิตที่ต้องดิ้นรนหนีตายอยู่ตลอดเวลาเหล่านี้ถือว่าเป็นความทุกข์อยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว โดยไม่ต้องอาศัยการปรุงแต่งเพิ่มเติม

แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการปรุงแต่งเพิ่มเติมเข้าไปว่า “โอ หนอ ทำไมเกิดมาชาตินี้ถึงได้ทุกข์เหลือเกิน” พอปรุงแต่งอย่างนี้แล้วก็จำทำให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจเพิ่มขึ้น น้อยเนื้อต่ำใจเพิ่มขึ้นอาการปรุงแต่งอย่างนี้จะทำให้ทุกข์ทางกายซึ่งเป็นความทุกข์ตามสภาพชีวิตที่เกิด (เช่น เกิดเป็นหมูให้เขาขุนเพื่อนำไปฆ่า หรือเกิดเป็นแมลงสาบ) กลายเป็นความทุกข์ที่หนักหนาสาหัสซ้ำเข้าไปอีก เป็นทั้งทุกข์กาย (กายิกทุกข์) และทุกข์ใจ (เจตสิกทุกข์)ความทุกข์ที่กัดกินใจคนนี้แหละเป็นความทุกข์ที่ทำให้ทุกข์แท้ๆทุกข์หนักหนาสาหัสและกินเวลายาวนาน

ตราบใดก็ตามที่ผู้ทุกข์ยังไม่อาจถอนตัวเองออกมาจากความยึดติดถือมั่นในตัวตน (ในขันธ์ 5) ยังไม่อาจเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันขณะ ความทุกข์ทางใจจะเผาลนต่อไปไม่มีวันจบสิ้นทางออกจากเรื่องนี้ก็คือ ต้องฝึกการเจริญสติเพื่ออยู่กับปัจจุบันขณะให้เป็น อย่าปล่อยตัวเองให้หลุดเข้าไปในเขาวงกตของความคิด อย่าเล่นกับความคิด อย่าเพลินกับความคิด แต่พยายามอยู่เหนือความคิด ด้วยการตื่นรู้อยู่เสมอในปัจจุบันขณะ การเพียรปฏิบัติ-ธรรมในชีวิตประจำวันด้วยการระลึกรู้ในสิ่งต่างๆ ที่ทำ พยายามพรากจิตออกมาจากสภาพ “คิด” ตลอดเวลามาอยู่กับ “ความจริงสดๆ” ในปัจจุบันขณะ…

ทำอย่างนี้อยู่เสมอ จิตจะหลุดออกมาจากอาการ “หลงคิด”ได้สักวัน

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.