ท่าทีต่อชีวิต

ท่าทีต่อชีวิต คือสิ่งลิขิตความเป็นคุณ บทความจาก ปิยสีโลภิกขุ

ท่าทีต่อชีวิต คือสิ่งลิขิตความเป็นคุณ บทความจาก ปิยสีโลภิกขุ

บทความเรื่อง ” ท่าทีต่อชีวิต ” เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร Secret คอลัมน์ My Secret เขียนโดย ปิยสีโลภิกขุ

ทัศนคติของเราส่งผลต่อชีวิตอย่างคาดไม่ถึง ดังผลการวิจัยในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่แบ่งนักเรียนออกเป็นสองห้องตามคะแนนเฉลี่ย ทั้งสองห้องนี้มีกลุ่มคะแนนสูง – กลาง – ต่ำใกล้เคียงกัน แต่ผู้ปกครองและครูประจำชั้นได้รับคำชี้แจงว่า ห้อง ก.เรียนเก่ง ห้อง ข.เรียนไม่เก่ง

นักเรียนทั้งหมดเรียนในสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน แต่ผลการสอบปลายภาคปรากฏว่านักเรียนห้อง ก.สอบได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าห้อง ข.เกือบทุกคน

นักวิจัยที่เฝ้าสังเกตอธิบายว่า ในช่วงเริ่มต้น นักเรียนทั้งสองกลุ่มมีผลการเรียนใกล้เคียงกัน แต่เมื่อทัศนคติต่างกัน ทำให้ผลการเรียนรู้ต่างกันไปด้วย

นักเรียนห้อง ก.คิดว่าตนเองเรียนได้ดี ทำให้มีกำลังใจในการเรียน คนที่เคยได้คะแนนต่ำก็ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น ส่วนนักเรียนห้อง ข.รู้สึกว่ายังไงก็ไม่เก่ง ไม่รู้จะตั้งใจเรียนไปทำไม คะแนนจึงแย่ไปด้วย ทั้ง ๆ ที่เคยได้คะแนนดีมาก่อน

ผลการวิจัยชวนให้ตั้งคำถามถึงโรงเรียนที่แบ่งนักเรียนเป็นห้องคิงห้องควีน ไปจนถึงห้องบ๊วยสุด การแบ่งอย่างนี้เป็นการส่งเสริมหรือทำลายกันแน่ โชคดีว่าสมัยที่เป็นนักเรียนถูกจัดให้อยู่ในห้องเรียนดีมาตลอด หากถูกจัดให้อยู่ห้องบ๊วยมาตั้งแต่ต้น ไม่แน่ใจว่าจะตั้งใจเรียนเหมือนเดิมหรือไม่

ท่าทีต่อชีวิต
Image by Sasin Tipchai from Pixabay

สมัยเรียนชั้น ป.5 เคยถูกเรียกออกไปแก้โจทย์คณิตศาสตร์หน้าห้อง พอใช้วิธีหารยาวตามถนัด ครูบอกว่าผิด ข้อนี้ต้องใช้วิธีหารสั้น ยืนงงอยู่ครู่ใหญ่เพราะหารสั้นไม่เป็น รู้สึกตัวอีกทีก็ถูกครูบิดหูอย่างแรงแล้วกระชากเสียงว่า ‘ทำไมโง่อย่างนี้’

ประสบการณ์คราวนั้นทำให้ปฏิเสธวิธีหารสั้นไปเลย กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังหารสั้นไม่เป็น ไม่เคยเข้าใจว่าทำไมต้องใช้วิธีที่ไม่ถนัด ในเมื่อคำตอบที่ได้ไม่ต่างกัน

จะเห็นได้ว่า ความคิดแง่ลบส่งผลต่อการกระทำอย่างยิ่ง เมื่อใดที่ไม่ชอบหรือคิดว่าทำไม่ได้ แม้จะมีศักยภาพก็ดึงออกมาใช้ไม่ได้

ต้นตอส่วนหนึ่งของความคิดลบมาจากการเปรียบเทียบ ถ้าเราไม่ดี คนอื่นก็ต้องดีกว่า ถ้าเราเก่ง คนอื่นก็ไม่เก่ง แม้นักปฏิบัติธรรมก็ยังอดคิดเปรียบเทียบไม่ได้ อาทิ เขานั่งสมาธิได้นานกว่า เรานั่งสู้เขาไม่ได้ เขามีบารมีมากกว่าเรา ฯลฯ

หากพิจารณาให้ละเอียดจะเห็นว่า ทุกคนมีทั้งแง่บวกและแง่ลบในตัวเอง เปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคนต่างกัน เหตุปัจจัยแวดล้อมก็ต่างกันด้วย การเห็นข้อบกพร่องของตนเองไม่ได้หมายความว่าเราแย่กว่าคนอื่นไปเสียทุกด้าน หรือการทำอะไรบางอย่างได้ดีก็ไม่ได้หมายความว่าเราเก่งเหนือคนอื่น

เมื่อค้นพบว่าตนทำอะไรได้ดีก็พัฒนาความสามารถนั้นให้เต็มที่แต่หากยังไม่พบก็ไม่ควรท้อถอย เพราะต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่เราถนัดและทำได้ดีแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะนำมาใช้อย่างไรเท่านั้น

ถ้าเลิกเปรียบเทียบได้ ก็ทำอะไรได้เต็มศักยภาพและมีความสุข   เชื่อแน่ว่าผลดีจะต้องตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.