เทคโนโลยีของจิต

เทคโนโลยีของจิต บทความให้แง่คิด จาก พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ)

เทคโนโลยีของจิต บทความให้แง่คิด จาก พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ)

ท่านผู้อ่านของข้าพเจ้าคงจะเดาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ข้าพเจ้าจะพูดเรื่องอะไร  บางท่านอาจคิดว่าเทคโนโลยีจะเกี่ยวข้องกับจิตได้อย่างไร จิตมีเทคโนโลยีด้วยหรือ  การทำงานของเครื่องเทคโนโลยีกับจิตเหมือนกันด้วยหรือ  อาจมีคำถามหลากหลายตามมา

ข้าพเจ้ามีความคิดว่า  สิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์ผลิตขึ้นมาล้วนมาจากจิตก่อน  ประการต่อมาคือการเลียนแบบธรรมชาติ  เราเห็นนกบินก็อยากบินได้เหมือนนก  จิตก็คิดหาวิธีผลิตเครื่องร่อน  ใส่เครื่องยนต์ต่อมากลายเป็นเครื่องบิน  เราเห็นปลาดำน้ำ  เราก็อยากอยู่ในน้ำได้เหมือนปลาบ้าง  จิตก็คิดหาวิธีผลิตเรือดำน้ำ  เทคโนโลยีเหล่านี้เกิดจากอะไร  ถ้ามิใช่เกิดจากจิต

หันมาดูจิตกับการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ที่จิตมนุษย์ผลิตขึ้นมาใช้งานแทนความสามารถในการจำของคน  มนุษย์ก็ผลิตเลียนแบบร่างกาย  คือสมองและจิตใจของเรานี่เอง  สร้างให้มีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ทำงานร่วมกัน  มีระบบการจำ  การป้องกันไวรัส  ระบบการลบข้อมูลที่เสียทิ้งได้  แล้วลงโปรแกรมใหม่

การทำงานของคอมพิวเตอร์เลียนแบบการทำงานของร่างกายและจิตใจเราทุกอย่าง  ในทางพระพุทธศาสนา  พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า  ต่อไปในอนาคตข้างหน้า  มนุษย์จะลำบากมาก  เพราะมีอุปกรณ์เทคโนโลยีมาเสริมความเร็วของจิต  เสริมความจำ  มนุษย์จะหยุดไม่ได้และจะไม่สามารถทำงานได้เอง  สมองอาจจำอะไรไม่ได้เพราะมีเครื่องช่วยจำ  พระองค์ทรงเห็นว่า  ถึงอย่างไรเทคโนโลยีก็ไม่สามารถทำงานได้ละเอียดเท่าจิต  มนุษย์คิดได้  แต่คอมพิวเตอร์คิดไม่เป็น  ทำได้เพียงเลียนแบบเท่านั้น

พระองค์จึงทรงสร้างระบบการทำงานของจิตขึ้นมา 3 หลักคือ ไตรสิกขา  ได้แก่ ศีล  สมาธิ  ปัญญา  ศีล เหมือนระบบป้องกันไวรัส  ซึ่งไวรัสเปรียบได้กับกิเลส  สมาธิ เหมือนระบบความจำ  จัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของจิต  ทำให้คิดได้อย่างเป็นระบบ ปัญญา เหมือนระบบลบข้อมูลที่เสียทิ้งไป  แล้วลงโปรแกรมใหม่เครื่องก็ทำงานใหม่ได้  พระเรียกว่า “วิปัสสนา”  คือ การพิจารณาเรื่องการปล่อยวาง  ว่าง  เย็น  ไม่ยึดมั่นในสิ่งใด  มองเห็นสรรพสิ่งเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา

เมื่อวางแล้วก็ได้ชื่อว่าลบข้อมูลทิ้งโดยไม่ต้องลงโปรแกรมใหม่ ท่านเรียกว่า “นิพพาน”  คือ ดับทุกข์ในสังสารวัฏได้อย่างครบวงจร

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.