พระพุทธเมตตาประชาไทย

พระพุทธเมตตาประชาไทย ไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ พุทธศิลป์อันยิ่งใหญ่แห่งสยามประเทศ

พระพุทธเมตตาประชาไทย ไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ พุทธศิลป์อันยิ่งใหญ่แห่งสยามประเทศ

ภาพพระพุทธรูปยืนสีน้ำผึ้งที่สูงตระหง่านทัดเทียมภูเขาเขียวขจีที่อยู่เบื้องหลังสะกดทุกสายตาของผู้ที่ได้พบเห็นให้อัศจรรย์ใจในความยิ่งใหญ่และงดงาม นั่นคือ พระพุทธเมตตาประชาไทย ไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์

พระพุทธเมตตาประชาไทย ไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ คือนามของพระพุทธรูปยืนโลหะสำริดปางขอฝน ประดิษฐานอยู่บนลานประทักษิณ ณ วัดทิพย์สุคนธาราม ตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี นับเป็นพระพุทธรูปโลหะสำริดที่สูงที่สุดในประเทศไทย

พระพุทธเมตตาประชาไทย ไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์
พระพุทธเมตตาประชาไทย ไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์

ศรัทธาอันยิ่งใหญ่
ปฐมบทของการสร้างพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์เกิดจากความเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม โดยเมื่อปี พ.ศ. 2547 คุณฉันทิพย์ กลิ่นโสภณ และครอบครัวซึ่งเป็นผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนาปรารถนาจะสร้างวัด จึงได้บริจาคที่ดินจำนวน 319 ไร่ 2 งาน 2 ตารางวา ณ ตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯอุปถัมภ์การดำเนินการสร้างวัดและตั้งชื่อว่า “วัดทิพย์สุคนธาราม”

ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯได้เห็นสภาพแวดล้อมอันแห้งแล้งของพื้นที่แห่งนี้ ชาวบ้านขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ประกอบกับก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี พระพุทธรูปศิลปะคันธาระอายุนับพันปีที่หน้าผาหุบเขาบามิยันประเทศอัฟกานิสถานถูกทำลายลง (ปี พ.ศ.2544) ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯจึงได้เกิดดำริแรงกล้าที่จะสร้างพระพุทธรูปใหญ่เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของศาสนิกชน และกำหนดให้เป็นปางคันธารราฐ (ปางขอฝน) เพื่อพุทธานุภาพของพระพุทธองค์จะช่วยดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ดังที่ท่านเคยปรารภ
ไว้ว่า

“ได้ฟังมาว่าเนื้อที่ตรงนี้ดี แต่กักเก็บน้ำไม่อยู่ ก็คิดว่าหากเราจะสร้างพระพุทธรูปขึ้นสักองค์ ควรจะสร้างปางคันธารราฐ หรือปางขอฝน บางทีอาจช่วยให้ฝนตกได้”

พระพุทธเมตตา 5
รูปปั้นสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) ภายในอาคารนิทรรศการอนุสรณ์แห่งการตื่นรู้

คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

ปณิธานอันแน่วแน่
สมเด็จพระมหาธีราจารย์ดำริให้สร้างพระพุทธคันธารราฐปางขอฝนขนาดใหญ่ สูง 32 เมตร และให้พระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์” ซึ่งมีความหมาย 3 ประการ คือ

1. เป็นพระพุทธรูปซึ่งเป็นที่พึ่งของชาวไทยและชาวโลก

2. เป็นพระพุทธรูปซึ่งเป็นที่พึ่งของ 3 โลก ได้แก่ โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และยมโลก

3. เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระพุทธรูปแห่งบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ทุ่มเทเวลาหาข้อมูลในการดำเนินการสร้างและบอกบุญแก่ผู้มีจิตศรัทธาให้ร่วมกันทำบุญสร้างพระพุทธรูปองค์นี้เป็นเวลาหลายปี พร้อมกันนั้นท่านก็ได้ปั้นหุ่นจำลองพระต้นแบบด้วยตัวท่านเอง จนเมื่อวันวิสาขบูชา พ.ศ. 2553 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีเจริญพระพุทธมนต์
และทรงสดับพระธรรมเทศนา ณ วัดชนะสงคราม ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯจึงถวายพระพรถึงความตั้งใจที่จะสร้างพระพุทธรูปดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงรับเป็นพระราชธุระที่จะทรงช่วยให้การดำเนินการเป็นรูปธรรมและเกิดผลสำเร็จลุล่วง

พระพุทธเมตตา 3
ภาพพระพุทธรูปแห่งบามิยัน

พุทธลักษณะอันงดงาม
พระพุทธเมตตาประชาไทยฯเป็นพระพุทธรูปที่ผสมผสานศิลปะคันธาระ (ซึ่งเป็นประติมากรรมกรีกผสมอินเดีย) กับพุทธศิลป์อย่างไทยได้อย่างงดงาม โดยมีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางคันธารราฐหรือปางขอฝนหล่อด้วยโลหะสำริดสูง 32 เมตร อันหมายถึงอาการแห่งกายครบ 32 ประการของมนุษย์(มหาปุริสลักษณะ) อยู่ในอิริยาบถประทับยืน ทรงผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าอาบน้ำฝน) พระหัตถ์ขวายกขึ้นราวพระอุระ (อก) ทำกิริยากวักเรียกน้ำฝน พระหัตถ์ซ้ายทอดหงายในระดับพระโสณี (สะโพก) เป็นกิริยารองรับน้ำฝน ซึ่งถือว่ามีลักษณะกายวิภาคที่เหมือนจริงและงดงามตามธรรมชาติ ประดิษฐานอยู่บนฐานสูงประมาณ 8 เมตร กล่าวได้ว่าเป็นพระพุทธรูปสำริดที่สูงที่สุดในประเทศไทย

ความท้าทายทางวิศวกรรม
การสร้างองค์พระพุทธเมตตาประชาไทยฯสะท้อนถึงความเจริญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมากที่สุดแห่งยุค  เนื่องจากเป็นการสร้างองค์พระพุทธรูปแบบลอยตัวความสูง 32 เมตร ประดิษฐานบนฐานสูง 8 เมตร ให้มีความมั่นคงท่ามกลางสภาพภูมิประเทศที่อ่อนไหวต่อการเกิดแผ่นไหว เนื่องจากอยู่ใกล้รอยเลื่อนถึงสองแห่ง ทั้งยังเป็นพื้นที่โปร่งโล่งที่เสี่ยงต่อการปะทะแรงลมและพายุต่าง ๆ

พระพุทธเมตตา 6
ภาพจำลองโครงสร้างพระบาทขององค์พระพุทธเมตตาฯ

โดยทั่วไปการสร้างประติมากรรมที่มีขนาดสูงและใหญ่ ฐานด้านล่างมักมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย แต่พระพุทธเมตตาประชาไทยฯ มีแต่เพียงโครงเหล็ก ส่วนขาทั้งสองของพระพุทธรูปที่ห่างกันเพียงแค่ 2 เมตรเป็นจุดรับน้ำหนักองค์พระทั้งองค์โดยไม่มีส่วนค้ำยันแต่อย่างใด การก่อสร้างจึงต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรคำนวณ
ตั้งแต่การออกแบบโครงสร้างเหล็กจนถึงการทดสอบรับแรงพายุและแรงแผ่นดินไหว ซึ่งสามารถต้านทานได้ 9.7 แมกนิจูด นับเป็นการหลอมรวมวิชาความรู้ เทคโนโลยีในการก่อสร้างเพื่อให้องค์พระมีความมั่นคงแข็งแรง สามารถ
คงทนอยู่ได้เป็นเวลานับพันปี

พระพุทธเมตตา 3
อ่างเก็บน้ำภายในโครงการฯ

คลิกเลข 3 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

พุทธอุทยานแห่งธารธรรม
นอกเหนือจากความสง่างามโดดเด่นของพระพุทธเมตตาประชาไทยฯแล้ว พื้นที่โดยรอบยังออกแบบให้เป็น “พุทธอุทยาน” ที่แวดล้อมด้วยพันธุ์ไม้ในพุทธประวัติ อาทิ ต้นพระศรีมหาโพธิ ต้นไทรนิโครธ ต้นสาละ เป็นต้น เพื่อให้อดีตพื้นที่แห้งแล้งแห่งนี้เป็นสวนป่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ซึ่งจะเติบใหญ่เป็นสวนที่เขียวขจีใจอนาคต

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการชุด “อนุสรณ์แห่งการตื่นรู้” ที่จัดแสดงไว้ทั้งภายในอาคารนิทรรศการและนิทรรศการกลางแจ้ง เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมทั้งมีอ่างเก็บน้ำเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบได้พึ่งพาและใช้ประโยชน์ด้วยแบบจำลองโครงสร้างองค์พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์
ศูนย์รวมจิตใจของประชาชน
พระมหาชะโลม ปญฺญาวชิโร เจ้าคณะอำเภอห้วยกระเจา และเจ้าอาวาสวัดทิพย์สุคนธาราม ได้กล่าวถึงการสร้างพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ไว้ว่า

“อำเภอห้วยกระเจาเปรียบเสมือนอีสานของกาญจนบุรี เพราะแห้งแล้งมาก เมื่อโครงการนี้เกิดขึ้น หน่วยงานต่าง ๆ ก็เข้ามาประสานความร่วมมือให้โครงการสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี วัดทิพย์สุคนธารามจึงเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้มีประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาทำบุญและปฏิบัติธรรมที่วัดมากขึ้น ทางวัดเองก็จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้และ
คุณธรรมให้กับผู้ที่เข้ามาในวัดด้วย

 “อาตมาภาคภูมิใจมากที่มีส่วนดูแลวัดตั้งแต่ยังเป็นป่า และเข้ามาดูแลโครงการนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม และพูดเสมอว่าให้ชาวบ้านในอำเภอห้วยกระเจาดีใจและภูมิใจ เพราะถือว่ามีบุญที่มีโครงการใหญ่ของประเทศมาสร้างในชุมชน ช่วยเกื้อกูลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในบริเวณนี้ดีขึ้น มีน้ำใช้ มีสัมมาอาชีพพอเพียงกับการดำรงชีวิต พระ-
พุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนในอำเภอห้วยกระเจา พุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วประเทศ และแผ่ไพศาลไปถึงพุทธศาสนิกชนทั่วโลกด้วย”

พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์เป็นพระพุทธปฏิมาที่พรั่งพร้อมด้วยความงดงาม เป็นศูนย์รวมจิตใจและพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวโลก และถือเป็นพระพุทธรูป
ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงประชาในทุกด้าน 

 


ท่านสามารถสักการะพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ได้ทุกวัน  ส่วนของนิทรรศการอนุสรณ์แห่งการตื่นรู้ เปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 16.00 น.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิพระพุทธเมตตาประชาไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สำนักงานกาญจนบุรี โทร. 0-3451-0993 และสำนักงานกรุงเทพฯ โทร. 0-2787-7081

เรี่อง เชิญพร คงมา

ภาพ วรวุฒิ วิชาธร, สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.