กลับบ้าน

พาใจกลับบ้าน บทความดีๆ จาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

พาใจกลับบ้าน : พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

สมัยที่ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรม ผู้เขียนเป็นคนใจร้อน หากต้องการอะไรก็จะให้ได้ดังใจ ถ้ารออะไรนาน ๆ จะหงุดหงิด เมื่อต้องเดินทางไกลก็จะรู้สึกเบื่อหน่ายเสียเวลา ขณะที่มีความรู้สึกหงุดหงิดหรือเบื่อหน่ายเกิดขึ้น ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าเรากำลังสร้างทุกข์ให้ตัวเอง ทำให้ใจของเราแย่ลง สีหน้าและบุคลิกภาพก็พลอยแย่ตามไปด้วย ( พาใจกลับบ้าน )

ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราเอาใจไปผูกไว้กับสิ่งที่คาดหวัง ที่เรารอคอย หรือจุดหมายปลายทาง ครั้นไม่ได้ดังใจก็เกิดความหงุดหงิด เบื่อหน่าย พลอยทำให้อารมณ์เสีย จนกลายเป็นนิสัยนำทุกข์มาให้ตัวเอง

เมื่อผ่านการปฏิบัติธรรมมาพอสมควร ผู้เขียนได้เปลี่ยนแง่คิด มุมมอง และวางใจเสียใหม่ แทนที่จะเอาใจไปผูกไว้กับเรื่องที่รอคอยอยู่ก็เอาใจกลับมาอยู่กับกายของตัวเอง กายนั้นเป็นบ้านของใจ เพราะเป็นสถานที่ที่ใจอาศัยอยู่ เมื่อเอาใจมาอยู่กับกาย ก็เหมือนให้ใจอยู่กับบ้าน เวลาใจคิดถึงเรื่องต่างๆ มันก็จะไม่รับรู้กาย เท่ากับว่าใจทิ้งกายออกไปเที่ยวนอกบ้าน โดยความเป็นจริงแล้ว ใจชอบหนีออกไปเที่ยวนอกบ้านบ่อยๆ ไม่ค่อยจะอยู่กับบ้าน

ข้างนอกบ้านมีภัยสารพัดอย่าง ใจที่ชอบหนีออกไปเที่ยวนอกบ้านจึงได้รับภัย ทำให้ใจมีทุกข์อยู่เป็นประจำ

ในบ้านมีงานให้ทำ มีสิ่งที่ให้รับรู้ตั้งหลายอย่าง ถ้าเราต้องตรากตรำกับงานมานาน ลองนั่งลงแล้วสังเกตดูสิว่าร่างกายของเรามีความรู้สึกใดๆ เกิดขึ้น เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เคร่งตึงเครียดบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหรือไม่ สังเกตด้วยความตั้งใจให้เห็นและรับรู้ความเป็นจริงว่ามีความรู้สึกดังกล่าวหรือไม่ หากพบว่าความรู้สึกที่ว่านี้มีอยู่บริเวณส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็รับรู้ด้วยใจเป็นกลาง อย่าไปมีอคติในทางยินดียินร้ายต่อสิ่งนั้น สังเกตความรู้สึกที่เด่นชัดนั้นไปเรื่อย ๆ แล้วเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของความรู้สึกนั้น ทำใจให้เบาสบายขณะที่สังเกตความรู้สึกดังกล่าว ไม่ช้าความรู้สึกที่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเคร่งตึงเครียดก็จะค่อยๆ ผ่อนคลายไปในทางที่เบาสบาย เท่ากับว่าเราสบายใจสบายกายไปแล้ว

หรือหากไม่มีความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เคร่งตึงเครียดบริเวณใดๆ ของร่างกาย ก็ให้สังเกตดูว่ามีความรู้สึกอื่นๆ ที่เด่นชัดบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกายหรือไม่ ความรู้สึกมีมากมายหลายชนิดเช่น เหงื่อออกหรือชื้นๆ (ธาตุน้ำ) อุ่นๆ หรือร้อนผ่าว (ธาตุไฟ) หนัก ๆ แน่นๆ (ธาตุดิน) กายที่ไม่อยู่นิ่งส่วนใดส่วนหนึ่งเคลื่อนไหวแม้เพียงแผ่วเบา (ธาตุลม) ไม่เพียงแต่เท่านั้น ความรู้สึกอื่นๆ ก็มีอีกมากมาย ได้แก่ ปวด เมื่อย ล้า หนัก ปลอดโปร่ง โล่ง เบา สบาย ชา เย็น เคร่ง ตึง เนื้อเต้น คันเหมือนมีแมลงมาไต่บนผิวกาย หรือเหมือนมีพลังงานเลื่อนไหลอยู่ในกาย เป็นต้น

ความรู้สึกจะมีอยู่ในทุกๆ ส่วนของร่างกาย เพราะตามธรรมชาตินั้นร่างกายประกอบด้วยธาตุ 4 ซึ่งอนุภาคของธาตุ 4 จะเกิด – ดับอย่างรวดเร็วยิ่งตลอดเวลา การเกิด – ดับก่อให้เกิดความรู้สึกที่ละเอียดระยิบระยับเลื่อนไหลอยู่ทั่วสรรพางค์กาย นอกจากนี้อารมณ์ความรู้สึกของใจก็จะส่งผลสะท้อนออกมาเป็นความรู้สึกของกายอีกด้วย เป็นต้นว่าขณะโกรธกล้ามเนื้อจะเกร็ง หน้าท้องจะเครียด หัวใจจะเต้นแรง ความดันในเส้นเลือดจะสูง ใบหน้าจะบึ้ง เป็นต้น

สิ่งแวดล้อมภายนอกก็ส่งผลถึงความรู้สึกต่อร่างกายด้วย เช่น อากาศเย็นจะหนาว ถ้าเย็นมากจะสั่น อากาศร้อนเหงื่อจะออกในทำนองเดียวกัน กลิ่นบางกลิ่นก็ส่งผลต่อความรู้สึกทางกายเช่นกัน เป็นต้นว่า กลิ่นและควันธูปถ้ามากจะแสบตา รู้สึกอึดอัด หายใจไม่ค่อยออก เสียงก็ส่งผลต่อความรู้สึกทางร่างกาย เช่น เสียงเบส ที่ดังแรงเหมือนเข้าไปสั่นสะเทือนอยู่ในหน้าอกทำให้ร่างกายไม่สบาย อึดอัด เครียด สุขภาพและการตรากตรำงานก็มีผลต่อความรู้สึกของร่างกาย เช่น หากไม่สบายจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อย ล้า ไม่มีแรง ทำงานมามากจะรู้สึกเหนื่อย ล้า ปวด เมื่อย เป็นต้น

การที่ใจกลับเข้ามาอยู่ใน บ้าน มาสังเกตความรู้สึกต่างๆ ที่มีอยู่ในร่างกาย เท่ากับว่าให้ใจได้มาอยู่กับความจริง ได้มาเรียนรู้ความเป็นจริงอันเป็นสัจธรรมและมีค่าควรแก่การเรียนรู้ กล่าวคือ

  1. ได้เรียนรู้ว่า ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามธรรมชาติของมัน โดยที่เราไม่สามารถบังคับได้เลยว่า ขอให้ความรู้สึกเช่นนี้(ตามที่เราชอบ) เกิดขึ้นและอยู่นานๆ เถิด หรือความรู้สึกเช่นนั้น (ที่เราไม่ชอบ) อย่าได้เกิดขึ้นเลย หรือหากเกิดแล้วก็ขอให้หายไปเร็วๆ อย่าได้กลับมาอีกเลย แต่โดยความเป็นจริงแล้วความรู้สึกทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามเหตุปัจจัย
  2. ฝึกให้ใจอยู่กับความเป็นจริง รับรู้ความเป็นจริง และยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับกายล้วนเป็นของจริงทั้งสิ้น ต่างกับความคิดที่ใจชอบคิดปรุงแต่งเรื่องราวต่างๆ มากมายความคิดเหล่านั้นมีความจริงอยู่น้อย เพ้อฝัน และเลื่อนลอยเป็นส่วนใหญ่
  3. ฝึกให้ใจรับรู้ความรู้สึกอย่างไม่มีอคติ ทั้งในทางที่ชอบและชังสร้างพฤติกรรมของจิตให้มีความเที่ยงธรรม มีความเป็นอุเบกขาด้วยความเข้าใจว่าทุกความรู้สึกทางกายเป็นไปตามเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นของชั่วคราว เป็นของธรรมดา ไม่ควรที่จะไปยินดียินร้าย ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพของจิต

ขณะที่เรานำใจกลับบ้าน ให้มาเฝ้าอยู่กับปรากฏการณ์ภายในบ้าน ช่วงเวลานั้นได้ตัดกระแสการปรุงแต่งของจิตที่ไปผูกอยู่กับการรอคอย อันเป็นเหตุให้หงุดหงิด ขุ่นมัว นำทุกข์มาให้ ไม่ช้างานที่รอคอยก็เสร็จ จนบางครั้งเรากลับรู้สึกว่าเสร็จเร็วจัง ยังสำรวจความเป็นไปต่างๆ ภายใน บ้าน ไม่ครบถ้วนเลย

หรือถ้าต้องเดินทางไกล เราก็มีเวลาสำรวจ บ้าน ในซอกมุมต่างๆได้อย่างทั่วถึง โดยรู้สึกเพลิดเพลินตื่นตาตื่นใจต่อการได้รับรู้ถึงความรู้สึกอันหลากหลายและธรรมชาติของความรู้สึกนั้นๆ แทนที่จะรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการเดินทางเหมือนเช่นที่เคยเป็นมา นอกจากนี้ยังช่วยให้ร่างกายสดชื่น ตื่นตัว ไม่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าด้วย

การปฏิบัติเช่นนี้ทำให้กิเลสใหม่ไม่เข้ามา ขณะเดียวกันก็ช่วยทอนกำลังของกิเลสเก่าที่มีอยู่ให้อ่อนลง ผู้อ่านลองนำไปฝึกปฏิบัติดูก็ได้ จะช่วยให้ใจเย็นลง มีความสุขมากขึ้น

วิธีการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยพิจารณาฐานกายานุปัสสนาสติปัฏฐานและเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในคราวเดียวกัน

เรื่อง : พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ


บทความน่าสนใจ

Dhamma Daily : หาก จิตใจวอกแวก ขณะสวดมนต์ จะยังได้อานิสงส์จาก การสวดมนต์ อยู่ไหม

วิธีเยียวยาอาการทางจิตใจ ในเหยื่อที่ถูกข่มขืน ทำร้ายร่างกาย

Dhamma Daily : นั่งสมาธิแล้วจิตคิดฟุ้งซ่าน ควรทำอย่างไรดี

ข้อคิดเกี่ยวกับกรรมดี กรรมชั่ว และการให้ผลของกรรม‬

มาติกมารดา ผู้รู้วาระจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.