เกิดมาทำไม

เกิดมาทำไม บทความธรรมะจาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

เกิดมาทำไม บทความธรรมะจาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

เมื่อยังไม่รู้ธรรมะ ผู้เขียนถามตนเองอยู่บ่อยครั้งว่า เกิดมาทำไม ทำไมต้องเกิด และ จะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร

คำตอบที่ให้ตนเองนั้นดูจะไม่ชัดเจนและไม่มั่นใจว่าจะถูกต้องหรือไม่ ต่อเมื่อมีโอกาสศึกษาปฏิบัติธรรมและได้บวชแล้ว จึงมีความเข้าใจว่าคนเราเกิดมาทำไมและจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ผู้เขียนเห็นว่า ความเข้าใจในเรื่องนี้มีความสำคัญต่อชีวิต เพราะหากเข้าใจผิดก็จะดำเนินชีวิตไปในทางที่ผิด ความเข้าใจถูกจะนำพาชีวิตไปในทางที่ถูก ไม่เสียโอกาสที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งกว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นของยากยิ่ง

เหตุที่เรายังต้องเกิดมาหรืออยู่ในกระแสของการเวียนว่ายตายเกิด (วัฏสงสาร) นั้น เพราะเราไม่รู้ความเป็นจริงหรือ อวิชชา คือไม่รู้ในหลักของ อริยสัจสี่ ว่าชีวิตตั้งอยู่บนพื้นฐานของความ ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ก็คือ ตัณหา อันได้แก่ ความอยากหรือความยินดีพอใจ (กามตัณหา ภวตัณหา) กับความไม่ยินดีพอใจ (วิภวตัณหา) โดยมีความยึดหรือ อุปาทาน ต่อตัณหาดังกล่าว นี่เป็นเหตุที่นำเรามาเกิดหรือสายเกิด

ส่วนการที่จะตัดกระแสของการเกิดหรือ นิโรธ นั้นมีอยู่ นั่นคือถอดถอนตัณหาออกจากจิตโดยสิ้นเชิง วิธีการที่จะปฏิบัติเพื่อถอดถอนตัณหาได้ก็คือ มรรคมีองค์แปด หากปฏิบัติตามมรรคทั้งแปดองค์ได้สมบูรณ์แล้ว ก็ถึงอรหัตผล ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก นี่เป็นสายดับ

เรื่องนี้ดูจะเข้าใจยากสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้ง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะนำมากล่าวถึงเรื่องที่จะนำเสนอในที่นี้ซึ่งก็คือ เราจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร

เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีชีวิตอยู่เพื่อทำหน้าที่ หน้าที่ที่จะต้องทำมีอยู่สองประเภท ประเภทแรก หน้าที่ต่อผู้อื่นและสิ่งอื่น ประเภทที่สอง หน้าที่ต่อตนเอง

หน้าที่ต่อผู้อื่น ได้แก่ หน้าที่ต่อบุคคลที่เราสัมพันธ์ด้วย นับตั้งแต่บุคคลใกล้ชิดที่มีความสัมพันธ์กันแนบแน่นในครอบครัว เช่น มารดา บิดา สามี ภรรยา บุตร ญาติพี่น้อง ห่างออกไปก็มีมิตรสหาย บุคคลในองค์กรที่เราร่วมงานด้วย ตลอดจนผู้คนในสังคม ไม่เว้นแม้แต่สัตว์เลี้ยง ซึ่งเราจะต้องปฏิบัติต่อบุคคลดังกล่าวตามขนบธรรมเนียม ประเพณี ค่านิยม กฎระเบียบข้อบังคับ และพันธกรณีที่มีต่อกัน การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข จึงต้องยึดหลักของการทำเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น อยู่อย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักรับผิดชอบในหน้าที่ รู้จักข่มใจต่อสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย มีความอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยากลำบาก ทั้งทางใจและทางกาย รู้จักเสียสละแบ่งปัน รู้จักให้อภัยผู้อื่น นอกจากนี้ควรใช้หลัก พรหมวิหารธรรม อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา มาเป็นแนวทางในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ธรรมดังกล่าวเป็นหลักธรรมกว้างๆ แต่ก็ใช้ได้ผลดี

การทำหน้าที่ต่อผู้อื่นต้องมีความเข้าใจว่า คนเรามีความแตกต่างกันทั้งด้านร่างกายและจิตใจ พฤติกรรมจึงต่างกันเป็นธรรมดา เมื่อเป็นเช่นนี้จะให้คนที่เราสัมพันธ์ด้วยมีพฤติกรรมอย่างที่เราต้องการในทุกกรณีนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องเข้าใจในความแตกต่าง ยอมรับความแตกต่างโดยไม่แตกแยก

ส่วน หน้าที่ต่อสิ่งอื่น หมายถึงต่อสิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ เช่น ของใช้เพื่อการยังชีพและประกอบธุรกิจการงาน เราก็ต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งานหรือชะลอความเสื่อม อย่างไรก็ตาม วัตถุสิ่งของทั้งหลายมีธรรมชาติที่จะต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา ต่อให้ดูแลรักษาดีเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถทำให้มันคงอยู่ในสภาพเดิมได้

หน้าที่ต่อตนเอง ประการแรก หน้าที่ในการเลี้ยงดูกาย คนส่วนใหญ่จะเอาใจใส่ในการเลี้ยงดูกายอยู่แล้ว โดยเฉพาะอาหารการกิน จะเลือกกินแต่อาหารที่ตนชอบ แม้ว่าอาหารบางอย่างจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ หากบริโภคเข้าไปมากๆ กลับเป็นผลเสียต่อสุขภาพด้วย โรคภัยไข้เจ็บหลายอย่างจึงเข้าทางปาก การดูแลรักษาร่างกายก็เพื่อให้มีอายุยืนยาว มีสุขภาพดี แต่ต่อให้ดูแลรักษาสุขภาพดีเพียงใดก็ตาม ร่างกายก็ต้องแก่ เจ็บ และตายเป็นธรรมดา ไม่ต่างไปจากการดูแลรักษาวัตถุสิ่งของเลย เราจึงต้องเตรียมใจที่จะยอมรับความแก่ ความเจ็บ และความตายซึ่งกำลังเดินทางเข้ามาด้วยใจที่กล้าหาญ ไม่หวั่นไหว เพราะเป็นความจริงที่ทุกคนจะต้องพบ

หน้าที่ต่อตนเองอีกประการหนึ่งก็คือ การดูแลรักษาและพัฒนาจิตใจ ซึ่งมีความสำคัญที่สุดสำหรับการเกิดมาเป็นมนุษย์ จิตที่ได้รับการพัฒนาแล้วจะนำสุขมาให้ นอกจากนี้จะทำการสิ่งใดก็ย่อมดี นำคุณประโยชน์มาสู่ตนเองและผู้อื่น คนเราจะดีจะชั่วจะสุขจะทุกข์ ก็ขึ้นอยู่กับจิตของตน ทุกคนต่างก็ปรารถนาความสุข แต่กลับสร้างทุกข์ให้ตนเองอยู่ร่ำไป เรารู้ว่าอารมณ์เหล่านี้เป็นทุกข์ เช่น ความโกรธ ความเครียด ความวิตกกังวล ความห่วงใย ความอิจฉาริษยา ความเหงาซึมเศร้า แต่เรากลับปล่อยให้อารมณ์เหล่านี้บางอารมณ์เกิดขึ้นกับตนเองทุกเมื่อเชื่อวัน โดยไม่สามารถระงับยับยั้งหรือสลัดละวางออกจากจิต กลับสร้างความคุ้นเคยเป็นพฤติกรรมของจิตจนยากที่จะแก้ไขได้

การเลี้ยงดูกายนั้น หากอาหารใดที่บูดเน่าเป็นของเสียหรือมีรสไม่อร่อยเราจะไม่กิน แต่จิตใจนั้นเรากลับให้จิตเสพของเสียที่บูดเน่า คำพูดส่อเสียด นินทาว่าร้าย หรือพฤติกรรมที่ไม่ดีของคนบางคนเป็นเสมือนของเสียที่บูดเน่าเพราะแสดงออกมาจากใจที่เสีย เมื่อสิ่งนั้นมากระทบ เรากลับรับมาเสพเป็นอารมณ์ของจิต จิตจึงพลอยเสียไปด้วย แทนที่จะรีบเอาทิ้งเสีย กลับหวงแหนเก็บเอาไว้เสพหรือครุ่นคิดอยู่เนืองๆ โดยที่ไม่มีใครบังคับให้ทำเช่นนั้น ความรู้ต่างๆ ที่อุตส่าห์เล่าเรียนมาทางโลกกลับไม่ช่วยอะไรได้เลย เป็นความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอดจากความทุกข์

ที่เป็นเช่นนี้เพราะทุกคนเกิดมามีกิเลสตัณหาติดมากับจิตด้วย หากหมดกิเลสตัณหาก็คงไม่ต้องเกิดอีก กิเลสตัณหาไม่เคยเกรงกลัวใคร และไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะเอาชนะมันได้ มีแต่ธรรมะเท่านั้นที่จะเอาชนะกิเลสตัณหาได้ การดูแลรักษาและพัฒนาจิตจึงต้องใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือในการพัฒนา เพราะลำพังความรู้ทางโลกมีแต่จะส่งเสริมให้กิเลสตัณหาและอุปาทานมีกำลังเข้มแข็งขึ้น ไม่สามารถที่จะสร้างสันติสุขภายในให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

พระพุทธองค์ทรงให้แนวทางในการพัฒนาจิตไว้คือ สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน ทางปฏิบัติทั้งสองนี้จะช่วยให้จิตได้รับการพัฒนา จากจิตหยาบไร้คุณธรรมสู่จิตประณีตมีคุณธรรม จากจิตที่มากด้วยทุกข์สู่จิตที่มีสันติสุข จากจิตที่มากด้วยตัณหาสู่จิตที่เปี่ยมด้วยปัญญาหรือวิชชา เปลี่ยนจากจิตปุถุชนเข้าสู่จิตอริยชนได้ในที่สุด

ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านทุกท่านใช้โอกาสของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พัฒนาจิตของท่านตามแนวทางที่พระพุทธองค์ประทานไว้ อย่าให้เสียโอกาสที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์เลย

 

เรื่อง: พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

ที่มา: คอลัมน์ You Are What You Do นิตยสาร Secret

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.