ธรรมะ

ปี (ไม่) ใหม่ – ธรรมะ จากพระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

ปี (ไม่) ใหม่ – ธรรมะ จากพระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

บทความ ธรรมะ โดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ชาวโลกสมมุติกันว่า “ปีใหม่” ซึ่งโดยความจริงแล้วไม่มีวันใหม่ เดือนใหม่ หรือปีใหม่ แม้เทศกาสงกรานต์ ตรุษสารท ก็ไม่มี มีแต่กาลเวลาที่เคลื่อนผ่านไป ล่าต้อนสรรพสิ่งทั้งหลายไปสู่ความเก่า แก่ (ชรา)ชำรุดทรุดโทรม และแตกสลาย (มรณะ) ไปในที่สุด

วันใหม่ เดือนใหม่ ปีใหม่ ตลอดจนเทศกาลต่างๆ เป็นเพียงสิ่งที่ชาวโลกสมมุติกันขึ้นมา โดยเป็นที่ยอมรับและถือปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง ถ้าจะนับทรัพยากรที่ชาวโลกใช้ในการฉลองปีใหม่กันแล้วมากมายมหาศาล หลายอย่างไม่ก่อให้เกิดคุณประโยชนใดๆ เลย และหลายคนต้องจบชีวิตไปกับการฉลองปีใหม่อย่างน่าอเนจอนาถ

เมื่อพูดถึงเทศกาลปีใหม่ คนเราจะใช้เวลาช่วงดังกล่าวแตกต่างกัน สมัยที่ผู้เขียนเป็นฆราวาส ยังไม่รู้เรื่องธรรมะ บางปีฉลองวันขึ้นปีใหม่จนโต้รุ่งเพื่อความสนุกสนานบันเทิง ผลที่ได้ก็คือเมา เพลีย เสียเงินเสียสุขภาพ

สมัยที่เป็นนักศึกษา เป็นนักกิจกรรม เป็นกรรมการจัดงานปีใหม่เมื่อสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา งานสมัยนั้นมีฟลอร์เต้นรำใหญ่กลางสนามฟุตบอล วงดนตรียอดฮิตเพื่อการเต้นรำก็ต้องสุนทราภรณ์ มีคนมาร่วมงานกันมากมาย

ในฐานะที่เป็นกรรมการจัดงานก็ต้องเหนื่อยก่อนวันงานหลายวัน แม้หลังเลิกงานแล้วก็ต้องเหนื่อยกับการสะสางงาน ผลที่ได้คือบันเทิงอารมณ์ แต่ไม่ประเทืองปัญญา นักศึกษายุคนั้นชอบจัดและเที่ยวงานราตรีสโมสร หรือที่เรียกกันว่างานบอลล์

เมื่อสำเร็จการศึกษาออกมาทำงานก็ฉลองปีใหม่ตามประสาชาวโลก บางปีไปกินเลี้ยงที่หน่วยงานเขาจัด บางปีไปตามบ้านเพื่อนสนิทมิตรสหายที่เขาชวน บางปีพาครอบครัวไปกินอาหารตามร้านหรู บางปีอยู่บ้านหาอาหารมาฉลองกันพอเป็นพิธี บางปีก็ทำเป็นไม่ให้ความสำคัญกับเจ้าวันปีใหม่ เพราะเห็นว่าเป็นวันธรรมดาๆ วันหนึ่งเท่านั้น จึงอยู่บ้านทำความสะอาด เก็บกวาดบ้าน อ่านหนังสือ รดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ยต้นไม้ พักผ่อนให้สบาย

ปีที่ว่านี้รู้สึกสบายกายสบายใจมาก แถมไม่ต้องเสียเงินไปกับการเลี้ยงฉลองที่ไร้สาระอีกด้วย

ปีที่ลืมไม่ลงคือพาครอบครัวไปเที่ยวภูเก็ต ขับรถจากกรุงเทพฯไป 11 ชั่วโมง ถึงภูเก็ตตอนพลบค่ำ ไม่ได้จองที่พักไว้ล่วงหน้า ด้วยนึกไม่ถึงว่าคนจะแห่กันมาเที่ยวปีใหม่ที่ภูเก็ตมากมายถึงเพียงนี้ โดยเฉพาะพวกฝรั่งมังค่าดูเต็มไปหมด กว่าจะหาที่พักได้เกือบสี่ทุ่ม ทั้งหิวทั้งเหนื่อย ผลที่ได้คือเหนื่อยมาก เสียเงินมาก เสียเวลามาก รู้อย่างนี้อยู่ที่บ้านดีกว่า

เทศกาลปีใหม่ ตลอดจนเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีวันหยุดหลายวัน คนจำนวนมากจะเดินทางไปต่างจังหวัด บ้างก็กลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่ญาติพี่น้อง บ้างก็ไปเที่ยวพักผ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จนเนืองแน่นไปหมด กลายเป็นว่าไปแย่งกันกิน แย่งกันอยู่ แย่งกันดูวิวทิวทัศน์ จนแออัดยัดเยียดกัน แทบจะหมดอารมณ์สุนทรีย์

การเดินทางบนท้องถนนที่เนืองแน่นไปด้วยยานพาหนะ จนการจราจรติดขัดยาวไกล และเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุตั้งแต่เล็กน้อยจนรุนแรงน่าสยดสยอง

หลายคนต้องเสียชีวิต หลายคนถึงกับพิการหลายคนได้รับบาดเจ็บ ไม่เพียงแต่ร่างกายเท่านั้น บางคนบาดลึกลงไปในจิตใจจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก นี่ไม่นับทรัพย์สินที่เสียหายไปจากยานพาหนะที่พังเพราะอุบัติเหตุและการรักษาพยาบาลอีกมากมาย

หากรู้ว่าจะต้องได้รับเคราะห์กรรมที่ร้ายแรงเช่นนี้ ผู้คนเหล่านั้นคงเลือกที่จะอยู่กับบ้าน แทนที่จะเดินทางไปฉลองปีใหม่อย่างแน่นอน

นอกจากการเฉลิมฉลองปีใหม่แล้ว ประเพณีการให้ของขวัญกันยังถือปฏิบัติมาจนทุกวันนี้ ผู้ให้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้น้อย นำของไปมอบหรืออวยพรแด่ผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่หรือผู้บังคับบัญชาบางคนอาจจะมีเมตตาหาของขวัญมาให้ผู้น้อย ที่นิยมกันก็คือนำของขวัญมาจับฉลาก แต่ละปีต้องเสียเงินไปกับการซื้อของขวัญให้กันมากมาย

การให้ของขวัญจะเป็นที่ถูกใจผู้รับนั้นมิใช่ของง่ายเลย ทั้งๆ ที่ผู้ให้เสียเวลาเลือกแล้วเลือกอีก คิดเอาเองว่าผู้รับน่าจะชอบ แต่เนื่องจากผู้รับไม่ได้มีรสนิยมเหมือนผู้ให้ เพราะมีวัยและสถานะต่างไปจากผู้ให้ เมื่อได้รับของขวัญที่ไม่ถูกใจก็ไม่นำไปใช้ บางครั้งก็นำไปให้คนอื่นต่อ ทำให้ผู้ให้ผิดหวังเสียกำลังใจ

การให้ที่แย่ที่สุดก็คือการให้สุรา บุหรี่ แม้จะเป็นของต่างประเทศและดูเหมือนว่าเป็นที่ถูกใจผู้รับ แต่การให้ดังกล่าวเป็นการทำร้ายสุขภาพของผู้รับ จึงเป็นการให้ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรักความปรารถนาดีต่อกันอย่างแท้จริง

การให้ทรัพย์สิ่งของล้วนต้องเสียเงินทั้งสิ้น ให้แล้วผู้รับอาจจะไม่ถูกใจก็ได้แต่ยังมีการให้อย่างหนึ่งที่ไม่ต้องเสียทรัพย์เลย เป็นของขวัญที่ผู้รับต่างก็อยากได้ ผู้ให้เมื่อให้แล้วก็สบายใจ

นั่นคือการให้ความรัก ความเมตตาต่อกัน และให้อภัยกัน

เมื่อผู้เขียนหันมาศึกษาธรรมะ การฉลองปีใหม่ก็เปลี่ยนไป บ่อยครั้งที่ไปปฏิบัติธรรมเท่ากับไปเติมคุณค่าให้ชีวิต เป็นการพัฒนาจิตให้มีความเข้มแข็ง มีพลังของความดีที่จะเอาชนะความชั่ว เพราะปุถุชนทุกคนย่อมมีความดีและความชั่วอยู่ในจิต

พลังทั้งสองอย่างต่อสู้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บางครั้งเราก็คิดดีทำดี แต่บางคราวเราก็คิดไม่ดีทำไม่ดี หลายครั้งที่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ดี แต่เราก็ยังทำ เมื่อทำไปแล้วก็รู้สึกเสียใจ สัญญากับตัวเองว่าต่อไปจะไม่ทำอีก แต่แล้วก็ยังทำอีก เรียกว่าทำผิดซ้ำซาก

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น…

ใจของเรามีพลังความดีและความชั่วต่อสู้กันอยู่ ขณะใดที่กำลังความดีเหนือกว่าความชั่ว ก็จะไม่คิดชั่ว ไม่ทำชั่ว หรือแม้ว่าความชั่วจะผุดขึ้นมาในจิต แต่ก็ถูกพลังฝ่ายดีที่เหนือกว่าข่มเอาไว้ เอาชนะฝ่ายชั่วได้ แต่ถ้าขณะใดที่ฝ่ายชั่วมีกำลังมากกว่าก็จะเอาชนะฝ่ายดี ทำให้ทำชั่วลงไปทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งนั้นเป็นความชั่ว

การปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจะช่วยเพิ่มพลังความดีเข้าสู่จิตได้อย่างมากมาย ทำให้จิตมีพลังของความดีที่จะเอาชนะความชั่ว และขจัดความชั่วให้ออกไปจากจิต แม้ไม่หมดไปโดยสิ้นเชิง แต่ก็ช่วยให้ฝ่ายชั่วคือกิเลสตัณหาซึ่งนำทุกข์มาให้อ่อนกำลังลง

ขณะที่ฝ่ายสติปัญญาของจิตมีกำลังเข้มแข็งขึ้น ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของเราไปในทางที่ดีขึ้น มีชีวิตอย่างมีคุณค่าและหาสันติสุขให้ตนเองได้มากขึ้น

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันปีใหม่ เราจะฉลองปีใหม่ให้ชีวิตของเรา อย่างไรดี เวลาให้ความยุติธรรมกับทุกๆ คนเสมอ เพราะแต่ละวันแต่ละคนต่างก็ได้เวลามา 24 ชั่วโมงเท่าๆ กัน ต่างกันที่ว่าจะใช้เวลาดังกล่าวอย่างไร

ใช้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามมีคุณค่าให้แก่ตนเอง หรือเพื่อทำร้ายทำลายตนเอง

เราเท่านั้นเป็นผู้เลือก

 


บทความน่าสนใจ

คนทำดี ต้องบอกต่อ : น้องรปภ.ชาวกัมพูชากับพี่สาวชาวไทย ช่วยตามหาเจ้าของกระเป๋าเงิน

อานิสงส์ของการรักษาศีล โดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ความยึดมั่นใน สีลัพพตุปาทาน -ถ้าเธอตาย ฉันจะตายตาม – หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.