หลักธรรมที่ชาวพุทธควรรู้

เคล็ดลับอยู่ร่วมกับคนอื่นแบบเป็นสุข 6 หลักธรรมที่ชาวพุทธควรรู้

เคล็ดลับอยู่ร่วมกับคนอื่นแบบเป็นสุข 6 หลักธรรมที่ชาวพุทธควรรู้

มีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่ช่วยเสริมให้เรามีความสุข เป็นต้นว่า การมีสุขภาพพลานามัยที่ดี การมีครอบครัวที่อบอุ่น การมีหน้าที่การงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี การอยู่ในถิ่นที่มีความสงบ ปลอดภัย การได้บรรลุถึงสิ่งที่เราปรารถนา เป็นต้น หลักธรรมที่ชาวพุทธควรรู้

ในบรรดาเหตุปัจจัยเหล่านี้ การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ทั้งในครอบครัว ที่ทำงาน มิตรสหาย และการคบหาสมาคมกับผู้อื่น เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อความสุขของเรา

มีธรรมเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น เพื่อให้เกิดความสามัคคีนำความสุขมาให้ ธรรมหมวดนี้มีชื่อว่า สาราณียธรรม เป็นธรรมที่พระสงฆ์ใช้ปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้กับหมู่คณะ ธรรมหมวดนี้ผู้เขียนเห็นว่าฆราวาสก็สามารถนำมาใช้ได้ จึงได้นำมาฝากผู้อ่าน

สาราณียธรรมมี 6 ประการดังนี้

1. เมตตากายกรรม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่เอาเปรียบผู้ที่เราอยู่ร่วมด้วย ไม่เกียจคร้านในหน้าที่การงาน ตรงกันข้าม นอกจากขยันขันแข็งในกิจอันเป็นหน้าที่แล้ว ยังอาสาช่วยงานของผู้อื่น ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อหมู่คณะ ไม่เป็นภาระของผู้อื่น

นอกจากนี้ยังต้องเป็นผู้ที่มีกิริยาสุภาพ ไม่ทำตัวเย่อหยิ่ง ยกตนข่มผู้อื่น ไม่ดูหมิ่นดูแคลนผู้ที่ด้อยกว่า ไม่เป็นคนก้าวร้าวเอาแต่ใจตัว ให้เกียรติกัน ให้ความคารพนับถือซึ่งกันและกันตามสถานภาพ

2. เมตตาวจีกรรม พูดจากันด้วยถ้อยคำที่สุภาพน่าฟัง ไม่นำเรื่องอันเป็นโทษมาเจรจากัน นำสิ่งอันเป็นสารประโยชน์มาสนทนากัน หากมีเรื่องจะตักเตือนกันก็บอกกันด้วยจิตเมตตา ใช้วาจาที่ไพเราะ พูดเพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลต่อกัน ไม่พูดความเท็จอันนำความเสื่อมเสียมาให้ ไม่นินทาว่าร้ายกัน ไม่ใส่ร้ายป้ายสีกัน เป็นต้น

3. เมตตามโนกรรม มองกันในแง่ดี ไม่จ้องจับผิดผู้อื่น ให้อภัยกันปรึกษาหารือกันเพื่อพัฒนาหมู่คณะให้มีความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป มีใจกว้าง ยอมรับความเห็นซึ่งกันและกัน ให้กำลังใจกัน ยินดีในความสำเร็จของผู้อื่น ไม่อิจฉาริษยากัน มีความรักและความปรารถนาดีต่อกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง

4. สาธารณโภคิตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ไม่ตระหนี่ถี่เหนียวเห็นแก่ได้ แบ่งปันทรัพย์สิ่งของที่มีอยู่ให้แก่ผู้ที่ขาดแคลน เพื่อช่วยให้เขาพ้นจากความทุกข์เข็ญตามสมควรแก่กรณี ไม่เบียดเบียนทรัพย์สิ่งของของผู้อื่นมาเป็นของตน บำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลางไว้เพื่อให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ยาวนาน

5. สีลสามัญญตา มีความประพฤติสุจริตทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เป็นผู้ที่มีศีล ประพฤติตามระเบียบกฎเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้  มีความซื่อสัตย์สุจริต เคารพในสิทธิหน้าที่ของผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่สร้างปัญหาให้หมู่คณะ ไม่ทำตนเป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ

6. ทิฐิสามัญญตา เข้ากับผู้อื่นได้ รับฟังความเห็นของผู้อื่น ยอมรับความเห็นที่แตกต่างโดยไม่ถือเป็นความแตกแยก ตั้งมั่นในคุณความดีอันเป็นกุศลกรรม ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนตน ดำเนินชีวิตในครรลองของความดีงาม เพื่อพัฒนาตนและหมู่คณะให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

ธรรมทั้ง 6 อย่างนี้ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กล่าวไว้ว่า เป็นธรรมที่มีคุณ คือเป็น สารณียะ ทำให้เป็นที่ระลึกถึง เป็น ปิยกรณ์ ทำให้เป็นที่รัก เป็น ครุกรณ์ ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อ สงเคราะห์ ทำให้เกิดความประสานกลมกลืนกัน เป็นไปเพื่อ ป้องกันการวิวาท เป็นไปเพื่อ ความสามัคคี และเป็นไปเพื่อ เอกภาพ หรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

หากเราสามารถนำธรรมทั้ง 6 ข้อนี้มาใช้ จะเกิดประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันอย่างมากมาย ไม่เพียงแต่ระงับข้อขัดแย้งอันนำไปสู่ความแตกแยกเท่านั้น ยังก่อให้เกิดพลังของความสามัคคีอันสร้างสรรค์ นำพาครอบครัว หมู่คณะ องค์กร สังคม และประเทศชาติไปสู่ความผาสุก มีความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืน

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.