ภูมิคุ้มกันความทุกข์

ยิ่งทุกข์ ยิ่งมีภูมิคุ้มกันความทุกข์ บทความให้กำลังใจจากพระไพศาล

ยิ่งทุกข์ ยิ่งมี ” ภูมิคุ้มกันความทุกข์ ” บทความให้กำลังใจจากพระไพศาล

ครั้งหนึ่งเคยมีความคิดในหมู่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำว่า  ถ้ามนุษย์สามารถเอาชนะเชื้อโรคทั้งหลายได้  สักวันหนึ่งจะไม่มีใครล้มป่วยเพราะโรคติดเชื้ออีกต่อไป ภูมิคุ้มกันความทุกข์

แต่มาถึงทุกวันนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า นั่นเป็นความฝัน เชื้อโรคจะต้องอยู่คู่กับมนุษย์เราไปตลอดกาล และมิใช่อยู่รอบตัวเราเท่านั้น หากยังอยู่ในตัวเราด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อป้องกันมิให้ล้มป่วยก็คือ การสร้างภูมิคุ้มกันโรค

ภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็มาจากการที่ร่างกายของเราได้รับเชื้อโรคจากภายนอก หากเป็นเชื้อโรคที่ไม่แรงถึงกับทำให้ตาย ร่างกายเราจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้น ๆ ขึ้นมา ทำให้ไม่ป่วยหากเชื้อโรคนั้นเข้ามาในร่างกายอีก การฉีดวัคซีนมิใช่อะไรอื่น หากเป็นการฉีดเชื้อโรคอ่อน ๆ หรือเชื้อที่ตายแล้ว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายของเรานั่นเอง

เชื้อโรคฉันใด ความทุกข์ก็ฉันนั้น มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราที่ไม่อาจหนีพ้นได้ ไม่ว่าเราจะมีเทคโนโลยีล้ำหน้า มีความมั่งคั่ง และอำนาจยิ่งใหญ่เพียงใด ก็ต้องเจอความทุกข์อยู่นั่นเอง ดังนั้นแทนที่จะคิดหนีความทุกข์ (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) เราจึงควรหาทางรับมือกับความทุกข์ วิธีหนึ่งก็คือ สร้างภูมิคุ้มกันความทุกข์ขึ้นมาในจิตใจ

ชีวิตที่มีแต่ความสะดวกสบาย ได้ทุกอย่างที่ปรารถนาไม่รู้จักความผิดหวังนั้น ดูเหมือนเป็นชีวิตที่น่าอิจฉา แต่แท้จริงเป็นชีวิตที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง เพราะขาดภูมิคุ้มกันความทุกข์ หากวันใดพบกับความผิดหวังหนัก ๆ ก็อาจเสียศูนย์  หรือถึงกับฆ่าตัวตาย เคยมีมาแล้วที่คนเรียนดีตั้งแต่เล็กจนโต แต่สุดท้ายกลับฆ่าตัวตาย เพราะทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกไม่สำเร็จ หรือลูกที่พ่อแม่เลี้ยงดูอย่างประคบประหงม  กลับฆ่าตัวตายเมื่ออกหัก  ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเขาเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องร้ายแรงหรือคอขาดบาดตาย แต่เป็นเพราะไม่มีภูมิคุ้มกันความทุกข์มาก่อน จึงโดนความทุกข์ท่วมทับจนไม่เห็นทางออกอย่างอื่นนอกจากความตาย

ดังนั้นใครที่ประสบความสำเร็จอยู่เสมอ มีชีวิตราบรื่นเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ จึงไม่ควรด่วนดีใจว่าเป็นคนมีโชคเพราะนั่นอาจเป็นเคราะห์ที่แฝงมาในรูปของโชคก็ได้ ส่วนคนที่เจออุปสรรคและความยากลำบากเป็นนิจ ก็อย่าน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา ลองสำรวจให้ดีก็จะพบว่า  ความทุกข์ให้สิ่งดี ๆ แก่คุณอย่างน้อยก็ช่วยให้คุณอดทนมากขึ้นและไม่กลัวความยากลำบาก

นักธุรกิจคนหนึ่งเป็นผู้ที่กลัวความล้มเหลวอย่างมาก ไม่ว่าลงทุนอะไร จะเลือกแต่กิจการที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด แม้เป็นกิจการที่ตนไม่ชอบก็ตาม จึงทำงานอย่างไม่ค่อยมีความสุข แล้ววันหนึ่งกิจการของตนก็ประสบปัญหา ขาดทุนอย่างหนักจนต้องเลิกกิจการ แม้เขาจะเสียใจ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาค้นพบก็คือความล้มเหลวนั้นไม่ได้เลวร้ายน่ากลัวอย่างที่คิด ฟ้ายังไม่ถล่มแผ่นดินยังไม่ทลาย นับแต่นั้นเขาก็ไม่กลัวความล้มเหลวอีกเลย เขากล้าเสี่ยงกล้าลงทุนมากขึ้น ทำให้มีความสนุกกับการทำงานอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน

ความล้มเหลวนั้นมีประโยชน์อย่างหนึ่งก็คือ ทำให้เรามีภูมิคุ้มกันความล้มเหลว ไม่เสียศูนย์ง่าย ๆ เมื่อเจอมันอีกสามารถปรับใจรับมือกับมันได้ดีขึ้น พูดอีกอย่างก็คือ ทำให้มันมีอิทธิพลในทางลบต่อเราน้อยลง เช่นเดียวกับสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบกับเรา แม้ไม่น่าพึงพอใจ แต่การที่ได้เจอมันบ่อย ๆ หรือเจอมันนาน ๆ ก็ทำให้เราเป็นทุกข์กับมันน้อยลง

ภูมิคุ้มกันความทุกข์
Photo by Felipe Cespedes from Pexels

เคยมีการทดลองแบ่งคนเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้นั่งอยู่ในห้องซึ่งมีเครื่องดูดฝุ่นส่งเสียงดังนาน 45 วินาที อีกกลุ่มหนึ่งอยู่ในห้องที่ดังก้องด้วยเสียงเครื่องดูดฝุ่นเช่นกัน แต่เสียงดังแค่ 5 วินาที จากนั้นผู้ทดลองขอให้ทุกคนตอบคำถามว่ารู้สึกรำคาญมากน้อยเพียงใดในช่วง 5 วินาทีสุดท้าย ปรากฏว่ากลุ่มที่รู้สึกรำคาญมากที่สุดคือ กลุ่มที่สอง ส่วนกลุ่มแรกนั้นไม่รู้สึกรำคาญเท่าใดเพราะหลังจากที่ฟังมาตลอด 45 วินาทีก็รู้สึกทนกับเสียงนั้นได้

กลุ่มที่สองนั้นดูเผิน ๆ เหมือนโชคดีที่มีเสียงรบกวนแค่ 5 วินาที แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับทุกข์มากกว่า ทั้งนี้เพราะยังไม่คุ้นกับเสียงนั้นนั่นเอง ตรงข้ามกับกลุ่มแรก ซึ่งเจอเสียงนั้นมาก่อนแล้วจึงมีภูมิคุ้มกันเสียงนั้น

ใครที่ไม่เคยเจอน้ำท่วมบ้านย่อมเป็นทุกข์อย่างมากเมื่อเจอเป็นครั้งแรก แต่ถ้าคุณเจอมันเป็นครั้งที่สอง เชื่อได้ว่าคุณจะรู้สึกเป็นทุกข์น้อยลง นี่เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ มีการวิจัยพบว่า เมื่อเกิดเหตุร้าย ผู้คนจะมีความรู้สึกเป็นบวกมากขึ้นหรือเป็นลบน้อยลงต่อเหตุการณ์ดังกล่าว หากว่าเคยประสบมันมาแล้วในอดีต ไม่ว่าเหตุร้ายนั้นจะได้แก่ความสูญเสีย ความล้มเหลว หรือความเจ็บป่วยก็ตาม ในทำนองเดียวกันคนที่เคยประสบกับความเจ็บปวดที่รุนแรงมาก่อน (เช่นจากอุบัติเหตุ) จะสามารถทนความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในภายหลังได้มากขึ้น

ภูมิคุ้มกันความทุกข์นั้น ในเบื้องต้นเกิดจากความเคยชินและความสามารถในการปรับตัวปรับใจของมนุษย์ แต่ยังมีภูมิคุ้มกันความทุกข์อีกระดับหนึ่งซึ่งเกิดจากปัญญาที่เข้าใจความทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง จนตระหนักว่ามันเป็นธรรมดาที่ไม่มีใครหนีพ้นอีกทั้งยังเห็นความจริงต่อไปด้วยว่า ความสูญเสีย ความเจ็บป่วย ความล้มเหลว ไม่ทำให้ใจเป็นทุกข์ได้เลย หากไม่ยึดติดถือมั่นกับสิ่งต่างๆ ว่าต้องเป็นไปดั่งใจเมื่อรู้เช่นนี้ก็ปล่อยวาง ไม่ยึดติดถือมั่น แต่ยังเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ตามเหตุและปัจจัยมากกว่าตามความอยากของตน

ภูมิคุ้มกันความทุกข์ประเภทหลังนี่แหละที่คุ้มกันใจให้ปลอดพ้นจากความทุกข์อย่างแท้จริง แม้มีเหตุร้ายแรงใด ๆ เกิดขึ้นกับชีวิต ไม่เว้นแม้กระทั่งความตาย

แต่ภูมิต้านทานประเภทหลังนี้ใช่ว่าจะเกิดได้ง่าย ๆ ไม่อาจได้มาจากการคิดเอา แต่ต้องเกิดจากการเจอความทุกข์บ่อย ๆ จนเกิดปัญญา เพราะมีแต่เจอทุกข์เท่านั้นจึงจะเห็นธรรม

 

ที่มา  นิตยสาร Secret


บทความน่าสนใจ

“ธรรม” ที่พึ่งพิงของชีวิต บทความให้แง่คิด จาก พระไพศาล วิสาโล

ไม่ยึดติดกับความคิด ธรรมะจากพระไพศาล วิสาโล

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.