ใส่บาตร

Dhamma Daily : ถ้าสวมรองเท้า ใส่บาตร จะบาปหรือเปล่า

Dhamma Daily :ถ้าสวมรองเท้า ใส่บาตร แล้วจะบาปไหม

อยาก ใส่บาตร โดยที่ไม่ถอดรองเท้า เพราะพื้นไม่สะอาดเอาซะเลย แต่จะบาปหรือเปล่า ลองถามพระอาจารย์ดูดีกว่า

ถาม:

ถ้าสวมรองเท้า ใส่บาตร จะบาปหรือไม่ เพราะบางสถานที่ เช่น ตลาด ริมทางเท้า ไม่สามารถถอดรองเท้าได้

พระอาจารย์มานพ อุปสโม ตอบปัญหาธรรมข้อนี้ไว้ว่า

ตอบ:

การถอดรองเท้าใส่บาตร หมายความว่า ผู้ทำเคารพในวัตถุทานที่ให้แบบไม่เจาะจงพระ น้อมใจถึงอริยะ บุญกุศลก็เกิดมาก หากถอดรองเท้าได้ก็ควรถอด แต่ถ้าเป็นเรื่องสุดวิสัยถอดไม่ได้จริง ๆ ก็ให้ตั้งใจเคารพในวัตถุทานนั้น

นอกจากนี้ พระราชญาณกวี ได้อธิบายถึงความสำคัญของการตักบาตรไว้ว่า

การตักบาตรเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญมาก พระอาจารย์มองดูว่า วิถีชีวิตชาวพุทธที่เริ่มต้นวันใหม่ด้วยการให้ เป็นวิถีชีวิตที่มีคุณค่ามาก เริ่มต้นชีวิตวันใหม่ด้วยการให้ เหมือนพระอาทิตย์ทอแสงขึ้นมาแล้วให้แสงสว่าง คนไทยเป็นคนชอบให้แต่ไม่ชอบรักษาศีล ไม่มีชนชาติใดให้ให้ทานเก่งเท่ากับคนไทย จนก็ให้รวยก็ให้ ให้เป็นเรื่องใหญ่มาก การทำบุญคือการให้ทาน การทำบุญเหมือนเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ การทำบุญมีอยู่ 3 วิธีคือ ทาน ศีล เจริญสมาธิภาวนา

เราทำขั้นพื้นฐานกันอยู่บันไดขั้นแรก แสดงว่าใจเราเป็นกุศล การให้เป็นเรื่องที่ดี ใจคนไทยเป็นบุญเป็นกุศลมาก ชอบให้ทำให้เราผ่อนคลาย บางคนเครียดแล้วทำบุญ การทำบุญเป็นวิธีคลายเครียดอย่างหนึ่ง เหมือนกับจิตตสปา คุณค่าของมนุษย์เริ่มต้นที่รู้สึกภูมิใจ พอถึงจุดหนึ่งก็จะต่อไปอีกว่า เป็นผู้ให้ที่ทำให้คนอื่นภูมิใจ เหมือนกับเราตักข้าวใส่บาตรพระ เราภูมิใจที่มีชีวิตสังขารทุกวันนี้ เราเป็นผู้ให้พระเป็นผู้รับ

สังเกตไหมว่าการทำบุญตักบาตรต่างจากการทำบุญอย่างอื่น เพราะเวลาที่เราให้ ปรกติผู้ให้จะสูงกว่าผู้รับ โดยธรรมชาติของคนผู้รับเป็นหนี้บุญคุณของผู้ให้ ทีนี้พอเราถวายอะไรแด่พระสงฆ์ เราจะมีความรู้สึกว่าขอบคุณที่ท่านมารับถึงหน้าบ้าน ถ้าท่านไม่เดินผ่านบ้านเรา เราจะถวายได้อย่างไรและเราไม่ได้เจาะจงด้วยว่าพระที่เดินมาชื่ออะไร ไม่มีใครถาม มีฝรั่งรูปหนึ่งมาบวชที่วัดเรา บวชวันแรก คนทั้งโบสถ์กราบเขาตกใจเขางง ตื่นเช้าขึ้นมาออกไปบิณฑบาต คุณยายกับหลานนั่งอยู่ด้วยกัน พอพระฟรานซิสเดินมา กราบลงไปแล้วเอาข้าวใส่บาตร

ปรากฏว่าเขากลับไปถามพระอาจารย์ เป็นแบบนี้ทั้งประเทศไหม เราก็บอกว่าให้พิสูจน์เอง โดยซื้อตั๋วให้โยมพาไปวัดป่าภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้   เขาก็กลับมาบอกว่าผมเชื่อแล้วว่าที่นี่คือเมืองพุทธ เหมือนกันหมดทั้งประเทศ มีแต่ความสงบร่มเย็น มันเป็นวิธีลดทิฏฐิมานะที่ดีมาก ลดทิฏฐิมานะอย่างไร บวชเสร็จแล้วพ่อแม่กราบลูก นายพลเอกกราบนายทหารที่ขับรถให้ ณ วันที่บวช ไม่ว่าคุณจะใหญ่มาจากไหน ก็ต้องไหว้พระสงฆ์ ไหว้ในสมมุติสงฆ์

เพราะฉะนั้นพระอาจารย์คิดว่า การบวชเป็นวิธีการที่กลับตาลปัตร วิถีชีวิตของเด็กคนหนึ่ง ซึ่งมีความรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนแปลงชีวิตแต่เปลี่ยนไม่ได้ แล้วก็เข้าพิธีตามระบบของคณะสงฆ์ หลังจากนั้นมันจะพลิกหมด เคยกินเหล้าก็ต้องหยุดเหล้า เคยสูบบุหรี่ก็ต้องหยุดสูบบุหรี่ เคยเที่ยวก็ต้องหยุด กติกาของชีวิตเปลี่ยนไปหมด เวลาใส่บาตรพระก็ต้องอธิษฐานจิต ให้โยมมีความสุขความเจริญ มีอายุ วรรณะ สุข พละ อายุยืน ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน คิดอยู่ในใจ นี่คือสิ่งที่พระคิดอยู่ในใจ   เราจะได้ยินพระให้พรในตอนท้าย ในขณะที่โยมเวลาใส่บาตร เชื่อว่าหลาย ๆ คนจะรู้สึกว่าเวลาใส่บาตรต้องคิดอะไร

เด็ก ๆ อาจสงสัยก็ได้ว่าต้องคิดอะไร ไม่ต้องคิดอะไร คิดว่าทำอย่างไรให้เรามีความสุขเจริญรุ่งเรือง ไม่มีไข้เจ็บเบียดเบียน ให้วิถีชีวิตของเราไม่มีสิ่งบดบัง ทางเดินข้างหน้าปลอดโปร่ง มีผู้อุปการะมีผู้ดูแล มีผู้คุ้มกันปกป้องคุ้มครอง มีคนชี้แนะเวลาที่เดินหลงทาง อธิษฐานในสิ่งดี ๆ อะไรก็ได้ที่เป็นพรแต่ไม่ใช่การขอ เป็นการอธิษฐานเพื่อที่เราจะได้ทำ โดยอาศัยพระเป็นประจักษ์พยาน มันเหมือนเราตั้งใจจะทำอะไร แล้วมีพระเป็นประจักษ์พยานเป็นอธิษฐานบารมี

เราเชื่อว่าการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการให้ ให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่คนที่สูงสุดในชีวิต หมายความว่าให้คุณพ่อคุณแม่ ตักข้าวใส่บาตรให้คุณพ่อคุณแม่ก็ได้นะ ตักใส่จานท่าน หรือพระสงฆ์ซึ่งเป็นลูกของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นวิธีแบบนี้มันจะทำให้จิตใจของเราเบิกบาน เพราะเป็นผู้ได้ให้สิ่งที่ดีที่สุดด้วยการเริ่มต้นวันใหม่ สังเกตไหมว่าชาวพุทธ เริ่มต้นวันใหม่ด้วยสิ่งที่เรามีค่าที่สุดนั่นคือตื่นเช้าขึ้นมาใส่บาตร ทุกคนจะสดชื่นเพราะได้ให้ หลังจากนั้นก็ไปเดินออกกำลังกาย ได้พูดคุยกันอาจดูงัวเงียช่วงต้นแต่พอได้ลุกมาลงมือทำใจมันจะฟู

สมัยที่พระอาจารย์อยู่บ้านนอก บิณฑบาตข้ามภูเขากลับมาได้เหงื่อทำให้คิดได้ว่า การบิณฑบาตเป็นการออกกำลังกายเวลาเช้าอย่างหนึ่ง ได้โปรดสัตว์ได้เห็นสุขทุกข์ของผู้คน ได้รู้ว่าเขากินอะไร วิถีชีวิตของบ้านหลังนี้เป็นอย่างไร บางวันไม่มีกับข้าวใส่บาตร เราก็บอกไม่เป็นไร เป็นสิ่งที่เอื้อต่อกัน พระต้องเมตตาเหมือนกันไม่เช่นนั้นก็ไม่เดิน   บิณฑบาตเหมือนการสำรวจโลกว่าคนในชุมชนรอบข้างเรานี้ มีความเป็นอยู่อย่างไร เราพอจะอาศัยเขาได้ไหม บางรูปมีรถเข็นตาม บางรูปมีรถสามล้อตามแต่ถ้ามีรถปิคอัพตามก็มากเกินไป

พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าบาตรรับได้ 2 ครั้งเท่านั้น บาตรเต็ม ๆ ถ่ายบาตรไว้รับใหม่ได้อีก 1 ครั้ง ถ้าเกิน ๒ ถือว่าผิดพระวินัย ถ้ามากไปของก็เสีย ทำให้พูดกันไปกันมาว่าทำไมพระมีลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งถ้าใส่บาตรไปแล้วก็ใส่ไป ไม่ต้องไปตามดูตามรู้ตามเห็น ว่าท่านจะเอาไปทำอะไร     เอาใจใสบริสุทธิ์ในช่วงต้นรักษาไว้ให้ดีอย่างนั้นจะดีกว่า มีบางคนยอมรับว่าเป็นมาหลายปีแล้วไม่ค่อยศรัทธา เพราะบางทีใส่บาตรเห็น ๆ อยู่จะตอบอย่างไรดี ถามว่าระหว่างพระที่เราสงสัยท่านกับใจที่เราจะรักษาให้บริสุทธิ์ ใครฉลาดกว่าใคร ใครเก่งกว่าใคร ถ้าไม่อยากใส่ก็ไม่ต้องใส่ ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์

ถ้าอยากใส่ก็ต้องรีบใส่และคัดเลือกให้ดี ใส่บาตรที่ไหนก็ได้ การให้ก็ต้องรู้จักพิจารณาว่าเป็นสิ่งท้าทายสติปัญญาของเราด้วย พระที่มาโปรดเรา เราบอกว่าไม่เลื่อมใส ซึ่งท้าทายเราว่าจะทำอย่างไร หาที่ที่น่าเลื่อมใส วิธีที่ควรจะทำบุญมีอีกไหม นอกจากใส่บาตรแล้วมีอย่างอื่นอีกหรือไม่

วิธีพวกนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ให้พวกเราเข้าใจว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ไหว้ย่อมได้รับการไหว้ตอบ คำพูดเหล่านี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พูดไว้ ๒,๕๐๐ ปี ๒,๖๐๐ ปี มาเข้ากันได้กับคนไทย วิถีชีวิตของคนไทยจึงมีลักษณะผสมกลมกลืนเป็นธรรมชาติ เป็นผู้ให้ แต่ก็ฝากเอาไว้สักนิดหนึ่งว่ารักษาใจเราให้สะอาดด้วย

 

ที่มา : นิตยสาร Secret

Image by Sasin Tipchai from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

สมาทานศีลที่ใจใช่วาจา และทำบุญให้ได้บุญ

ปัญหาธรรม : ถ้าไม่กรวดน้ำ ญาติจะได้บุญหรือไม่ โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: คำว่า บุญก็ไม่เอา บาปก็ไม่เอา หมายความว่าอะไร

Dhamma Daily  : ทำอย่างไรให้ ศีลกับอาชีพ ที่เราเลือกไปด้วยกันได้

Dhamma Daily : ปัญญาคืออะไรและทำอย่างไรให้เกิดปัญญา


 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.