ต้องฆ่าช่างผู้สร้างบ้านให้เรา

“ต้องฆ่าช่างผู้สร้างบ้านให้เรา” ความหมายที่แท้จริงของคำสอน

“ต้องฆ่าช่างผู้สร้างบ้านให้เรา” ความหมายที่แท้จริงของคำสอน

บทความจากพระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ ต้องฆ่าช่างผู้สร้างบ้านให้เรา

เชื่อไหมว่า ทุก ๆ ชีวิตมีบ้านอยู่อาศัยกันคนละหลัง โดยไม่ต้องซื้อหาหรือเช่าให้เสียเงิน เป็นบ้านที่ได้มาฟรี ๆ บ้างก็ได้บ้านหลังใหญ่โตมโหฬาร บ้างก็ได้บ้านหลังขนาดย่อม บ้างก็ได้บ้านหลังขนาดเล็กนิดเดียว

บ้านบางหลังสวยงามดุจวิมาน อยู่ในถิ่นที่มีทัศนียภาพที่แสนจะรื่นรมย์ บางหลังอยู่ในที่อับชื้น บางหลังอยู่ในถิ่นที่แสนจะสกปรก บางหลังก็อยู่ในถิ่นที่ร้อนกันดาร แต่ทุกชีวิตต่างก็รักและหลงบ้านของตนด้วยกันทั้งนั้น ไม่อยากให้บ้านต้องชำรุดทรุดโทรมผุพังไป บ้านดังกล่าวมีผู้สร้างให้ฟรี ๆ ใครหนอใจดีถึงขนาดนั้น

พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า “เมื่อเรายังไม่พบญาณ (ปัญญาที่จะขจัดกิเลสออกจากจิตได้หมดสิ้นเรียกว่า อาสวักขยญาณ) ได้แล่นท่องเที่ยวไปในสงสารเป็นอเนกชาติ (เวียนว่ายตายเกิดนับชาติไม่ถ้วนเรียกว่าวัฏสงสาร) แสวงหาอยู่ซึ่งนายช่างผู้ปลูกเรือน คือตัณหาผู้สร้างภพ (ตัณหานำไปเกิด) การเกิดทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป…”

นายช่างใหญ่ใจดีที่สร้างบ้านให้กับทุก ๆ ชีวิตก็คือ ตัณหา ที่อยู่ในจิตของสัตว์โลกนั่นเอง ที่นำพาสัตว์โลกไปเกิดในภพภูมิต่าง ๆ ในวาระสุดท้ายที่จะขาดใจตาย

หากจิตเกาะเกี่ยวอยู่กับฝ่ายบุญกุศล มีกำลังของศีลและหิริโอตตัปปะหนุนช่วย ก็ได้เกิดบนสวรรค์ มีบ้านหลังสวยงามอยู่ในถิ่นที่รื่นรมย์ หากกำลังบุญและศีลไม่ถึงขนาดนั้น ก็ได้เกิดเป็นมนุษย์ หากจิตเศร้าหมองตอนจะสิ้นใจ ตัณหาก็จะนำพาไปเกิดในอบายภูมิ บ้างก็ไปตกนรกได้รับทัณฑ์ทรมานที่ร้อนแรง มีทุกข์แสนสาหัส หรือหากเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ได้บ้านหลังขนาดต่าง ๆ กันตามประเภทของสัตว์ หากเกิดเป็นสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ก็ได้บ้านหลังใหญ่โตมโหฬาร ถ้าเกิดเป็นมด ปลวก เล็น ไร ก็ได้บ้านหลังเล็กกระจิดเดียว หากเกิดเป็นไส้เดือน ก็จะได้บ้านอยู่ในดิน หากเกิดเป็นแมลงสาบก็ได้บ้านที่เหม็น หากเกิดเป็นหนอนในส้วม ก็จะได้บ้านที่อยู่ในถิ่นที่แสนจะสกปรก

แต่เชื่อไหมว่า ในบรรดาพรหม เทวดา มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน ต่างก็หลงและยึดอยู่กับบ้านที่ตนได้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่อยากให้บ้านของตนชำรุดทรุดโทรม ต้องแก่ หรือต้องเจ็บ และแม้ว่าบ้านจะเก่าทรุดโทรมเพียงไร ก็ยังไม่อยากจากบ้านหลังนี้ไป คือไม่อยากตายนั่นเอง เมื่อได้บ้านหลังใดต่างก็หลงบ้านหลังนั้น และว่าบ้านที่ตนได้ดี หากเกิดเป็นหมา มันก็คิดว่าชาติหมาดี มีผู้ระลึกชาติได้ว่าเคยเกิดเป็นงูเหลือม ก็คิดว่าชาติงูดีกว่าเกิดเป็นคนเสียอีก และยังคิดถึงแม่งูที่รอคอยตนอยู่ มีสัตว์เดรัจฉานชนิดใดบ้างที่รังเกียจในชาติของตน เบื่อหน่ายในชีวิตถึงขนาดฆ่าตัวตาย จะมีก็แต่คนเขลาบางคนเท่านั้น

บ้านก็คือร่างกาย หรือรูปร่างของสัตว์โลก (สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย) ที่จิตเขาได้ไปอาศัยอยู่ เป็นชีวิตหนึ่ง ๆ ขึ้นมานั่นเอง ดังได้กล่าวแล้วว่า ตัณหาที่ฝังแน่นอยู่ในจิต เป็นผู้สร้างบ้านให้กับจิตตอนจะเปลี่ยนภพ และเมื่อเกิดในภพใด ตัณหาก็หลอกล่อจิตให้ลุ่มหลงในภพชาติของตน จิตจึงโง่เขลาเบาปัญญาที่ถูกตัณหาหลอกมาชาติแล้วชาติเล่า

คิดดูเถิดว่า เมื่อเกิดเป็นคนก็รังเกียจภพชาติของสัตว์เดรัจฉาน และดูหมิ่นดูแคลนว่าต่ำต้อย แต่ครั้นไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง ก็หลงยึดติดในภพชาติของตนอย่างโง่เขลา พระอรหันต์บางท่านในยุคนี้ที่ระลึกชาติได้ บางท่านเห็นอดีตชาติของตนเคยเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานหลายชาติ เช่น หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ผู้เขียนประวัติหลวงปู่มั่น เล่าว่า เมื่อครั้งหลวงปู่มั่นไปภาวนาที่ถ้ำไผ่ขวาง ข้างน้ำตกสาริกา จังหวัดนครนายก ท่านระลึกชาติได้ว่า ท่านเคยเกิดเป็นสุนัขหลายชาติ

คุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต เขียนประวัติของหลวงปู่ชอบ ฐานสโม เล่าว่า หลวงปู่เห็นนิมิตว่า เคยเกิดเป็นไก่และผูกพันอยู่กับแม่ไก่ติดต่อกันถึง 7 ชาติ แม้ชาตินี้หลวงปู่ได้เกิดเป็นคน แต่แม่ไก่ก็ยังเกิดเป็นไก่หลงรอคอยหลวงปู่อยู่ ฟังดูแล้วน่าอนาถใจ

คราวหนึ่งผู้เขียนไปปลีกวิเวกภาวนาบนเขา ค่ำวันหนึ่งขณะนั่งสมาธิภาวนา ปัญญาได้ผุดขึ้นเห็นความเป็นจริงที่ตัณหาหลอกล่อจิต นำจิตไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่นับชาติไม่ถ้วน และไม่ว่าจะเกิดในภพใด (ยกเว้นสัตว์นรก) ก็หลงยึดติดในภพชาติของตน ผู้เขียนเกิดความรู้สึกสลด สังเวช สมเพชในความโง่เขลาของจิต ที่ถูกกิเลสตัณหาหลอกล่อให้ลุ่มหลงในภพชาติของตนถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาร้องไห้สะอึกสะอื้นกลางป่า ดีแต่ว่าอยู่ลำพังคนเดียวจึงหลั่งน้ำตาออกมาให้สาสมกับความโง่เขลาของจิต โดยไม่ต้องอายใครเพราะไม่มีใครได้ยิน

ตัณหาเป็นหัวใจของกิเลสที่ยิ่งใหญ่และยืนยง ครองใจสัตว์โลกมาทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่มีสิ่งที่มีชีวิตเกิดขึ้นในอริยสัจ 4 พระพุทธองค์ตรัสว่า ตัณหามี 3 ชนิด คือ

1 กามตัณหา ได้แก่ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กายสัมผัส) และธรรมารมณ์ (อารมณ์ของจิต) สิ่งเหล่านี้เข้ามาทางประสาทสัมผัส ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

2 ภวตัณหา ได้แก่ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ครั้นได้มาแล้ว ก็อยากให้สิ่งที่ตนพอใจดำรงสถานะเช่นนั้นตลอดไป เช่น อยากมีครอบครัวที่อบอุ่น อยากให้คนในครอบครัวอยู่กันอย่างอบอุ่นเช่นนี้ไปนาน ๆ

3 วิภวตัณหา ได้แก่ ความไม่อยากได้ ไม่อยากเป็น ไม่ยินดี ไม่พอใจในสถานะที่ตนเป็นอยู่ เช่น ไม่ชอบคนบางคนหรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ อยากให้สิ่งนั้นผ่านไปเร็ว ๆ

กามตัณหาและภวตัณหาเป็นกิเลสฝ่าย โลภ ต้องการนำเข้า ส่วนวิภวตัณหาเป็นกิเลสฝ่าย โกรธ ต้องการขจัดออก เหตุที่จิตไปยึดติดอยู่เป็นเพราะ หลง ด้วยเหตุนี้ตัณหาทั้ง 3 ก็คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลงนั่นเอง

ตัณหาไม่เคยเกรงกลัวใครและไม่มีอำนาจทางโลกใด ๆ ที่จะเอาชนะมันได้ คนเราต่อให้ฉลาดเลิศล้ำ มีความรู้ทางโลกเพียงใด มีตำแหน่งหน้าที่สูงส่งเพียงใด มีทรัพย์ศฤงคารร่ำรวยเพียงใดก็เอาชนะตัณหาไม่ได้ มีแต่จะไปส่งเสริมกิเลสตัณหาให้มีกำลังเข้มแข็งขึ้น เพราะจะยิ่งลุ่มหลงและยึดติดในสิ่งที่ได้ ที่มี ที่เป็นในสถานะดังกล่าว

กิเลสตัณหามิใช่ของจริง แต่เป็นมายาที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาและเลี้ยงรักษาเอาไว้ ซ้ำยังคอยปกป้องทะนุบำรุงให้มันมีกำลังมากจนนอนเนื่องอยู่ในสันดานมาทุกภพทุกชาติที่เกิด ความรู้ทางโลกตลอดจนแสนยานุภาพทางโลกจึงไม่มีทางที่จะเอาชนะกิเลสตัณหาได้ มีแต่ธรรมะเท่านั้นที่จะเอาชนะมันได้

เพราะธรรมะคือความจริง หรือสัจธรรมอันเป็นกฎของธรรมชาติ ซึ่งเป็นประทีปแห่งปัญญา ส่องทางให้จิตรู้ เห็น และเข้าใจความเป็นจริง เลิกหลงในมายาของกิเลสตัณหา ตลอดจนมีกำลังเข้มแข็งพอที่จะเอาชนะมันได้โดยเด็ดขาด

ธรรมที่ว่านี้ก็คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งรวมถึงสมถะ และวิปัสสนากรรมฐาน อันบุคคลได้เจริญบริบูรณ์แล้วนั่นเอง ที่จะกวาดล้างตัณหาให้หมดไปจากจิตได้ เมื่อหมดตัณหาก็ไม่มีช่างผู้สร้างบ้านให้ไปเกิดในภพต่อไป นั่นคือถึงนิพพานนั่นเอง

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.