คำนินทา

วิธีง่าย ๆ วางใจอยู่เหนือคำนินทาทั้งปวง บทความดีๆ จาก ปิยสีโลภิกขุ

วิธีง่าย ๆ วางใจอยู่เหนือ คำนินทา ทั้งปวง บทความดีๆ จาก  ปิยสีโลภิกขุ

ท่าน ปิยสีโลภิกขุ กล่าวถึง การวางใจอยู่เหนือ คำนินทา ไว้อย่างน่าสนใจว่า

งานวิจัยเชิงมานุษยวิทยาเรื่องหนึ่งพบว่า เวลาสนทนากัน คนอังกฤษส่วนใหญ่ใช้เวลาราวสองในสามอภิปรายกันเรื่อง ‘ใครทำอะไรกับใคร ที่ไหนเมื่อไหร่ อย่างไร’ โดยหาก ‘ใคร’ ที่ว่านั้นเป็นคนมีชื่อเสียง การสนทนาจะยืดเยื้อเป็นพิเศษ

ผู้วิจัยอ้างว่า สถิตินี้เชื่อถือได้เพราะเก็บข้อมูลด้วยการแอบฟังบทสนทนา ไม่ใช่จากแบบสอบถามซึ่งผู้ตอบอาจเข้าข้างตัวเองได้ นอกจากนี้ผลการวิจัยยังระบุด้วยว่า ชายและหญิงใช้เวลาในเรื่องนี้ไม่ต่างกัน

เรื่องเช่นนี้ฟังคุ้นหูไม่น้อย หากทำวิจัยในเมืองไทยคงได้ผลไม่ต่างกัน หรืออาจพบว่า คนไทยใช้เวลาในการสนทนาทำนองนี้มากกว่าคนอังกฤษ “เล็กน้อย” ก็เป็นได้ ดังคำกลอนสุนทรภู่ที่บอกว่า “อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน แม้องค์พระปฏิมายังราคิน คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา” ภาษิตนี้สอนว่า การนินทาเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีใครหลีกพ้น เพราะแม้แต่พระพุทธรูปที่ตั้งไว้ในโบสถ์ยังอาจมีคนนินทาว่าร้ายได้

หัวข้อนินทาที่เคยได้ยินมีสารพัด ทั้งเรื่องอื้อฉาวในชุมชนและเรื่องอื่น ๆ ที่โยงใยครอบคลุมแทบทุกมิติ เรื่องน่าขันที่ได้ยินมากับหูคือการนินทาในงานศพว่าเจ้าภาพซื้อ “โลง” ไม่สมเกียรติผู้ตาย!

แม้การนินทาจะเป็นเรื่องสามัญเพียงไรก็ตาม น้อยคนนักที่ทำใจยอมรับได้หากตนเองตกเป็นหัวข้อในการนินทา น่าสังเกตว่าคนยิ่งชอบนินทามากเท่าใด พอตกกับตัวเองเข้ากลับยิ่งเป็นฟืนเป็นไฟไปเท่านั้น อุปมาได้กับนายพรานที่ติดกับดักของตนเอง เรื่องนี้แสดงว่าความเชี่ยวชาญเชิงปฏิบัติในวิชานินทาเป็นคนละเรื่องกับความรู้เท่าทันในสาขาวิชานี้

หลวงพ่อชาเคยสอนว่า คนมีปัญญาอาจหาประโยชน์ได้แม้จากกองขยะ คำนินทาว่าร้ายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจแต่หากพิจารณาให้ดีแล้วอาจเป็นประโยชน์ต่อเราได้มาก ไม่ต่างจากขยะที่ถูกแปรให้กลายเป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้

คำนินทาว่าร้ายทั้งหมดนั้น หากคิดให้ถี่ถ้วนแล้วเป็นไปได้เพียงสองด้าน คือ เป็นเรื่องจริง กับเรื่องที่กุขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นด้านใดล้วนแต่ไม่น่าขุ่นเคืองทั้งสิ้น หากเป็นเรื่องจริง เราก็ควรยอมรับแต่โดยดี หรือหากตรงข้าม เราก็ไม่เห็นจะต้องนำเรื่องเท็จเหล่านั้นมาใส่ใจ วันเวลาย่อมจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความเท็จได้ดีกว่าการตามแก้ไขความเห็นผู้อื่น

ท่าทีที่พึงมีต่อคำนินทาคือน้อมนำมาใคร่ครวญเพราะอาจทำให้เห็นข้อบกพร่องที่ตนไม่เคยมองมาก่อน แม้คำนินทานั้นจะไม่จริง เรายังอาจวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้มีผู้มองเราในแง่ลบได้เช่นกัน และหากอยู่ในวิสัยจะแก้ไขปรับปรุงได้ เราย่อมมีโอกาสพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น มองในแง่นี้ ควรขอบคุณผู้นินทาเสียด้วยซ้ำ

ที่สุดแล้ว คำนินทาควรทำให้ตระหนักได้ว่า ไม่มีใครเป็นที่พอใจของทุกคนได้ ต่อให้ปฏิบัติดีเพียงใด ย่อมไม่แคล้วมีผู้มองในแง่ลบ ความเข้าใจนี้ช่วยให้คลายความคาดหวังต่อการกระทำของตนเองลง สามารถทำความดีโดยไม่ต้องเกร็งกับคำพิพากษาของใคร

แท้จริงแล้ว ตัวเราเองต่างหากที่ควรยินดีต่อการกระทำของตน ไม่พึงนำความสุข ความทุกข์ ไปแขวนไว้กับเสียงรอบข้าง และเรียนรู้ที่จะวางใจอยู่เหนือคำนินทาทั้งปวง 

 

***ปิยสีโลภิกขุ จบการศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เลือกวิถีชีวิตนักบวชมากว่า 20 ปีแล้ว ปัจจุบันพำนักในวัดป่าเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงราย บันทึกชุดนี้เขียนขึ้นระหว่างจำพรรษาที่วัดจิตวิเวก ในแคว้นเวสต์ซัสเซ็กส์ (West Sussex) นอกกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.