วันอัฏฐมีบูชา

เรื่องน่ารู้ 7 ประการของวันอัฏฐมีบูชา วันสำคัญทางศาสนาที่ชาวพุทธหลงลืม

เรื่องน่ารู้ 7 ประการของวันอัฏฐมีบูชา วันสำคัญทางศาสนาที่ชาวพุทธหลงลืม

เชื่อว่าชาวพุทธหลายคนลืมไปแล้วว่าวันนี้คือ วันอัฏฐมีบูชา วันสำคัญวันหนึ่งของพุทธศาสนาและเชื่อว่าหลายคนรู้จักคำนี้เพียงแค่ในตำราสมัยเรียนเท่านั้น Secret จึงขอนำเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวันนี้มาให้ชาวพุทธทำความเข้าใจกัน

 

วันอัฏฐมีบูชา

 

1. วันอัฏฐมีบูชา คือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ (เผาศพ) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ มกุฏพันธนเจดีย์ แห่งเมืองกุสินารา หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน ในราตรี 15 ค่ำ เดือน 6

 

2. ในอดีต กษัตริย์มัลละแห่งเมืองกุสินาราพยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจทำให้ไฟติดได้ พระอนุรุทธเถระ จึงแจ้งว่า เป็นเพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ 500 รูป ผู้กำลังเดินทางมา เพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟจึงจะลุกไหม้ เนื่องจากเทวดาเหล่านั้น เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ และพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อน จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปะอยู่ในพิธี และเมื่อภิกษุหมู่ 500 รูปโดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธานเดินทางมาพร้อมกัน ณ ที่ถวายพระเพลิงแล้ว ไฟก็ลุกโชนขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครจุด

 

3. ภายหลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว กษัตริย์จากแคว้นต่างๆ ที่ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ส่งตัวแทนไปขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำกลับมาสักการะยังแคว้นของตน แต่ถูกกษัตริย์มัลละปฏิเสธ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งและเตรียมทำสงครามกัน

แต่ในสุดเหตุการณ์ก็ไม่ได้บานปลาย เนื่องจากโทณพราหมณ์เข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ย (กล่าวกันว่า โทณพราหมณ์เป็นผู้เฉลียดฉลาดในการพูดและเป็นที่เคารพนับถือของบรรดาเจ้านคร) โดยเสนอให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่าๆ กัน เพื่อให้แต่ละเมืองได้นำพระบรมสารีริกธาตุไปบูชา

เมื่อตกลงได้แล้วโทณพราหมณ์ก็ใช้ทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุแจกให้แก่ เมืองเวสาลี เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองอัลลกัปปะ เมืองรามคาม เมืองเวฏฐทีปกะ เมืองปาวา เมืองราชคฤห์และเมืองกุสินารา ส่วนพระอังคาร มอบให้กษัตริย์โมริยะสร้างสถูปบรรจุไว้ที่เมืองปิปผลิวัน และโทณพราหมณ์ ก็สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุไว้ ที่เมืองกุสินารา

เหตุการณ์นี้เป็นตัวตอบโจทย์ที่ว่า เหตุใดพระพุทธองค์ทรงเลือกเมืองกุสินารา อันเป็นเมืองเล็กๆ แห่งนี้เป็นสถานที่ปรินิพพาน สาเหตุสำคัญข้อหนึ่งก็เพราะทรงทราบดีว่าหลังปรินิพพานแล้ว พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จะถูกแคว้นต่างๆ แย่งชิงไปบูชา หากพระองค์ปรินิพพานในเมืองใหญ่ ก็ไม่มีทางที่เมืองเล็กๆ จะได้ส่วนแบ่งนั้น แต่ด้วยความที่กุสินาราเป็นเมืองเล็ก จึงต้องยอมระงับศึกด้วยการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมือง เพื่อไม่ให้เกิดสงคราม

 

4. หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว เมืองกุสินารากลายเป็นเมืองสำคัญศูนย์กลางแห่งการสักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน เหล่ามัลลกษัตริย์ได้สร้างเจดีย์และวิหารเป็นจำนวนมากไว้รอบ ๆ สถูปใหญ่คือ มหาปรินิพานสถูป อันเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มหาสถูปนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของปูชนียสถานอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นมาภายหลังในบริเวณนั้น

 

5. .ในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่แห่งจัดงานประเพณีอัฐมีบูชาขึ้น ได้แก่ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ จัดเป็นพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้าจำลอง นับเป็นงานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่จัดสืบต่อกันมาช้านาน และประเพณีอัฎฐมีบูชา ณ วัดใหม่สุคนธาราม ต.วัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นประเพณีพื้นบ้านที่ชาวบ้านร่วมกันจัดขบวนแห่เครื่องสักการะ ตะไล บั้งไฟ มาจุดเพื่อเป็นพุทธสักการะ และมีขบวนพุทธประวัติจำลองหลักธรรมคำสอน ก่อนที่จะมีพิธีการจำลองการถวายพระเพลิงพระบรมศพ

 

6. วันอัฏฐมีบูชายังตรงกับวันคล้ายวันที่พระนางสิริมหามายา องค์พระพุทธมารดาสิ้นพระชนม์ (หลังประสูติ) และเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขตลอด 7 วัน (หลังตรัสรู้) อีกด้วย

 

7. ในวันนี้ชาวพุทธควรทำบุญ รักษาศีล เจริญภาวนาเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า และประพฤติตามธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า จงมีสติ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ระลึกว่าชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่นอน แต่ความตายเป็นสิ่งแน่นอน

 

Photo by Jimin Wu on Unsplash

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

ชาวพุทธควรรู้  เหตุใด วันวิสาขบูชา จึงมีคำเรียกสากลว่า Vesak Day

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.