เสียงด่า

เสียงด่า คือเสียงธรรมที่ซาบซึ้งใจ บทความจาก พระไพศาล วิสาโล

เสียงด่า คือเสียงธรรมที่ซาบซึ้งใจ – พระไพศาล วิสาโล

เสียงด่า คือเสียงธรรมที่ซาบซึ้งใจ มาจากบทความเรื่อง เสียงธรรมที่ซาบซึ้งใจ โดย พระไพศาล วิสาโล

เมื่อหลวงปู่ขาว อนาลโย มาปักหลักตั้งสำนักที่ถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานี เกือบ 60 ปีที่แล้ว แม่ชีสาเป็นผู้หนึ่งที่ติดตามท่านมาด้วย แม่ชีสาไม่เพียงอุปัฏฐากหลวงปู่และพระเณรอย่างขยันขันแข็ง หากยังใส่ใจในการทำกรรมฐาน จนหลวงปู่ขาวกล่าวยกย่องแม่ชีสาว่าภาวนาดีมากจนละ “ขี้” ได้สองกอง คือ “ขี้โลภ” และ “ขี้โกรธ”

วันหนึ่งหลวงปู่ใช้ให้พระสองรูปไปด่าแม่ชีสาเพื่อทดสอบดูว่าละความโกรธได้แค่ไหนแล้ว ทั้งสองรูปจึงพากันไปที่กุฏิของแม่ชีสา สรรหาคำรุนแรงสารพัดมาด่า ตอนแรกแม่ชีสางงงวยว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก็พนมมือนั่งฟังพระอาจารย์ทั้งสองอย่างสงบโดยตลอด

หลังจากที่พระอาจารย์ทั้งสองด่าว่าจนพอใจ แม่ชีสาก็ถามว่า

“ท่านอาจารย์ดุด่าดิฉันหมดหรือยัง หรือมีคำด่าว่าอยู่อีก ดิฉันได้ยินได้ฟังแล้วซาบซึ้งเหลือเกิน เสียงดุด่าเป็นเสียงธรรมทั้งหมดเลยเจ้าข้า”

แม่ชีสายังปวารณาอีกว่า

“ขอให้อาจารย์ทั้งสองมาด่าดิฉันให้บ่อย ๆ ด้วย จะได้หมดกิเลสสักที”

คนทั่วไปเมื่อถูกต่อว่าด่าทอ ไม่เพียงรู้สึกโกรธ เจ็บปวดเหมือนถูกทำร้าย หากยังรู้สึกเสียใจที่ถูกมองในแง่ลบ หรือเสียหน้าเพราะความไม่ดีของตนถูกนำมาประจาน ยิ่งเป็นคนที่เคร่งครัดในศีล มุ่งมั่นทำความดีจนมีคนชื่นชมสรรเสริญ ก็ยิ่งรู้สึกแย่ที่กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของผู้อื่น ยิ่งผู้ที่ตำหนินั้นเป็นถึงครูบาอาจารย์ด้วยแล้ว ย่อมรู้สึกอับอายหรือถึงกับน้อยเนื้อต่ำใจว่า ทำไมทำดีจึงไม่ได้ดี เหตุใดความดีของเราจึงไม่มีใครมองเห็นและหากคิดต่อไปว่า ถ้าเรื่องนี้แพร่หลาย มีคนอื่นรับรู้มากขึ้น ชื่อเสียงของเราย่อมป่นปี้ ภาพลักษณ์ดี ๆ จะเสียหาย คิดอย่างนี้จิตก็เป็นทุกข์ทันที

แต่ความรู้สึกนึกคิดแบบนี้ไม่มีในใจของแม่ชีสาเลย จึงฟังคำด่าว่าของพระอาจารย์ทั้งสองด้วยใจนิ่งสงบ ราวกับไม่สนใจภาพลักษณ์ของตนเลย หรือพูดให้ถูกคือ ไม่รู้สึกว่าตัวตนถูกกระทบกระแทกแต่อย่างใด อาจเป็นเพราะแม่ชีสามีความยึดติดในตัวตนน้อยมาก แต่เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือเป็นเพราะท่านเห็นว่า คำต่อว่าด่าทอนั้นมีประโยชน์ ช่วยขูดเกลากิเลสได้เป็นอย่างดีจึงมีค่าเสมือนธรรมะอย่างหนึ่ง ที่จริงท่านอาจมองด้วยซ้ำว่า คำต่อว่าด่าทอนั้นคือธรรมะในตัวเอง เพราะสอนให้เห็นถึงความจริงของโลกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า โลกธรรม 8 กล่าวคือ สรรเสริญกับนินทาเป็นของคู่กัน ถ้ายึดติดคำสรรเสริญย่อมเป็นทุกข์ เพราะคำติฉินนินทา ไม่ว่าเป็นใคร ทำดีแค่ไหนก็ต้องเจอวันยังค่ำ

เรื่องของแม่ชีสาเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า คำต่อว่าด่าทอนั้นไม่ได้ทำให้เราทุกข์ แต่ที่เราทุกข์เพราะวางใจไม่ถูกต่อคำต่อว่าด่าทอต่างหาก เช่น มองเห็นเป็นสิ่งเลวร้าย หรือเพราะยึดติดถือมั่นในคำเหล่านั้น เช่น เอาแต่หมกมุ่นครุ่นคิดถึงมัน วนเวียนอยู่กับความสำคัญมั่นหมายว่า เขาด่ากู ๆ ๆ พูดอีกอย่าง คือ ชูตัวตนขึ้นเป็นเป้าของคำต่อว่าด่าทอนั้น ยิ่งชูหรือยึดตัวตนมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นทุกข์มากเท่านั้น

ในทางตรงข้าม หากเห็นว่าคำต่อว่าด่าทอมีประโยชน์ ช่วยขูดกิเลส หรือทรมานอัตตาให้หายผยอง ยิ่งได้ฟังก็ยิ่งขอบคุณ แม้จะมีความทุกข์เกิดขึ้น ก็เห็นว่าทุกข์นั้นเป็นของ “ตัวกู” หรือเป็นความดิ้นพล่านของกิเลสมากกว่า จึงไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจแต่อย่างใด

ทุกครั้งที่เป็นทุกข์หรือเมื่อถูกต่อว่าด่าทอ อย่ามัวโทษผู้พูดว่าเป็นตัวการ ควรหันมาสำรวจใจของตนและแก้ที่ตรงนั้น จะว่าไปแล้ว ความก้าวหน้าในการภาวนาวัดกันที่ตรงนี้ หากยังโกรธเคืองเมื่อถูกต่อว่าด่าทอก็แสดงว่ายังมีการบ้านให้ต้องทำอีกมาก

จะหลงภาคภูมิใจในความเป็นนักปฏิบัติธรรมหรือผู้ทรงศีลหาควรไม่ 

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

Image by TanteTati from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.