สมดุลงาน

สมดุลงาน สมดุลชีวิต (1) – ว.วชิรเมธี

สมดุลงาน สมดุลชีวิต (1) – ว.วชิรเมธี

สมดุลคือคำสำคัญ

คำว่า “สมดุล” หรือ “ดุลยภาพ” เป็นคำสำคัญมากในทางพระพุทธศาสนาและในชีวิตของเราทุกคน ตามตัวอักษรคำนี้แปลว่า

“ภาวะที่สิ่งต่าง ๆ มีความลงตัวอย่างเหมาะสมหรืออย่างพอดี” ร่างกายของเราคือตัวอย่างของความสมดุลที่เห็นชัดที่สุด กล่าวคือหากมีระบบบางอย่างในร่างกายผิดปกติหรือเสียสมดุลจะส่งผลต่อระบบอื่น ๆ ทั้งหมดทันที เช่น หากเราเป็นหวัด ระบบการหายใจของเราจะเป็นปัญหาทันที หากระบบการหายใจเป็นปัญหา ระบบอารมณ์ของเราจะมีปัญหาทันที หากอารมณ์มีปัญหา จะส่งผลต่อการกินอยู่ การทำงาน การพักผ่อนการปฏิสัมพันธ์ การมีความสุขความทุกข์ของเราทันที ในทางกลับกัน หากร่างกายของเราอยู่ในภาวะสมดุลเป็นปกติดี แม้การดื่มน้ำจืดธรรมดา ๆ แก้วหนึ่งก็ทำให้เรารู้สึกมีความสุข การฟังเสียงนกร้อง การทอดตามองทุ่งหญ้าเขียวขจี หรือการเดินเล่นซึ่งเป็นกิจกรรมแสนสามัญก็ทำให้เกิดความสดชื่นรื่นเย็นในชีวิตได้
สมดุลหรือดุลยภาพจึงเป็นภาวะพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ของชีวิตรวมทั้งของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เพราะอะไรก็ตามที่เสียสมดุล ก็จะสูญเสียปกติภาพของมันไปทันที สมดุลหรือดุลยภาพมีความสำคัญตั้งแต่เรื่องพื้นฐานของชีวิตระหว่างวัน ไปจนถึงเรื่องสำคัญที่สุดของชีวิตอย่างการปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งหมายมรรคผลนิพพาน แต่บางทีกว่าที่คนส่วนใหญ่จะตระหนักรู้ว่าสมดุลหรือดุลยภาพมีค่าแค่ไหน ก็ต่อเมื่อพวกเขาได้สูญเสียสิ่งนี้ไปแล้วอย่างยากที่จะเรียกมันคืนกลับมาได้

สมดุลคือทางสายกลาง

ในพุทธศาสนามีคำอยู่หลายคำที่มีความหมายสอดคล้อง ตรงกันหรือใกล้เคียงกับคำว่า “สมดุล”ในภาษาไทย เช่น คำว่า “มตฺ-ตญฺญุตา” (ความรู้จักประมาณตนในสัปปุริสธรรม 7) คำว่า “มตฺ-ตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ” (ความรู้จักประมาณในการบริโภค ในโอวาทปาติโมกข์) คำว่า “สมตา” ใน “อินฺทฺริยสมตา” (การปรับอินทรีย์ให้สมดุลในอินทรีย์ 5) เป็นต้น แต่คำที่ชาวพุทธคุ้นเคยที่สุดย่อมได้แก่คำว่า “มชฺฌิมา-ปฏิปทา” แปลว่า “ทางสายกลาง การปฏิบัติที่เป็นกลาง วิธีการที่พอดี” อันมีอยู่ในหลักธรรมสำคัญชื่ออริยสัจ 4 ที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา

หากเราศึกษาพุทธประวัติก็จะพบว่าก่อนจะตรัสรู้พระโพธิสัตว์ทรงติดอยู่ในทางสุดโต่งสองสาย คือ ทางสายหนึ่งพัวพันตนอยู่ในกามสุขอันแวดล้อมไปด้วยโลกียสุขอย่างชาวบ้าน ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามแต่กิเลสตัณหาจะพาไป (กามสุขัลลิกานุโยค) ส่วนอีกสายหนึ่งพัวพันตนอยู่ในการทรมานตนให้ลำบากแทบล้มประดาตาย (อัตตกิลมถานุโยค) แต่แล้ววันหนึ่งพระองค์ก็ได้บทสรุปว่า วิธีการทั้งสองอย่างนั้นเป็น “ทางสุดโต่ง” ไม่อาจนำไปสู่การดับทุกข์ได้ จึงทรงหันกลับมาดูแลร่างกายให้แข็งแรงและเริ่มบำเพ็ญจิต-ภาวนา เมื่อกายและจิตเกิดสมดุล พระองค์จึงอาศัยสมดุลกายสมดุลใจนี้เป็นรากฐานสู่การพัฒนาปัญญาจนบรรลุสู่โพธิญาณในที่สุด ต่อมาทรงเรียกวิธีการที่ทำให้ทรงค้นพบสัจธรรมว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือ “ทางสายกลาง” อันหมายถึง ทางสายกลางทางความรู้และทางการปฏิบัติที่นำไปสู่ความจริง

อย่างไรก็ตาม ทางสายกลางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทานี้ยังมีความหมายจำเพาะในทางสัมมาปฏิบัติอยู่มาก หากเราต้องการทางสายกลางที่นำมาสู่การประยุกต์ใช้ได้จริงสำหรับคนทั่วไป ก็อาจอ้างจากหลักการปฏิบัติธรรมที่ทรงสอนพระโสณโกฬิวิสะก็ได้กล่าวกันว่า พระรูปนี้ทุ่มเทปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น ท่านเดินจงกรมจนเท้าแตก แต่ก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานแต่อย่างใดพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องนี้จึงตรัสสอนด้วยกุศโลบายทางสายกลาง โดยทรงแนะให้ท่านเทียบเคียงการขึงสายพิณเข้ากับการปฏิบัติสมณธรรม หมายความว่า สายพิณที่นักดนตรีขึงอย่าง “พอดี” จึงจะได้เสียงที่ไพเราะฉันใด การปฏิบัติธรรมที่พอดี (ไม่หักโหมมากไป ไม่หย่อนยานเกินไป) ก็ย่อมจะได้ลิ้มชิมมรรคผลนิพพานฉันนั้น

เมื่อท่านจับหลักทางสายกลาง หรือหลักการปรับร่างกายและจิตให้สมดุลได้ ท่านจึงบรรลุมรรคผลนิพพานในเวลาต่อมา

ในการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธ พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้เรารู้จักปรับกายและจิตให้สมดุลอยู่เสมอ เช่น ในหมวดธรรมชื่อ “อินทรีย์ 5” ทรงสอนให้ปรับอินทรีย์คือองค์ธรรมให้เกิดสมดุลหรือความพอดีเป็นต้นว่า

ศรัทธาต้องสมดุลกับปัญญา สมาธิต้องสมดุลกับวิริยะ ศรัทธา วิริยะ สมาธิ ปัญญาต้องอยู่ภายใต้การกำกับของสติ ซึ่งเป็นหลักธรรมใหญ่ที่ครอบคลุมหลักธรรมทั้งหมดอีกทีหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น เหตุผลก็เพราะว่า ถ้าศรัทธามากไปอาจกลายเป็นงมงายปัญญามากไป อาจกลายเป็นแข็ง-กร้าว สมาธิมากไป อาจกลายเป็นเกียจคร้าน ติดสุข วิริยะมากไป อาจกลายเป็นฟุ้งซ่าน อ่อนเพลีย แต่เมื่อปรับองค์ธรรมให้เกิดสมดุลด้วย “สติ” แล้วมรรคผลนิพพานจึงจะเป็นไปได้ การปฏิบัติธรรมจึงจะสัมฤทธิ์ผล

โดยนัยนี้เราจึงกล่าวได้ว่า “สติ” คือองค์ธรรมสำคัญในการจัดปรับให้เกิดสมดุลของการปฏิบัติธรรมและของการใช้ชีวิตและการทำงานหรือในทุกกิจกรรมของชีวิตดังพุทธภาษิตที่ว่า “สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา”แปลว่า “สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง”

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.