สุกัญญา มิเกล

สุกัญญา มิเกล ความสุขในวันนี้ กับตัวตนที่แท้จริง

สุกัญญา มิเกล ความสุขในวันนี้ กับตัวตนที่แท้จริง

ภาพลักษณ์ในสายตาคนทั่วไปของ สุกัญญา มิเกล หรือ สุกัญญา แคลเลย์ เขียนเอี่ยม คือร็อคเกอร์สาวสุดห้าวที่มีผลงานเพลงโดนใจแฟนๆ มากมาย

เธอเคยเป็นนางแบบชุดว่ายน้ำกับแอน – อังคณา ทิมดี มีผลงานภาพยนตร์และละคร ออกผลงานเพลงชุดแรกเมื่อปี พ.ศ. 2537 คือชุด “หน้ากาก” ปี พ.ศ. 2539 เธอได้รับรางวัลศิลปินหญิงร็อคยอดเยี่ยมของสีสันอะวอร์ดส์ จากผลงานอัลบั้มชุดที่ 3 “ครอสโอเวอร์” ล่าสุดเธอนำเพลงที่เขียนเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 23 ปี “ตัดพ้อ” มาทำเป็นเวอร์ชั่นใหม่สไตล์โฟล์ค

แต่กว่าจะมาถึงวันที่เธอบอกได้เต็มปากว่า มีความสุขและได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง เธอต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน

ไม่กำพร้าก็เหมือนกำพร้า

เราเหมือนเป็นเด็กกำพร้า คือไม่รู้จักหน้า ไม่รู้จักชื่อพ่อ ส่วนแม่แต่งงานมีครอบครัวใหม่ไปอยู่ที่อิตาลี เจอกันประมาณปีละครั้ง แล้วก็ห่างไปเรื่อย ๆ ชื่อในใบเกิดคือ สุกัญญา เขียนเอี่ยม และเพิ่งจะทราบจากแม่ว่านามสกุลของพ่อคืออะไร จึงเอามาเติมทีหลัง

ตอนเด็ก ๆ อยู่กับตายายที่นครสวรรค์ เริ่มทำงานทั้งดายหญ้า หักข้าวโพด เก็บฝ้ายตั้งแต่ 8 ขวบ เพื่อหาเงินซื้อข้าวเข้าบ้าน โชคดีที่มูลนิธิเพิร์ล เอส บัค ให้ทุนการศึกษา เราก็ไปขอเบิกเงินมาเป็นค่าเช่า ค่าไฟ และค่าอาหารกลางวันที่โรงเรียน

ตอน 9 ขวบยายล้มป่วยเป็นอัมพฤกษ์ เราก็ขาดเรียนบ่อยขึ้นเพราะต้องทำงานและดูแลยาย ไม่ได้มีชีวิตวัยเด็กวิ่งเล่นสนุกสนานอย่างเด็กทั่วไป ความสนุกของเราคือการได้ไปทำงาน เราได้ไปดายหญ้ากับรุ่นป้า ๆ เราร้องเพลงให้เขาฟัง ได้กินข้าวกลางวันพร้อมกัน ตกเย็นเลิกงานประมาณ 4 โมงเย็นได้รับเงิน 8 บาทกลับบ้าน

เวลานั้นสังคมไทยยังไม่ยอมรับเด็กลูกครึ่งจึงถูกล้อเป็นประจำ วันไหนไม่ได้ไปทำงานก็ไปโรงเรียน ตกเย็นก็ไม่อยากกลับบ้าน เพราะมีแต่ยายที่เป็นอัมพฤกษ์ ตาก็ไม่คุยกับเรา จึงมักไปเล่นวอลเลย์บอลอยู่ที่หลังโรงพยาบาลจนดึก จึงถูกมองว่าเราใจแตก หนีเที่ยว ไปมีอะไรกับผู้ชาย

เริ่มสนใจดนตรี

เราเริ่มสนใจดนตรีตั้งแต่ 6 ขวบ เวลาแม่กลับมาหาปีละครั้ง มักมีคาสเส็ตเพลงสากลมาด้วยหลายตลับ แม่มักเปิดเพลงจังหวะดิสโก้ของบอนนี เอ็ม. เราชอบมากเลย เวลาแม่ไม่อยู่ ทุกอย่างจะถูกเก็บ กลัวของพัง เราก็จะเหลือแค่วิทยุทรานซิสเตอร์ของตาซึ่งตาจะฟังแต่ข่าว เวลาไม่มีใครอยู่บ้าน เราก็เอามาเปิดฟัง เจอเพลงลูกทุ่งของ คุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าดนตรีดึงเราไปอีกที่หนึ่ง เป็นการเดินทางไปกับสิ่งที่บอกเล่าในเพลง และเริ่มรู้สึกหลงเสน่ห์ เราจึงฟังเพลงบ่อยขึ้น มากขึ้น ใช้เวลากับเพลงเยอะมาก ติดมากถึงขนาดไม่ยอมหลับยอมนอน จึงไปขอมูลนิธิซื้อสเตอริโอของตัวเองในราคาพันกว่าบาท ซึ่งเป็นเงินเยอะมากในสมัยนั้น โดยให้เหตุผลว่าเป็นการจรรโลงจิตใจ (หัวเราะ) จะได้ไม่หนีไปเที่ยวไหน มูลนิธิก็ให้ (หัวเราะ) พอได้มาฟังก็หูแนบติดลำโพงทุกคืน กว่าจะหลับก็ตี 1 ฟังแล้วก็ฮัมเพลง ร้องตามโดยธรรมชาติ เวลานั้นไม่ได้คิดว่าจะไปเป็นนักร้องเลย

เข้าสู่วงการบันเทิง

พออายุ 13 – 14 ก็ตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯมาหางานทำ ตั้งใจจะทำงานเก็บเงินซื้อวีลแชร์ให้ยาย มาด้วยกันสองคนกับเพื่อนที่เป็นลูกครึ่งเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้เจอกันอีกเลยจนถึงเดี๋ยวนี้ ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร เราก็ระหกระเหินอยู่ในกรุงเทพฯราวปีกว่า แล้วก็ได้เจอแฟนคนแรกเป็นคนญี่ปุ่น จึงไปอยู่ญี่ปุ่นกับแฟนประมาณ 1 ปีก็กลับเมืองไทย มาทำงานขายของหน้าร้านที่ห้างโซโก้ อัมรินทร์ เพราะเราพูดภาษาอังกฤษได้ ทำได้ประมาณ 4 – 5 เดือนก็ออก แล้วกลับไปที่นครสวรรค์ เราไปเยี่ยมมูลนิธิเพิร์ล เอส บัค พอดีมีกลุ่มเพื่อน ๆ ที่เป็นลูกครึ่งด้วยกันกำลังจะเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯพอดี เลยได้กลับมากรุงเทพฯอีกครั้ง

ชีวิตผกผันมาก กลับมากรุงเทพฯได้ไม่นาน เพื่อนก็พามาสมัครกับโมเดลลิ่ง แล้วโมเดลลิ่งก็ส่งเข้าประกวด เป็นนางแบบตั้งแต่อายุ 16 เลย จากนั้นก็มีอาชีพในวงการมาตลอด ก่อนหน้านั้นไม่เคยคิดเลยว่าจะเข้าวงการบันเทิง รู้สึกว่ามันไกลเกินเอื้อม เพราะลูกครึ่งอย่างเราในยุคนั้นไม่ได้มีความมั่นอกมั่นใจเหมือนลูกครึ่งยุคใหม่ ลูกครึ่งยุคใหม่มีพ่อแม่ครบ ลูกครึ่งในยุคเราเป็นยุคสงครามเวียดนาม มีทหารอเมริกันมาประจำที่ฐานทัพอเมริกันในประเทศไทยจำนวนมาก ลูกครึ่งส่วนใหญ่จึงมักถูกตราหน้าว่าเป็นลูกโสเภณี

สุกัญญา มิเกล

ติดเหล้าตั้งแต่ยังไม่ยี่สิบ

พอเป็นนางแบบได้สักพักก็เริ่มดื่มเหล้า และหนักขึ้นเรื่อย ๆ อายุ 18 มีอาการเข้าขั้นที่เรียกว่าติดเลย คือมันต้องดื่ม ไม่ดื่มมือสั่น เหล้าเป็นเหมือนอาหารหลักของชีวิตในตอนนั้น เพราะเวลามึนเมา ความโกรธ ความรู้สึกเสียใจกับชีวิตตัวเองมันลดลง ทำให้เราใช้ชีวิตไปกับเวลาที่ผ่านไปได้

วิธีดื่มเหล้าของเราคือเมาตลอดเวลาเช้าจรดเย็นและไม่กินอาหาร วันที่มีงานก็ไปทำได้ ไปแบบกลิ่นละมุดก็มี มีถ่ายละครด้วย ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมคนในวงการบันเทิงจะมองว่าสุกัญญาคือแบดเกิร์ลสุด ๆ เราไม่ได้ไปทำร้ายใคร แต่เรามีสภาพที่คนรับไม่ได้ เราทำงานได้ตลอด ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ทำงานลุล่วงตลอด สุกัญญาเดินเข้าในกองถ่าย สุกัญญาเมา มานอนที่กองถ่าย แต่พอถึงคิวสุกัญญาเข้าบทได้อย่างราบรื่น จบงานสุกัญญามานอนต่อ สุกัญญาไม่ยุ่งกับใคร ไม่ประจบใคร

หลังจากติดเหล้าอยู่ปีกว่าก็เริ่มมีอาการเหมือนเป็นอัลไซเมอร์ คือมีงานติดต่อมา แต่คิดว่าตัวเองฝัน เหมือนหลอนไป คนจ้างก็โทร.มาตาม เราก็ต้องขอโทษขอโพยเขา สุดท้ายก็พัง ทุกคนเริ่มห่างหายจากสุกัญญาไป เช้าวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมา นั่งดูหน้าตัวเองในกระจก แล้วถามตัวเองว่าอยากจะมีชีวิตเป็นผู้หญิงผมเผ้ารุงรัง ไม่มีอาหารกิน เป็นโฮมเลส ขอข้าวคนอื่นกินมั้ย อยากนั่งอยู่ข้างถนนแบบเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตก็ช่างมันหรือเปล่า อยากเป็นศพเดินได้มั้ย ในใจก็ตอบว่า ไม่อยากได้แบบนี้ เราไม่ได้เกิดมาเพื่อมีชีวิตแบบนี้ แล้ว “ใจ” ก็บอกตัวเองว่า ถ้าอย่างนั้นก็ต้องเปลี่ยน วิธีเปลี่ยนคือหักดิบเลย ไม่แตะเหล้าอีกเลย เป็นระยะเวลาถึง 3 – 4 เดือน กินแต่น้ำอย่างเดียว

วันแรก ๆ หงุดหงิดมากที่ไม่ได้ดื่ม ตอนนั้นเราก็เริ่มหันมาเล่นดนตรีแล้ว เจอเพื่อน ๆ นักดนตรีดื่มกัน มันยั่วยวนมาก แทบจะทนไม่ไหวเลยนะ แต่คำถามนั้นจะผุดขึ้นมาในใจตลอดว่าอยากมีชีวิตแบบไหน (หัวเราะ) โอเค งั้นไม่เอา กินน้ำ และหันมาใช้ดนตรีบำบัด เวลาสองชั่วโมงบนเวทีทุกคืนก็ช่วยให้เราห่างจากเหล้าบุหรี่ได้พักหนึ่งเลย

พอครบ 6 เดือน ก็เริ่มรู้สึกว่าเราไม่ต้องการมันแล้ว มีอาการแบบไม่ต้องดื่มก็ได้ แต่อยู่กับคนที่ดื่มได้ จากนั้นก็ค่อย ๆ หาความสมดุลของตัวเองกับสังคม จะดื่มเฉพาะเวลาเล่นดนตรี ซึ่งเป็นการดื่มที่น้อยมาก จากเมื่อก่อนที่ดื่มทั้งวัน หลัง ๆ ก็ดื่มเบียร์หรือไวน์เบา ๆ พอให้กลมกลืนไป กลับบ้านไม่แตะ ตื่นเช้ามาไม่แตะ กลายเป็นว่าเราหายจากการติดเหล้าได้อย่างสมบูรณ์โดยที่ไม่ต้องไปหาหมอ

มีครอบครัว

เราถูกสอนมาให้เป็นผู้หญิง และเชื่อว่าการแต่งงานคือสูตรสำเร็จของชีวิต แต่เมื่อได้แต่งงานไปจริง ๆ ก็พบว่าเราไม่เหมาะกับชีวิตแต่งงาน แต่ไม่ได้เสียใจที่มีลูก ดังนั้นไม่ใช่ความผิดของทั้งเขาและเราที่ชีวิตคู่ล้มเหลว เพียงแค่ไปกันไม่รอดเท่านั้น เราคิดว่าควรแต่งงานกับผู้หญิงที่เป็นแบบเดียวกันและเข้าใจกัน หรือไม่ก็อยู่คนเดียวไปเลย

ทุกวันนี้ลูกสาวคนโตอยู่กับพ่อ ลูกชายคนเล็กอยู่กับแม่ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้เราจะไม่แต่งงาน แต่ก็ไม่เสียใจอะไรมากนัก เพราะเป็นสิ่งที่เราเลือกเอง ไม่ได้มีใครมาบังคับ

สุขในแบบที่เป็นตัวเรา

ตอนนี้มีความสุขในแบบที่เป็นตัวเรา ตื่นขึ้นมาทุกเช้าถึงจะหน้าตาเหี่ยวย่น แต่ก็เห็นตัวเราที่เป็นตัวเรา สิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เมื่อหันกลับไปมองก็พบว่า สิ่งเหล่านั้นช่างมีค่ากับเราเหลือเกิน และสิ่งเหล่านั้นเหมือนเป็นยาบำรุงและเป็นวัคซีนสำหรับชีวิตต่อไป

หลักคิดที่ยึดไว้ในใจเสมอคือ พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และพยายามเติมความรู้เสมอ ทำให้ตัวเราเหมือนน้ำครึ่งแก้ว การเรียนรู้ไม่ใช่มีเฉพาะแค่ในโรงเรียน เราสามารถเรียนรู้ได้จากทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลา

ทุกอย่างที่เราเห็นสามารถสอนเราได้ หรือแม้วันสุดท้ายที่เรามีลมหายใจอยู่ เรายังต้องเรียนรู้เลยว่าลมหายใจสุดท้ายคืออะไร เราสุขหรือทุกข์ก่อนจากไป

 

ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 232

เรียบเรียง : ชนาฉัตร

ภาพ : สรยุทธ พุ่มภักดี

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

10 อันดับ ข้อคิด เรียนรู้ชีวิตจากดารา ศิลปิน คนดัง นิตยสาร Secret

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.