ขอคำปรึกษา

บุคคล 8 ประเภทที่ไม่ควรขอคำปรึกษาอย่างยิ่ง

บุคคล 8 ประเภทที่ไม่ควร ขอคำปรึกษา อย่างยิ่ง

ไตร่ตรองก่อนที่จะเข้าไป ขอคำปรึกษา กับใคร คนที่คุณเคย ขอคำปรึกษา เขาตรงกับบุคคล 8 ประเภทนี้ไหม หากใช่โปรดระวัง

เชื่อว่าหลายคนคงระบายสิ่งอัดอั้นในใจ หรือขอคำปรึกษาปัญหาชีวิตกับคนอื่นบ้าง เช่น เพื่อนสนิท ครอบครัว และคนรัก แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า คนๆนั้นจะเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้เราได้จริง ๆ วันนี้ซีเคร็ตขอนำเสนอคน 8 ประเภทที่เราไม่ควรเข้าไปขอคำปรึกษาอย่างยิ่ง เพื่อที่จะได้ใช้ในการกรองคนก่อนที่จะขอคำปรึกษา

ในคัมภีร์มิลินทปัญหา ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมเรื่องเยี่ยมเรื่องหนึ่งของพระพุทธศาสนา มีตอนหนึ่งในคัมภีร์ที่พระยามิลินท์ ซึ่งเป็นกษัตริย์กรีกเข้ามาปกครองอินเดียหลังสมัยพุทธกาล เป็นผู้มีความเป็นนักปราชญ์ อารยธรรมกรีกถือว่าเป็นอารยธรรมที่มีปรัชญาและศาสนาเก่าแก่เป็นอันดับต้นของโลก

พระองค์ทรงถามพระนาคเสน พระเถระผู้ทรงปัญญาในสมัยหลังพุทธกาล ว่า “ บุคคลที่ไม่สมควรเข้าไปหาคำปรึกษามีด้วยกัน 8 ประเภท (1) คนโลภ (2) คนมักโกรธ (3) คนชอบหลง (4) คนถือตัว (5) คนละโมบ (6) คนขี้เกียจ (7) คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และ (8) คนพาล ”

พระนาคเสนจึงทักขึ้นว่า “ทำไมมหาบพิตรจึงกล่าวเช่นนี้ แล้วบุคคลทั้ง 8 นี้ทำไมจึงไม่เหมาะที่จะเป็นที่ปรึกษา ขอช่วยอธิบายให้กระจ่างหน่อยพระองค์”

พระยามิลินท์ทรงอธิบายถวายพระนาคเสนว่า “คนเหล่านี้ เมื่อให้คำปรึกษาใคร เขาจะถูกอำนาจแห่งกิเลสและอกุศลกรรมบดบังปัญญา จะทำให้เรื่องที่มาปรึกษานั้นเสียไป”

มาวิเคราะห์คำตอบของพระยามิลินท์กัน ด้วยพระยามิลินท์มีความเป็นปราชญ์สูง เคยถกเถียงชนะสำนักครูทั้ง 6 ที่มีชื่อเสียงมาพร้อมๆกับพระพุทธเจ้า พระองค์จึงมีทรรศนะที่กว้างไกล จนต้องมาสนทนาธรรมกับพระนาคเสนซึ่งมีบทสนทนาหลายข้อที่พระยามิลินท์ยอมรับว่าพระพุทธศาสนาสามารถไขกระจ่างความสงสัยของพระองค์ได้ เหตุใดพระยามิลินท์จึงตรัสเช่นนี้ บุคคล 8 ประเภทนี้ไม่เหมาะเป็นที่ปรึกษาใครได้จริงหรือ ? คงต้องมาพินิจกันดังนี้

บุคคลประเภทแรก บุคคลโลภ ในคัมภีร์เรียกว่า “คนราคะจริต” ราคะหมายถึง ความพึงพอใจในกาม ส่วนราคะจริตก็หมายถึง คนที่ชอบของสวยๆงามๆ ขอยกตัวอย่าง เช่น เจ้าหญิงอภิรูปนันทา พระญาติของพระพุทธเจ้าที่เป็นผู้รักสวยรักงาม พอบวชเป็นพระเถรีแล้ว ยังไม่ยอมละความสวย แต่บรรลุอรหันตผลได้หลังจากชมอสุภกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงเนรมิตขึ้นมา หรือพระนางเขมาเทวี พระมเหสีพระเจ้าพิมพิสาร เจ้าหญิงสุนทรนันทา พระขนิษฐาต่างพระมารดาของพระพุทธเจ้า และเจ้าหญิงเชนตาแห่งเวสาลี เป็นต้น ล้วนถูกพระพุทธเจ้าสอนด้วยอสุภกรรมฐานจนสามารถละจากราคะจริตจนบรรลุเป็นพระอรหันต์มาแล้วทั้งสิ้น

บุคคลประเภทนี้จะไม่สนใจกับรายละเอียดมาก นอกจากเนื้อหาผิวเผิน คำปรึกษาที่ได้ก็จะไม่ลงรายละเอียดมาก และไม่ยกรับความจริงของชีวิตด้วย เราอาจได้คำชี้แนะที่เป็นการเพิ่มปัญหาแทนมากกว่าคำชี้แนะที่เป็นทางออก

ประเภทที่สอง คนมักโกรธ หรือ “คนโทสะจริต” ตามชื่อคือถ้ามีเรื่องมาให้ปรึกษาก็จะทำให้เรื่องนั้นแทนที่จะเงียบหรือสงบลง กลับกลายเป็นการก่อปัญหาขึ้นไปอีก เช่น เราเอาเรื่องไม่สบายใจในที่ทำงานไปปรึกษาว่า เพื่อนร่วมงานชอบโยกงานมาให้ทำทั้งที่ไม่ใช่งานของเรา เขาก็จะให้คำปรึกษาในแนวที่ทำให้คุณสร้างเรื่อง เช่น ต้องโต้ตอบกลับด้วยอารมณ์ แทนที่จะคุยกันด้วยเหตุและผล

ประเภทที่สาม คนชอบหลง หรือ “คนโมหะจริต” คนประเภทนี้จะไม่สามารถให้คำปรึกษาที่ดีได้ เพราะเป็นคนที่ติดอยู่กับข้อมูลที่ไม่ใช่เป็นความเป็นจริงที่สุด เช่น เราปรึกษาเขาว่า พอหลังเลิกงาน เพื่อนที่ทำงานชอบรวมกลุ่มกันไปกินข้าวโดยไม่ชวนเรา เขาก็จะพูดในเรื่องที่ไม่ดี เรื่องที่ปรากฏต่อหน้า โดยไม่พูดให้เราคิดเผื่ออีกด้านหรืออีกมุมว่า สาเหตุที่เขาไม่ชวนอาจเพราะเขาไปในแหล่งอบายมุข เขาอาจเห็นว่าเป็นสถานที่ที่ไม่เหมาะกับเรา เขาเลยไม่ชวน

ประเภทที่สี่ คนถือตัว หรือ “คนมานะจริต” คนประเภทนี้จะยึดตัวตน (อัตตา) มาก พอฟังเรื่องที่มาปรึกษาจะใส่อารมณ์ร่วม คิดว่าเป็นเรื่องของเขาเอง จะพยายามให้คนที่มาปรึกษาทำตามที่เขาแนะนำ เช่น การเอาคืน การแก้แค้น เป็นต้น

ประเภทที่ห้า คนละโมบ คนประเภทนี้ ถ้าเรามีเรื่องการหาผลประโยชน์มาปรึกษา เขาก็จะแนะนำให้เราทะเยอทะยาน ขวนขวาย แสวงหาผลประโยชน์  เช่น หากเอาเรื่องของเงินเดือนมาปรึกษา เขาก็จะแนะนำให้เราต่อรองเงินเดือน และต่อรองสวัสดิการอื่น ๆ

ประเภทที่หก คนขี้เกียจ คนประเภทนี้จะแนะนำหนทางไปสู่ความสำเร็จไม่ได้ เพราะตนเองยังเป็นคนขี้เกียจ และยังไม่สามารถทำอะไรให้ประสบความสำเร็จได้เลย

ประเภทที่เจ็ด คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน อันนี้อาจคล้ายกับคนละโมบ แต่หากมาขอคำปรึกษากับเขา เราอาจกลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัว ไม่สนใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนอื่น เช่น เราปรึกษาเรื่องความสะดวกสบายในการติดต่อประสานงาน แต่เขากลับแนะนำให้เราให้เงินใต้โต๊ะ เพื่อสร้างความสะดวกให้เรา ทั้งที่คนอื่นเขาติดต่อประสานงานด้วยความยากลำบาก

ประเภทที่แปด คนพาล บุคคลประเภทนี้มีนิสัยพาลชอบก่อเรื่อง มักรำคาญง่าย บางทีก่อนที่จะปรึกษา หรือปรึกษาไปสักระยะ เรื่องของเราทำเราให้รำคาญ ก็ไล่เราโดยไม่ทันให้คำปรึกษา ซึ่งถือว่าเป็นคนที่ไม่มีประโยชน์อย่างยิ่ง หากจะขอคำปรึกษา

ทีนี้เรามาพิจารณาว่า คนที่เรามักขอคำปรึกษาเป็นตามนี้ไหม แล้วเรามักได้ผลจากการขอคำปรึกษาเป็นอย่างนี้หรือเปล่า…

 

ที่มา : มิลินทปัญหา โดย วัฒนไชย

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

Dhamma Daily : ให้คำปรึกษา กับคนอื่นแต่ตัวเองทำอย่างที่แนะนำไม่ได้ อย่างนี้บาปหรือไม่

Dhamma Daily : ถ้ามีแฟนอยู่แล้ว แต่ไป คุยกับผู้ชายคนอื่น แบบเพื่อนให้คำปรึกษาถือว่าผิดศีลไหม

7 เทคนิค วางตัวเองให้เป็น “ที่ปรึกษา” ดีเด่น

แอนิเมชั่น มิลินทปัญหา

สนทนาธรรมร่วมสมัยระหว่าง “พระนักเผยแผ่รุ่นใหม่” และ “ลูกศิษย์สุดแนว”

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.