Family 4.0

Family 4.0 ห้องเรียนพ่อแม่ – จิรายุ แก้วพะเนาว์

Family 4.0 ห้องเรียนพ่อแม่ – จิรายุ แก้วพะเนาว์

Family 4.0 ห้องเรียนพ่อแม่ – จิรายุ แก้วพะเนาว์ – คุณพร้อมแล้วหรือยังที่จะเป็นพ่อแม่ที่ดีมีคุณภาพในยุค 4.0 ยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในแทบทุกด้านของชีวิต

หากยังไม่พร้อม เราอยากชวนคุณมาเรียนรู้วิธีการเป็นพ่อแม่ยุคใหม่ไปพร้อมกับเราผ่านหนังสือ Family 4.0 ห้องเรียนพ่อแม่ ที่เขียนโดยนักเขียนที่มีประสบการณ์ในการจัดคอร์สปฏิบัติธรรมสำหรับเยาวชนมานานนับสิบปี ทั้งยังเป็นโค้ชให้กับองค์กรต่างๆ อย่าง คุณกะปอม – จิรายุ แก้วพะเนาว์

 

เด็กดื้อกลับใจ

ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ไม่ค่อยได้ใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่มากเท่าไรนัก เพราะพ่อเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ส่วนแม่ก็ทำงานเป็นสาธารณสุขชุมชน ต้องออกไปดูชาวบ้าน ตอนประถมจึงต้องอยู่กับคุณอา พอเข้าช่วงมัธยมก็ถูกส่งไปเรียนโรงเรียนประจำที่จังหวัดมุกดาหาร

ตอนนั้น ผมเป็นเด็กที่ค่อนข้างซน ทางโรงเรียนจะไม่ให้เรียนต่อหลังจบชั้นม.3 แต่เนื่องจากผมเป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยมุกดาหาร มีความผูกพัน ทางผู้อำนวยการโรงเรียนจึงอนุโลมให้ไปทำกิจกรรมอย่างเช่น การปฏิบัติธรรม หรือการบวช แลกกับการได้เรียนต่อ

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้บวชในโครงการสามเณรใจเพชรในปี 2541 โดยเด็กชายที่จะบวชต้องไปเตรียมความพร้อมที่ยุวพุทธ ก่อนจะไปบวชกับพระธรรมสิงหบุราจารย์ หรือหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม ที่วัดอัมพวัน

ตอนที่บวช หลวงพ่อบอกบรรดาสามเณรว่า ใครที่มาบวชกับหลวงพ่อ แล้วยังไม่ได้มะม่วงกลับไป ถือว่ายังมาไม่ถึง เนื่องจากชื่อวัดอัมพวันนี้มีความหมายว่า ป่ามะม่วง ส่วนมะม่วงในที่นี้ หลวงพ่อท่านหมายถึง การเรียนรู้เรื่องกฏแห่งกรรม เรื่องความกตัญญูกตเวทิตา และต้องสามารถนำเอาคำสอนของหลวงพ่อกลับไปใช้ในชีวิตประจำวัน

เนื่องจาก ผมไม่ได้คิดอยากมาบวชด้วยตัวเองตั้งแต่แรก ทำให้ตั้งใจปฏิบัติบ้างไม่ตั้งใจบ้าง กว่าจะเข้าใจในสิ่งที่หลวงพ่อสอนก็เกือบจะลาสิกขาแล้ว พอถึงวันลาสิกขา ผมจึงขอคุณแม่กลับมาบวชอีกครั้งในปีถัดไป

พอกลับมาบวชครั้งที่สอง ผมเข้าใจในสิ่งที่หลวงพ่อสอนมากขึ้น  เข้าใจในความรักของพ่อแม่ เข้าใจเรื่องกฏแห่งกรรม และการปฏิบัติครั้งนั้นทำให้กลับมามีสติ สมาธิ ปัญญามากขึ้น ทำให้ผลการเรียนก็ดีขึ้นตามไปด้วย ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ในอดีต ผมเคยเป็นคนขี้โมโห หงุดหงิดง่าย แต่พอไปบวชกลับมาก็ทำให้ผมมีสติรู้ตัวมากขึ้น แม้ความโกรธจะไม่หายไป แต่ก็เบาลง

 

ส่งต่อสิ่งดีๆ จากพี่สู่น้อง

ระหว่างที่บวชเป็นสามเณรในโครงการสามเณรใจเพชร เราเห็นว่ามีพี่ๆ ที่เป็นฆราวาสมาคอยดูแล ตอนนั้นก็ตั้งใจว่าหากเราลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาสก็จะกลับมาเป็นอาสาสมัครช่วยงานในโครงการ และนี่คือจุดเริ่มต้นว่าผมเข้ามาทำงานที่ยุวพุทธิกสมาคมได้อย่างไร ตั้งแต่นั้นมา ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง ผมก็จะเข้ามาช่วยงานที่ยุวพุทธเสมอไม่เคยเคยขาด

การมาเป็นหน่วยธรรมบริกรดูแลสามเณรร้อยกว่ารูปทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องการจัดการตั้งแต่ยังเด็ก นอกจากนั้นยังทำให้เราเห็นว่ามีคนอยากมาปฏิบัติธรรมเยอะมาก แต่คอร์สที่จัดมีปริมาณไม่มีเพียงพอต่อความต้องการ เมื่อเห็นดังนั้น ผมจึงแยกตัวออกมาทำโครงการปฏิบัติธรรมของตัวเอง เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนได้ปฏิบัติธรรมมากขึ้น

โครงการที่ผมก่อตั้งขึ้นมีชื่อว่า ‘โครงการสามเณรหน่อโพธิ์’ สำหรับเด็กชายอายุ 7 – 11 ปี เป็นการปฏิบัติที่ไม่เน้นรูปแบบ ส่งเสริมให้เด็กได้ทำในสิ่งที่อยากทำ โดยเราจะมีการเตรียมความพร้อมให้กับน้องๆ ที่จะเข้ามาบวชเพื่อให้เขาประเมินตนเองว่าหากต้องมาบวชเป็นเณร ต้องเดินจงกรม นั่งสมาธิ มีกฏระเบียบที่ต้องยึดถือทั้ง 10 ข้อ พวกเขาจะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะเราอยากให้เด็กๆ ที่มาได้ธรรมะกลับไปจริงๆ ไม่ใช่มาเพียงเพราะพ่อแม่บังคับในมาทำในสิ่งที่พ่อแม่เห็นว่าดี”

 

เยาวชนคนดี เริ่มต้นที่มีธรรมะ

ปัจจุบัน พ่อแม่หลายท่านตระหนักได้ว่าการส่งลูกมาปฏิบัติธรรม เหมือนเป็นการฉีดวัคซีนให้กับลูกๆ ตอนฉีดวัคซีนอาจทำให้รู้สึกเจ็บ แต่เมื่อโตขึ้นมา พวกเขาจะไม่เป็นโรคต่างๆ ธรรมะก็เช่นเดียวกัน สามารถทำให้เด็กๆ เป็นคนดีอย่างยั่งยืน ได้

เด็กๆ หลายคนที่เคยมาปฏิบัติธรรมเล่าให้ผมฟังว่า เมื่อก่อนตอนที่เขามาปฏิบัติธรรม รู้สึกเบื่อมาก แต่เมื่อวันหนึ่งเกิดสถานการณ์เลวร้ายขึ้นในชีวิต ธรรมะนี่แหละที่ช่วยได้ ทำให้เขามีสติ และมีปัญญา รู้ว่าจะแก้ปัญหาตรงหน้าได้อย่างไร

 

Family 4.0 ห้องเรียนพ่อแม่

ปัจจุบัน คุณจิรายุดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการของยุวพุทธิกสมาคม และเป็นเหรัญญิกของโครงการยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก นอกจากนั้นยังเป็นที่ปรึกษาเรื่องการพัฒนาบุคคล (Executive Coach) ให้กับองค์กรต่างๆ มากมาย ซึ่งคุณจิรายุได้นำเอาความรู้และประสบการณ์จากการเป็นผู้จัดคอร์สปฏิบัติธรรมสำหรับเยาวชน และการสอนเรื่องโค้ช ฟา และเมนทอร์ ให้กับผู้บริหารในองค์กรต่างๆ มาบูรณาการจนเกิดเป็นหนังสือ “Family 4.0 ห้องเรียนพ่อแม่” ที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับพ่อแม่ในยุค 4.0

ผมได้แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้มาจาก ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ อาจารย์ของผม และจากหนังสือ Marketing 4.0: Moving from Traditional to Digital โดย Philip Kotler

สำหรับผม ผมมองว่ายุค 4.0 คือยุคแห่งการบูรณาการ พ่อแม่จะมากำหนดว่าลูกจะต้องเติบโตไปเป็นวิศวะ ทหาร ตำรวจเหมือนยุค 1.0 ไม่ได้ เราต้องเลิกเรียกแทนตัวเองว่า ผู้ปกครอง นักปกครอง แต่ต้องเป็นผู้ให้การสนับสนุน (supporter) หรือผู้อุปถัมภ์ (patrol) แล้วสนับสนุนให้ลูกเจอแบรนด์ดิ้ง หรืออัตลักษณ์ของตัวเอง

ในยุคนี้ พ่อแม่ต้องลุกขึ้นมาเป็นครอบครัวสตาร์ทอัพ เรียนรู้สิ่งต่างๆ ไปพร้อมกับลูก เปลี่ยนจากผู้สั่งการ มาเป็นผู้ฟัง และไม่ใช่สักแต่ฟังโดยที่วางแผนเอาไว้ในหัวแล้วว่าจะจัดการกับลูกด้วยวิธีไหน แต่ต้องใช้ใจฟัง และเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ เมื่อเกิดความผิดพลาด พ่อแม่จะต้องไม่ซ้ำเติม แต่ต้องค่อยๆ โอบกอด และสอนเขา

ส่วนธรรมะจะเข้ามาช่วยให้เด็กๆ มีสติ มีสมาธิกับสิ่งที่ทำ จริงๆ แล้วแค่การต่อเลโก้ที่บ้านก็สามารถเป็นการปฏิบัติธรรมได้ เพียงแต่พ่อแม่ต้องคอยให้คำแนะนำอยู่ข้างๆ

ในฐานะที่เราเป็นคนสอนเด็ก เรามักระลึกไว้เสมอว่าการจะเลี้ยงลูกให้เติบโตมาเป็นคนดีอย่างยั่งยืนได้นั้นก็เหมือนกับการปลูกมันฝรั่ง ที่ต้องใช้เวลาในการเตรียมดิน 3 – 4 ปี เพื่อปลูกมันฝรั่งให้เสร็จใน 1 ปีและเก็บเกี่ยวให้เสร็จภายใน 3 สัปดาห์ การเลี้ยงลูกก็เช่นกัน พ่อแม่ต้องค่อยๆ รดน้ำพรวนดินด้วยความรัก ปล่อยให้เขาเติบโตอย่างที่ควรจะเป็น สิ่งไหนที่ไม่ใช่ก็อย่าไปเร่งรีบตัดต่อพันธุกรรม แล้วเราจะรู้ว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพในตนเอง

ยังมีเคล็ดลับการเลี้ยงลูกให้เติบโตมาเป็นคนดีมีคุณภาพท่ามกลางยุค 4.0 อีกมากมาย รอให้คุณพ่อคุณแม่ที่พร้อมเปิดใจได้เข้ามาเรียนรู้ไปพร้อมกันในหนังสือ “Family 4.0 ห้องเรียนพ่อแม่


เรื่อง Issara R. ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี


บทความที่น่าสนใจ           

ออกแบบความคิดพิชิตฝัน แรงบันดาลใจผ่านตัวอักษรของ เอกพนิฏฐ์ นาคนคร

ชายผู้ไม่เคยหมดแรงบันดาลใจ โอม ชาตรี คงสุวรรณ

เด็กดาวน์ซินโดรมผู้สร้างแรงบันดาลใจ คอลลิน คลาร์ค นักล่าฝัน หัวใจกำยำ

นิพา เดชมา เศรษฐินีร้อยล้าน “ฉันมีความจนเป็นแรงบันดาลใจ”

10 ข้อคิดสร้างแรงบันดาลใจจาก แจ็ค หม่า

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.