ทำบุญได้

ใคร ๆ ก็ ทำบุญได้ แม้ไม่ใช่มนุษย์…แต่มนุษย์ทำง่ายที่สุด

ใคร ๆ ก็ ทำบุญได้ แม้ไม่ใช่มนุษย์…แต่มนุษย์ทำง่ายที่สุด

บุญคือความดี…การทำบุญไม่ใช่มีแต่ในโลกมนุษย์เท่านั้น แม้ในภพภูมิอื่น  ๆ คือ นรก เปรต สัตว์ดิรัจฉาน ก็สามารถ ทำบุญได้ เช่นกัน

นรก

แม้จะทำบุญได้ยากเพราะทุกขเวทนาบีบคั้น แต่ก็ยังทำกรรมดีทางใจได้คือ คิดดี เช่น คิดเรื่องบุญกุศลที่เคยทำมา คิดถึงทานที่เคยให้ คิดถึงศีลที่เคยรักษา คิดถึงภาวนาที่เคยทำ แล้วเกิดปีติโสมนัส การคิดดีอย่างนี้เป็นต้นเหตุให้ทำดีในนรกได้ เช่น ยกมืออนุโมทนา ยกมือไหว้ ซึ่งอาจทำให้พ้นจากนรกได้ด้วย

เปรต

เปรตบางตนได้รับแต่ผลของอกุศลกรรมอย่างเดียว แต่เปรตบางตนได้รับผลบุญและบาปร่วมกัน ส่วนใหญ่ออกมาในด้านรูปร่าง เช่น สวยแต่เหม็นสาบ แต่ถ้าเปรตเหล่านี้ได้บุญ คือ อนุโมทนาผลบุญที่ผู้อื่นอุทิศให้ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตทันที โดยจุติจากภพเปรตไปเกิดเป็นเทวดาหรือเกิดเป็นมนุษย์

สัตว์ดิรัจฉาน

ในคัมภีร์กล่าวถึงการทำบุญของสัตว์ดิรัจฉานต่าง ๆ เช่น ช้างปาริเลยยกะอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ลิงถวายรวงผึ้งแด่พระพุทธเจ้า กบฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ ค้างคาวฟังพระสวดอภิธรรม ล้วนเกิดจิตเลื่อมใส เมื่อตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทั้งสิ้น

สัตว์ดิรัจฉานนั้นมีส่วนประกอบของชีวิตเหมือนมนุษย์ คือมีร่างกายและจิตใจ จิตของสัตว์ดิรัจฉานก็เหมือนมนุษย์ คือควบคุมการทำงานของร่างกาย รับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ทางอวัยวะรับสัมผัส คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และยังมีคุณธรรมหรือกิเลสปรุงแต่งจิตเช่นเดียวกับมนุษย์ คนโกรธ สัตว์ก็โกรธเป็น คนรัก สัตว์ก็รักเป็น คนมีศรัทธาผ่องใส สัตว์ก็มีศรัทธาผ่องใสเป็น คนมีสมาธิ สัตว์ก็มีสมาธิ คนมีสติ สัตว์ก็มีสติ แต่ทุกอย่างอยู่ในระดับของสัตว์ดิรัจฉาน คือไม่พัฒนาถึงขั้นไปทำประโยชน์สได้ยิ่งใหญ่หรือบรรลุมรรคผล ทั้งนี้อาจเป็นเพราะข้อจำกัดของร่างกายที่เป็นมาแต่กำเนิด เช่น สมองและอวัยวะรับสัมผัสต่าง ๆ ไม่เปิดทางให้จิตใช้วิเคราะห์หาความจริงได้อย่างลึกซึ้งถึงขั้นละกิเลสได้ แต่ในบางกรณี สัตว์บางตัวอาจจะมีสำนึกทางคุณธรรมสูงกว่ามนุษย์บางคนก็ได้ เช่น ความกตัญญู

มนุษย์

นอกจากโลกมนุษย์แล้ว ในภพภูมิอื่น ๆ นั้นโอกาสที่จะได้ทำบุญหาได้ยาก หากเป็นสวรรค์ก็จะมีแต่ความสุข หากเป็นนรกก็จะมีแต่ทุกข์ กล่าวได้ว่าภพภูมิอื่น ๆ มีปัจจัยเกื้อกูลให้ทำบุญน้อยมาก โลกมนุษย์ถือว่าเป็นโลกที่มีทั้งสุขและทุกข์ โอกาสทำบุญจึงหาได้ง่าย เนื่องจากปัจจัยที่เกื้อกูลให้ทำบุญ เช่นคนดีหรือสถานการณ์หาได้ง่าย แม้ความทุกข์เองก็เป็นปัจจัยให้เกิดการทำบุญ เช่น การถวายทาน รักษาศีล บำเพ็ญจิตภาวนาในโอกาสที่ประสบทุกข์ คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เมื่อเห็นทุกข์จึงเกิดศรัทธา เชื่อมั่นในบุญและอยากทำบุญ การทำบุญที่อาศัยศรัทธาย่อมส่งผลให้รุ่งเรืองมาก

 

ที่มา :   โอปปาติกะ ชีวิตหลังความตาย – ดร.บรรจบ บรรณรุจิ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

Photo by Stefano Pollio on Unsplash


บทความน่าสนใจ

Dhamma Daily : อยากทำบุญ แต่ไม่มีเงิน ต้องทำอย่างไรชีวิตจึงจะดีขึ้นคะ

จะรู้ได้อย่างไร ว่าที่ทำไป ได้บุญแน่แล้วหรือ ?

ทำบุญด้วยใจ เงื่อนไขไม่จำเป็นต้องมี 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.