สติปัฏฐาน 4

สติปัฏฐาน 4 “กำหนดรู้ด้วยการบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ” ณ วัดมหาธาตุฯ

สติปัฏฐาน 4  “กำหนดรู้ด้วยการบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ”

ณ วัดมหาธาตุฯ

สติปัฏฐาน 4 เป็นวิธีพัฒนาจิตตามหลักที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ถือเป็นหนทางเอกที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริง บรรลุซึ่งนิพพานอันเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา มีหลักในการพิจารณา 4 ฐานใหญ่ คือ การฝึกสติในการกำหนดตามรู้กาย เวทนา จิต ธรรม

หากดูตามความหมายแล้ว สติปัฏฐานประกอบด้วยคำหลัก 2 คำ คือ สติ ที่แปลว่าความระลึกหรือกำหนดรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ส่วน ปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งหรือที่กำหนด ดังนั้นสติปัฏฐานจึงมีความหมายว่า การมีสติกำกับอยู่เสมอ โดยหลักการปฏิบัติเพื่อให้สติเพิ่มพูนมากที่สุดคือ การใช้สติกำหนดที่ฐานทั้ง 4 คือ กาย เวทนา จิตธรรม นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน 4 นี้อาจใช้การบริกรรมร่วมด้วยการบริกรรมที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ การบริกรรม “พองหนอ ยุบหนอ”

ศูนย์ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนานาชาติ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่สอนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 โดยมีการใช้อุบายการกำหนดสติด้วยการบริกรรม “พองหนอ ยุบหนอ” แนวการปฏิบัตินี้สืบทอดมาจากพระธรรมธีรราชมหามุนี (ท่านเจ้าคุณโชดก) ซึ่งได้ประยุกต์แนวทางตามพระไตรปิฎกกับแนวพระวิปัสสนาจารย์แห่งพม่าที่ท่านเคยได้ไปศึกษาเล่าเรียนมาประกอบกัน

พระภาวนาวิริยคุณ วิ. (ไสว ธีรโสภโณ)

พระภาวนาวิริยคุณ วิ. (ไสว ธีรโสภโณ) ผู้อำนวยการศูนย์วิปัสสนากรรมฐานนานาชาติ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ยกตัวอย่างการกำหนดสติด้วยการบริกรรมในแต่ละฐานไว้ดังนี้

1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ตามดูกาย) คือการพิจารณากาย แบ่งออกเป็น 6 หมวด คือ การกำหนดดูลมหายใจ การกำหนดอิริยาบถใหญ่ (ยืน เดิน นั่ง นอน) การกำหนดอิริยาบถย่อย (ก้ม เงย หยิบ จับ เหยียดแขน คู้แขน) การกำหนดพิจารณากายโดยความเป็นธาตุทั้ง 4 การพิจารณากายโดยความเป็นของปฏิกูล ไม่สะอาด และการพิจารณากายโดยความเป็นป่าช้าทั้ง 9 คือ ซากศพในลักษณะต่าง ๆ

ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาที่หน้าท้องในเวลานั่ง เมื่อมีอาการพองเวลาหายใจเข้าจึงกำหนดว่า “พองหนอ” เมื่อท้องมีอาการยุบจึงกำหนดว่า “ยุบหนอ” เพื่อให้สติตามอาการทางกายที่แตกต่างกัน หรือหากเป็นอิริยาบถเดินก็สามารถกำหนดได้ว่า “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” เพื่อให้มีสติรู้ว่ากำลังก้าวเท้าไหน เป็นต้น

2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ตามดูเวทนา) คือการพิจารณาอารมณ์ที่เป็นสุขเป็นทุกข์ และไม่ทุกข์ไม่สุข

ผู้ปฏิบัติต้องใช้สติกำหนดที่เวทนาที่เกิดขึ้น เช่น เจ็บ ปวด เมื่อย คัน เป็นต้นพร้อมกับกำหนดว่า “ปวดหนอ ปวดหนอ” หรือ “เจ็บหนอ เจ็บหนอ” แล้วแต่ว่าจะเกิดเวทนาอย่างใด เมื่อเรากำหนดไปเรื่อย ๆ จะเห็นความไม่เที่ยงของอาการเหล่านี้ ซึ่งจะดับลงไปเองได้

3. จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน (ตามดูจิต) คือการพิจารณาดูจิตว่า จิตมีราคะ ไม่มีราคะมีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะเป็นต้น และรู้ชัดตามที่เป็นอยู่ขณะนั้น

เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ผู้ปฏิบัติสามารถใช้สติกำหนดรู้อารมณ์นั้นได้ เช่นเมื่อโกรธ ให้บริกรรมว่า “โกรธหนอ โกรธหนอ” เวลาดีใจก็กำหนดว่า “ดีใจหนอ ดีใจหนอ” เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ปัจจุบันและเห็นว่าอารมณ์นั้นจางหายไปได้

4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ตามดูธรรม) คือการพิจารณาเห็นธรรมที่เกิดขึ้น เช่น ความฟุ้งซ่าน ความง่วง หรือขันธ์ 5ซึ่งเป็นกองแห่งทุกข์ เป็นต้น

ผู้ปฏิบัติต้องกำหนดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นอารมณ์ เช่น นำนิวรณ์มาเป็นอารมณ์ เมื่อเกิดความสงสัยก็กำหนดว่า“สงสัยหนอ สงสัยหนอ” จนเห็นความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ จนเกิดความเบื่อหน่ายและคลายไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อฝึกปฏิบัติจนชำนาญแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดด้วยการบริกรรมแต่ให้ดูและพิจารณาไปตามการเปลี่ยนแปลงของกาย เวทนา จิต และธรรม ซึ่งเป็นการเฝ้ามองตลอดเวลาเพื่อไม่ให้จิตหรือสติส่งไปที่อื่น ซึ่งพระภาวนาวิริยคุณกล่าวว่า

“กรณีคนฝึกใหม่ควรใช้คำบริกรรมเหมือนกับคนที่ยังว่ายน้ำไม่เป็น จำเป็นต้องพึ่งขอนไม้หรือห่วงยางเพื่อพยุงไม่ให้ตัวจมแต่ต่อไปถ้าอินทรีย์เริ่มแก่กล้าว่ายน้ำเริ่มแข็ง อุปกรณ์ตัวช่วยเหล่านี้ก็จะไม่มีประโยชน์กับเราเลย หรืออาจเป็นภาระด้วยซ้ำ”

นอกจากนี้การปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน 4 สามารถฝึกปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวันเหมาะกับวิถีชีวิตคนเมืองที่ต้องเจอการกระทบกระทั่งของอารมณ์เสมอ และฝึกได้ง่ายเพราะใช้อิริยาบถที่เราคุ้นเคยและเคยชินเป็นอย่างดี เช่น การเดิน นั่ง ยืน นอนโดยเน้นการพัฒนาสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ที่มากระทบ เพื่อให้สามารถควบคุมอารมณ์และการกระทำของตนเองได้ เมื่อฝึกบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ จนกระทั่งมีสติมากพอ ดีพอ ทั้งนี้ “คนที่มีสติก็จะไม่พูดสิ่งที่ไม่ควรพูด ไม่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ”

ด้านอานิสงส์ของการปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐานนั้น พระภาวนาวิริยคุณกล่าวไว้ว่า “อานิสงส์ของการปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐานทำให้กายสำรวมและจิตใจสงบ เมื่อจิตใจสงบ มีสติ ความคิดก็เป็นระเบียบ สามารถเข้าใจทุกอย่างตามความเป็นจริงและดับทุกข์ทั้งทางกายและทางใจได้ ที่สำคัญคือ เมื่อมีสติอยู่กับปัจจุบันเสมอไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่ผิดพลาด”

“นักปฏิบัติต้องตัดอดีต ปิดอนาคตแล้วกำหนดอยู่ที่ปัจจุบัน เพราะอดีตผ่านมาแล้วแก้ไขอะไรไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึงหรือไม่เกิด แต่สิ่งที่กำลังเกิดและเห็นอยู่ชัด ๆ คือปัจจุบันเท่านั้น” – พระภาวนาวิริยคุณ วิ. (ไสว ธีรโสภโณ)

วัดหรือสำนักปฏิบัติธรรมที่สอนการปฏิบัติแนวสติปัฏฐาน 4 ด้วยการบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ

1. ศูนย์ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน นานาชาติ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โทร. 0-2223-6878

2. วัดอัมพวัน หมู่ที่ 4 ถนนเอเชีย กม. 130 ตำบลพรหมบุรี อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี โทร. 0-3659-9381

3. สำนักงานพุทธมณฑล ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โทร. 0-2441-0902

4. วัดป่าเจริญราช ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โทร. 0-2995-2112


บทความน่าสนใจ

วัดป่าเจริญราช สัปปายะสถานใกล้กรุง

วัชรธรรมสถาน แหล่งปฏิบัติธรรมสายวัดป่าใกล้กรุง

ฝึกสติเชิงประยุกต์ ณ วัดลาดพร้าว

วัดบุคคโล ประกายศรัทธาแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ทำไมปฏิบัติธรรมแล้วกลายเป็น คนโกรธง่าย เอาซะอย่างนั้น?

Dhamma Daily : ทำไม ปฏิบัติธรรม แล้วยังเอารัดเอาเปรียบและพูดจาว่าร้ายคนอื่น

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.