คัมภีร์พระมาลัย

คัมภีร์พระมาลัย คัมภีร์แห่งมิตรภาพและการสานสัมพันธ์ไทย-วาติกัน

คัมภีร์พระมาลัย  คัมภีร์แห่งมิตรภาพและการสานสัมพันธ์ไทย-วาติกัน

คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระสังฆราช ให้นำ คัมภีร์พระมาลัย ฉบับปริวรรตเป็นอักษรไทยไปถวายแด่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ณ นครรัฐวาติกัน ประเทศอิตาลี

 

คัมภีร์พระมาลัย

พระสมณประสงค์แห่งสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกที่ 266 มีพระสมณประสงค์นำคัมภีร์พระมาลัยฉบับอักษรขอมที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ถวายแด่สมเด็จพระสันตะปาปาปิโอที่ 11 ครั้งเสด็จเยือนนครรัฐวาติกัน เมื่อพุทธศักราช 2477 มาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนครรัฐวาติกัน แต่ทรงต้องการให้ผู้เข้าชมทราบเนื้อหาของคัมภีร์ จึงมีพระสมณประสงค์ให้ปริวรรตคัมภีร์นี้ แต่ทางสำนักวาติกันไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถแปลอักษรขอมได้ จึงนิมนต์ให้คณะสงฆ์ไทยปริวรรตคัมภีร์นี้เป็นอักษรไทย เพื่อที่จะแปลเนื้อหาของคัมภีร์เป็น 7 ภาษา ให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ จากทั่วโลกได้ศึกษา

สมเด็จพระสันตะปาปาทรงมอบหมายให้ มองซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์ เป็นผู้แทนพร้อมด้วยคณะเข้าพบพระเทพวีราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) เพื่อนิมนต์คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ ปริวรรตคัมภีร์พระมาลัย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559

คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯปริวรรตคัมภีร์เสร็จใน พุทธศักราช 2560 ต่อมาสำนักวาติกันส่งคณะตัวแทน โดยมีพระคาร์ดินัล ฟรังซิส เซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช พร้อมคณะผู้แทนกว่า 20 คน มารับคัมภีร์พระมาลัย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 คณะที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ ภาครัฐ และเอกชน ร่วมเดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเพื่อถวายคัมภีร์พระมาลัย ณ นครรัฐวาติกัน ประเทศอิตาลี ต่อมาจึงร่วมกันจัดงานแถลงข่าว ‘การเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ในพิธีถวายคัมภีร์พระมาลัย’ ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนฯ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา

 

คัมภีร์พระมาลัย

คัมภีร์พระมาลัยฉบับปริวรรต

พระราชปริยัติมุนี หัวหน้าคณะทำงานปริวรรตคัมภีร์พระมาลัย กล่าวถึงการปริวรรตและรายละเอียดของคัมภีร์พระมาลัยว่า

“ คณะทำงานได้ปริวรรตด้วยการถอดตัวอักษรจากตัวอักษรขอม-บาลีและขอม-ไทย  ซึ่งสรุปได้ดังนี้ ในส่วนที่คณะทำงานนั้น เราได้จัดเป็น 6 ตอนด้วยกัน

“ ตอนแรกคือถอดอักษรขอม-บาลี ที่เรียกกันว่า อภิธรรม 7 คัมภีร์ จากขอม-บาลีเป็นอักษรภาษาไทยปัจจุบัน เดิมทีต้นฉบับไม่มีคำแปลเราก็ใส่คำแปลเข้าไปด้วย

“ ในตอนที่สองถึงตอนที่ห้า เป็นพระมาลัยกลอนสวด เป็นอักษรขอม-ไทย จึงถอดเป็นภาษาไทยร่วมสมัย เรื่องย่อพระมาลัยนั้นไม่ใช่คัมภีร์ที่มาจากพระไตรปิฎก เรียกว่าเป็นคัมภีร์นอกนิบาต เรื่องย่อว่า

“ พระมาลัยเป็นพระเถระ ถือว่าเป็นพระอรหันต์อันสุดท้ายตามตำนาน มีอิทธิฤทธิ์ไปโปรดสัตว์นรกที่ได้รับทุกขเวทนา เหม เวชกรก็วาดคัมภีร์พระมาลัย หากเราอยากเห็นภาพชัด ๆ สามารถไปดูที่วัดไผ่โรงวัว หลวงพ่อขอม (อดีตเจ้าอาวาสวัดไผ่โรงวัว) นำภาพคนที่ประพฤติผิดศีล 5 เช่น ผิดลูก ผิดเมียเขาก็เป็นภาพคนปีนต้นงิ้ว ภาพเหล่านี้ล้วนเอามาจากคัมภีร์พระมาลัยทั้งสิ้น

“ ตอนสุดท้าย เป็นการสวดแจง สวดแจง เทศน์พระไตรปิฎก เดิมไม่มีคำแปลในคัมภีร์พระมาลัยฉบับวาติกัน แต่ว่าฉบับปริวรรตเราใส่คำแปลเข้าไปด้วย เพื่อให้ท่านมองซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์ ท่านจะได้แปลเป็นภาษาอีก 7 ภาษา

ในอดีตนิยมสวดคัมภีร์นี้ในพิธีแต่งงาน เพื่อสอนให้คู่บ่าว-สาวมีความซื่อสัตย์ ไม่ประพฤติผิดศีล 5 ต่อมาได้นำมาสวดในพิธีศพ โดยต้องสวดอภิธรรม 7 คัมภีร์ก่อน ตามด้วยเรื่องพระมาลัย และจบด้วยการสวดแจงพระไตรปิฎก ต้องเป็นงานศพของผู้มีฐานะในสังคม เพราะคัมภีร์นี้มีเนื้อหาที่ยาวและละเอียดมาก

 

คัมภีร์พระมาลัย

การเผยแผ่คัมภีร์พระมาลัยฉบับปริวรรตแก่ประชาชนและผู้สนใจ 

พระราชปริยัติมุนี หัวหน้าคณะทำงานปริวรรตคัมภีร์พระมาลัย เผยว่า จะมีการจัดพิมพ์หนังสือจดหมายเหตุเล่าถึงเรื่องราวการนำคัมภีร์พระมาลัยถวายแด่สมเด็จพระสันตะปาปา พร้อมเนื้อหาทั้งหมดของคัมภีร์พระมาลัยโดยย่อ เพื่อเป็นการเผยแผ่ความรู้แก่ประชาชนที่สนใจ และเป็นการอนุรักษ์คัมภีร์ในพระพุทธศาสนาสืบต่อไป

 

คัมภีร์พระมาลัย

เรื่องนรก-สวรรค์ บาป-บุญ  คุณ-โทษ ในความเชื่อทางพระพุทธศาสนาจากคัมภีร์พระมาลัย ที่คนไทยรู้จักกันมาอย่างยาวนาน กำลังจะกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้นในกลุ่มชาวต่างชาติที่มาเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้  

 


บทความน่าสนใจ

คัมภีร์พระมาลัย คัมภีร์มิตรภาพแห่งการกระชับความสัมพันธ์ไทย-วาติกันและสองศาสนา

พระอรหันต์อยู่ไหน?

ชวนเที่ยวไหว้ 5 พระอรหันต์ กิจกรรมนี้ทำได้ทุกเมื่อ

“ พุทธทาส จักไม่ตาย ” ตามรอยพระอรหันต์ พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.