“ นิทานข้ามกำแพง ” หนังสือนิทานจากฝีมือผู้ต้องขัง สู่หัวใจของเด็กทั่วประเทศ

“ นิทานข้ามกำแพง ” หนังสือนิทานจากฝีมือผู้ต้องขังสู่หัวใจของเด็กทั่วประเทศ

หากบอกว่าผู้ต้องขังในเรือนจำกลางบางขวางสามารถวาดเขียนนิทานสำหรับเด็กได้ คุณจะเชื่อไหม

หลายคนไม่เชื่อว่าพวกเขาจะทำได้ (แม้แต่ตัวพวกเขาเองก็แทบไม่เชื่อ) แต่หนังสือนิทานเหล่านี้คือผลงานของผู้ต้องขังจากเรือนจำกลางบางขวาง เรือนจำที่คุมขังนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป
จนถึงโทษประหารชีวิต

ทีมงาน ซีเคร็ต ได้รับเชิญมาร่วมงานเปิดตัวชุดหนังสือนิทานจากมือผู้ต้องขังใน โครงการนิทานสร้างสุข ณ เรือนจำกลางบางขวาง จังหวัดนนทบุรี ทีมงานเดินทางมาถึงก่อนเวลานัดเล็กน้อย เพื่อลงชื่อและฝากสัมภาระเกือบทั้งหมด (ยกเว้นอุปกรณ์การทำงานที่แจ้งไว้ล่วงหน้าแล้ว) ไว้ที่ด้านนอกของเรือนจำ ก่อนผ่านจุดตรวจและนับจำนวนคนเพื่อเดินเข้าสู่รั้วกำแพงสูง เดินแถวตามเจ้าหน้าที่เข้ามายัง “แดน 14” หรือฝ่ายการศึกษาและพัฒนาจิตใจ ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดหนังสือนิทานเด็กที่พร้อมส่งต่อให้แก่เด็ก ๆ ทั่วประเทศ

พลังแห่งนิทาน
เมื่อเอ่ยถึงนิทาน คนส่วนใหญ่ย่อมนึกถึงความสุขจึงเกิดเป็นที่มาของ “โครงการนิทานสร้างสุข” นั่นเอง ครูอรสม สุทธิสาคร ผู้อำนวยการโครงการนิทานสร้างสุข คือผู้ที่เชื่อว่าพลังแห่งนิทานสามารถดึงความนุ่มนวลอ่อนโยนในใจของทุกคนออกมาได้

“ครูเป็นคนที่ชอบอ่านนิทานและมีความเชื่อว่า เราทุกวัยสามารถอ่านนิทานภาพสำหรับเด็กได้ ทุกครั้งที่ได้อ่านจะมีความสุข เพราะพาให้ย้อนกลับไปสู่วัยเด็ก จึงเชื่อในพลังแห่งนิทานว่าจะสามารถทำให้ลูกศิษย์ทุกคนดึงความ
นุ่มนวลและวัยเยาว์ที่อยู่ลึกในใจออกมาได้ ลูกศิษย์หลายคนอยู่ในสถานะพ่อ ปู่ หรือตา จะดีสักเพียงไหน ถ้าได้เขียนนิทานเพื่อลูกหลานของตัวเอง รวมถึงลูกหลานของคนทั่วประเทศได้อ่านกัน”

“โครงการนิทานสร้างสุข” เริ่มเปิดการเรียนการสอนผลิตหนังสือภาพนิทานสำหรับเด็กแก่ “นักเรียนรุ่นพิเศษ”
คือผู้ต้องขังในเรือนจำกลางบางขวางที่ผ่านการทำกิจกรรมโครงการเรื่องเล่าจากแดนประหารและโครงการจิตอาสา
จากแดนประหาร จำนวน 53 คน ระหว่างเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2556 โดยมีครูผู้เป็นนักวาด นักเขียน และ
บรรณาธิการชื่อดังให้ความรู้ เช่น ครูเกริก ยุ้นพันธ์ ครูชีวัน วิสาสะ ครูระพีพรรณ พัฒนาเวช ครูวิภาวี ฉกาจทรงศักดิ์

โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานตั้งแต่โครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ
พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดยการสนับสนุนของ สสส. กรมราชทัณฑ์
เรือนจำกลางบางขวาง และเครือข่ายพุทธิกา

จากการเรียนการสอนเมื่อสี่ปีที่แล้ว วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่ครูจะได้พบ “นักเรียนรุ่นพิเศษ” อีกครั้ง เพื่อบอกกล่าว
ว่าต้นฉบับนิทานภาพกว่า 30 เรื่องที่ส่งมาได้นำไปพัฒนาบรรณาธิการกิจเป็นหนังสือที่งดงามทั้งการสร้างสรรค์เรื่อง
และภาพจำนวน 6 เรื่องแรก คือ ‘เสือน้อย’ น่ารัก หนูดีใจมากเลย วาดรูปกับพ่อ พ่อนกในป่าใหญ่ กา และ นก
เพื่อนมด

โดยจัดพิมพ์ให้แก่เด็กเล็กในพื้นที่ขาดโอกาสจำนวน 6,000 เล่ม และจัดพิมพ์เพิ่มเป็นครั้งที่สองจำนวน 24,000 เล่ม ตามที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาประทานคำแนะนำ ด้วยทรงเห็นประโยชน์อย่างมากใน
การนำไปเผยแพร่แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ซึ่งได้แก่ ผู้ต้องขังที่กำลังตั้งครรภ์ในเรือนจำ เด็กติดผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังที่ทำ
หน้าที่พี่เลี้ยง รวมทั้งกลุ่มเด็กเล็กในโรงเรียนต่าง ๆ ตามชายแดนที่อยู่ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“นิทานจากที่คุมขังอันแสนทุกข์เดินทางไปสู่เด็กทั่วประเทศ ให้เด็ก ๆ ได้อ่านและมีรอยยิ้ม มีความสุข เป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างน่าเหลือเชื่อ” ครูอรสมกล่าวพร้อมรอยยิ้มที่สะท้อนความสุขและตื้นตัน

กว่าจะเป็นเล่มนิทาน
“ทุกคนคิดว่าการทำหนังสือเป็นเรื่องง่าย แต่พอถึงเวลาที่ต้องมาเขียนแล้วจะรู้สึก เพราะการเขียนหนังสือสำหรับเด็ก เราต้องถอยความรู้สึกผู้ใหญ่กลับไปเป็นเด็กปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะถอยกลับไปเป็นเด็กได้อย่างไร”

ครูชีวัน วิสาสะ เล่าถึงความยากของการทำหนังสือนิทานสำหรับเด็กซึ่งมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน

ดังนั้น การอบรมการผลิตนิทานสำหรับนักเรียนรุ่นพิเศษนี้จึงต้องวางแผนการเรียนการสอนอย่างดี เพราะทั้งครูและ
นักเรียนมีเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น และในเวลาอันจำกัดนี้ ครูและนักเรียนจะได้พบกันเพียงสัปดาห์ละสองวัน

“ข้อจำกัดมีอยู่มาก เริ่มตั้งเวลาที่ครูและนักเรียนได้เจอกัน ระหว่างนี้หากนักเรียนติดขัดตรงไหนก็ติดต่อกันไม่ได้ ต่อมาคืออุปกรณ์ต่าง ๆ เราเตรียมมาให้เท่าที่ทำได้แม้แต่กระดาษต้นฉบับก็ต้องตัดมาขนาดพอดีเป๊ะ วันสุดท้ายที่ปิดคอร์ส ต้นฉบับมาอย่างไรเราก็ต้องรับมาอย่างนั้นและพัฒนาให้เป็นเล่มให้ได้ เพราะเราไม่มีทางกลับมาให้
นักเรียนแก้ใหม่ได้”ครูแต้ว - ระพีพรรณ พัฒนาเวช อีกหนึ่งครูในโครงการนี้เล่าให้ฟัง

ครูผู้สอนวางแผนการสอนอย่างรัดกุมและถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนมากที่สุด กระบวนการที่ใช้สอนเป็นพื้นฐาน คือ การฟัง คิด ตั้งคำถาม และลงมือเขียนพร้อมกับกระบวนการสำคัญคือ การให้นักเรียนอ่านนิทาน

“เราให้นักเรียนอ่านหนังสือนิทานเยอะมาก เรามีเวลาให้นักเรียนทุกคนอ่านหนังสือให้ตัวเองฟังและอ่านให้เพื่อนฟัง เพราะหนังสือสำหรับเด็กเป็นหนังสือที่ต้องอ่านออกเสียงก่อนลงมือเขียนต้องอ่านแล้วเปล่งเสียงออกมา เพื่อให้รู้
จังหวะ รู้ภาษา ไม่ใช่คิดว่าเขียนแค่ประโยคเดียวเองง่าย ๆ ใครก็เขียนได้ เพราะการเขียนต้องใช้ความลึกซึ้งและความซาบซึ้งด้วย” ครูแต้วกล่าว

แม้จะมีข้อจำกัดมากมาย แต่สุดท้ายก็ได้หนังสือนิทานภาพที่สวยงามสำหรับตีพิมพ์ 6 เล่ม ซึ่งวันนั้นเป็น
วันที่นักเรียนเหล่านี้จะได้เห็นผลงานของตัวเองเป็นครั้งแรก หลังจากรังสรรค์งานไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ซีเคร็ต มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของผลงาน 3 ท่านซึ่งเป็นเจ้าของผลงาน 3 เล่ม คือ

‘เสือน้อย’ น่ารัก: ภาพความรักของแม่แมวกับลูกแมว

“ตอนที่อบรมผมยังคิดอยู่ว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะครูเล่นเอาผู้สูงอายุมาวาดเขียนงานที่ต้องใช้ทักษะและจินตนาการ ซึ่งผมไม่มีพื้นฐานการวาดรูปมาก่อนเลย” สมมาตร เจ้าของผลงานนิทาน “ ‘เสือน้อย’ น่ารัก”
เล่าความรู้สึกเมื่อได้มาร่วมวาดนิทานในโครงการนี้

‘เสือน้อย’ น่ารัก เป็นนิทานภาพลายเส้นง่าย ๆ ลงสีไม้บางเบาตามแบบฉบับของผู้เริ่มต้นวาดรูป ชื่อของ “เสือน้อย” คือลูกแมวโทนที่สมมาตรทำคลอดเองกับมือและได้เลี้ยงดูจนเกิดความผูกพัน เมื่อได้รับโจทย์ให้วาดเขียนนิทานที่สื่อสารกับเด็ก เขาจึงคิดถึงพฤติกรรมของลูกแมวตัวนี้

“สัญชาตญาณของลูกแมวจะมีเพียงกิน นอน เล่นเคล้าคลอแม่ของมันเหมือนกับเด็ก ๆ และอีกอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือไม่ชอบอาบน้ำเพราะแมวกลัวน้ำ แต่เจ้าเสือน้อยไม่เหมือนแมวตัวอื่น มันไม่กลัวน้ำและชอบอาบน้ำมาก เพราะผมฝึกมันมาแต่ตัวเล็ก ๆ ผมจึงอยากสื่อให้เด็ก ๆ เห็นว่าขนาดแมวที่กลัวน้ำยังชอบอาบน้ำได้”

ภาพประกอบที่มีลักษณะ “ไร้เดียงสา” วาดเฉพาะตัวละครเสือน้อยกับแม่ที่ไม่มีลักษณะสัดส่วนที่สมจริงก็ทำให้เด็ก ๆ ชอบได้ไม่ยากนัก ครูชีวันสรุปว่า “ถ้าเทียบกับนิทานในท้องตลาดแล้ว เล่มนี้คงเป็นแนวอินดี้ เพราะมีมุมมองที่นักเขียนทั่วไปอาจคิดไม่ถึง นิทานเล่มนี้ใช้ความคิดเรียบง่าย ภาพวาดลายเส้นง่าย ๆ แต่มีผลดีคือ เด็กจะสามารถรับรู้ถึงความใสและมีรูปแบบของงานศิลปะที่เด็กวาดและระบายสีตามได้”

สมมาตรเจ้าของผลงานได้กล่าวถึงงานครั้งนี้ว่า “ผมขอกราบขอบพระคุณทุกส่วนทุกฝ่ายโดยเฉพาะครูที่นำโอกาสดี ๆ มาให้ และสื่อมวลชนทุกท่านที่เปิดโอกาสให้พวกผมได้มีที่ยืนอยู่ในสังคม” เขากล่าวขอบคุณจากใจทั้งน้ำตา

หนูดีใจมากเลย : เรื่องกลั่นจากใจในวัยเยาว์

“ตอนเด็ก ๆ เราได้รับอะไรมาจากผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นขนมหรือเงินเพียง 1 สลึง เราก็ดีใจและมีความสุข
ที่ได้อยู่กับท่าน”

แรงบันดาลใจจากวัยเยาว์บวกกับจินตนาการถึงความสุขในครอบครัวที่อยู่กันพร้อมหน้า คือที่มาในการวาดนิทานเรื่อง “หนูดีใจมากเลย” ของ อนันต์ วัย 65 ปี ผู้ถูกจองจำมานานกว่า 16 ปี อนันต์เล่าว่า เขาไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะสามารถวาดเขียนนิทานได้ในวัยนี้

ภาพประกอบที่มีลายเส้นและสีที่ดูเหมือนภาพวาดของเด็กเหล่านี้กลั่นกรองมาจากจินตนาการแห่งความสุข อนันต์เลือกใช้สีไม้และสีน้ำ โดยให้เหตุผลว่า สีไม้ลงสีได้ชัดเจนแต่ให้ความนุ่มนวลสู้สีน้ำไม่ได้ จึงต้องใช้ผสมผสานกันเพื่อความสวยงามของภาพ โดยประกอบกับเนื้อเรื่องที่เล่าถึงประสบการณ์ดี ๆ ที่ได้รับจากพ่อแม่และปู่ย่าตายาย โดยมีจุดเด่นของเรื่องอยู่ที่ประโยคลงท้ายว่า หนูดีใจมากเลย

“พ่อกับแม่พาหนูและน้องไปเยี่ยมตายาย หนูดีใจมากเลย ยายผูกชิงช้าให้พวกเรา หนูดีใจมากเลย ตาทำว่าวให้
เล่น หนูดีใจมากเลย…”

ครูชีวันอธิบายว่า ในการสื่อสารกับเด็ก บางครั้งถ้อยคำแรกหรือประโยคต้น ๆ เด็กจะจำไม่ได้ ดังนั้นประโยคที่มีสำคัญจึงเน้นอยู่ที่ตอนท้าย ซึ่งในเรื่องนี้เล่าถึงประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผู้ใหญ่ทำให้เด็ก ไม่ว่าประสบการณ์ใด
ก็เน้นย้ำให้เด็กรู้สึกว่าหนูดีใจมากเลยนอกจากนี้ครูแต้วเสริมว่า เมื่อลองนำไปให้เด็ก ๆ อ่านเด็กจะสนุกและชอบที่อ่านซ้ำในประโยคลงท้าย

“เด็ก ๆ จะอ่านชัดถ้อยชัดคำ และเริ่มเข้าใจความรู้สึกว่า เขาดีใจและมีความสุขที่ได้อยู่กับครอบครัว ซึ่งเป็นการเสริมแรงบวกให้เด็กอยากเป็นเช่นนี้ในชีวิตจริง”

“ถ้าได้ออกไปจากคุกแล้ว อยากนำหนังสือนิทานเล่มนี้ออกไปให้ลูกหลานได้อ่านกัน” อนันต์พูดทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

วาดรูปกับพ่อ : นิทานที่อยากให้ลูกได้อ่าน

“ถือเป็นงานหินที่ต้องดึงความรู้สึกวัยเด็กออกมาไม่อย่างนั้นจะไม่ได้งานที่เด็กเข้าใจ” สาธิต เจ้าของผลงานภาพและเรื่องของนิทาน “วาดรูปกับพ่อ” เอ่ยถึงความรู้สึกในการวาดนิทานในโครงการนี้พร้อมเล่าต่อว่า

“แรงบันดาลใจมี 3 ส่วน หนึ่งคือ คิดถึงลูก สองคือ อยากสอนลูก เพราะผมจากลูกสาวมาตอนที่เขา 11 เดือน ตอนนี้ลูกอยู่ประถมแล้ว ก็พอดีกับช่วงที่จะสื่อให้ลูกรู้ จึงคิดเรื่องที่เป็นการสอนลูก สามคือ อยากให้การทำงานศิลปะเป็นการวาดภาพอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องกดดันตัวเองว่าจะวาดเหมือนหรือไม่เหมือน”

สาธิตสร้างตัวละครพ่อลูก คือพ่อหมูกับลูกหมู โดยใช้บทสนทนาของพ่อมาดำเนินเรื่องพร้อมภาพประกอบรูปสัตว์
ชนิดต่าง ๆ เป็นพื้นหลัง ให้ผู้อ่านได้พิจารณาและคิดตามไปทีละส่วนว่าสุดท้ายแล้วลูกหมูจะวาดรูปอะไร

ความโดดเด่นพิเศษของ วาดรูปกับพ่อ คือภาพประกอบที่รองพื้นด้วยสีผสมอาหารที่สดใสจัดจ้าหลากสีซึมผ่านเข้าหากัน โดยมีภาพตัวละครที่พ่อลูกเอ่ยถึงและตัวละครอื่น ๆ ที่เป็น “ตัวหลอก” ซึ่งใช้วิธีวาดด้วยลายเส้นขดไปมาที่ผู้ดูต้องใช้ความคิดเชื่อมโยงไปถึงภาพจริง

“ผมเลือกใช้สีแรง ๆ เพราะอยากให้สะดุดตา เชิญชวนให้คนเปิดดู และสีรุนแรงก็เป็นการกระตุ้นจินตนาการได้ด้วย”
สาธิตให้เหตุผล

ส่วนครูแต้วผู้ดูแลนิทานเล่มนี้ให้ความเห็นว่า “นอกจากนิทานเล่มนี้จะสวยงามโดดเด่นแล้ว ยังเป็นหนังสือกึ่งเล่นกับเด็ก กึ่งพูดคุย ให้เด็กพยายามทายภาพสัตว์ในเรื่องได้ จึงเป็นการสื่อสารโต้ตอบกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่และส่งเสริมจินตนาการสร้างสรรค์ของเด็กด้วย” 

สุดท้าย สาธิตได้พูดถึงการเขียนนิทานไว้ว่า “การวาดนิทานทำให้ผมได้ผ่อนคลาย ได้เห็นค่าของตัวเอง ในความรู้สึกของผม ผมเหมือนกับตัวเองเป็น ‘คนดำ’ พอดำแล้ว เหล่าอาจารย์ที่มาสอนเหมือนเป็นน้ำฝนชำระล้างสีดำให้มันหลุดลอยไป แต่มันไม่ขาว เพราะสิ่งที่ทำมามันย่อมติด มันไม่ได้ติดแค่ผิวหนัง มันติดเข้ากระดูก เพราะฉะนั้นแค่เหลือเพียงสีเทาผมก็พอใจแล้ว

“ที่สำคัญ ผมขอขอบคุณทุกคนที่ทำให้ผมได้ยืนขึ้นจากที่ล้ม จากที่ดำ มาเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย เปิดโอกาสเปิดประตูให้รู้ว่าเส้นทางเดินไม่ได้มีเฉพาะเส้นทางในอดีตแต่ยังมีเส้นทางใหม่ ๆ ที่เราสามารถค้นหาและเดินไปสู่เส้นทาง
ที่มีความสุขได้”

นอกจากนิทานจะสร้างรอยยิ้มและความสุขให้แก่เด็ก ๆ แล้ว นิทานยังสร้างชีวิตใหม่ให้แก่ผู้ต้องขังหลังกำแพงสูงได้อย่างน่ามหัศจรรย์

สาธิตเป็นนักเรียนที่มีประสบการณ์ในการวาดภาพมาก่อนจากการเข้าโครงการ Art for All (กิจกรรมห้องเรียนศิลปะ
แก่ผู้ต้องขัง) ถึงเวลานี้เขาสารภาพว่ารักงานศิลปะมาก

“ผมชอบศิลปะ และคิดว่าศิลปะช่วยขัดเกลา ช่วยทำให้เรามีความสุขกับงานตรงหน้า ทุกวันนี้ผมได้ทำงานศิลปะของ
ผมไปเรื่อย ๆ เขียนบ้าง วาดบ้าง แม้มีข้อจำกัดว่าไม่สามารถมีสีในครอบครองได้ แต่ผมคิดว่าศิลปะก็คือธรรมชาติ ผมจึงเอาดินมาทาแทนสี ดินตรงนี้ก็สีไม่เหมือนตรงโน้น หรือเปลือกไม้ก็นำมาใช้ได้ ในความขาดเรามักเจอทางเลือกอื่นเสมอ”

ระหว่างพูดคุยสาธิตชี้ให้ดูผลงานภาพวาดรูปดวงตาที่กำแพง
“ภาพดวงตาที่กำแพงผมวาดนานแล้วครับ ตอนนั้นกำลังเรียน Art for All กำลังจะจบ ภาพนี้สื่อว่าในลูกกรงคุกนี้
มีหลายกลุ่มหลายคน ดวงตาด้านล่างคือกลุ่มคนที่ยังไม่ปรับตัวหรือมีความคิดดำมืด ดวงตาใหญ่ด้านบนสื่อถึงดวงตาที่มองท้องฟ้า แต่การมองท้องฟ้าของคนคุกทุกจุดจะเห็นสัญลักษณ์คุกเสมอ หนีไม่พ้น ดังนั้นจึงต้องอยู่กับมันให้ได้”

นิทานก่อพลัง สร้างกำลังใจ และศรัทธาต่อชีวิต

“ครูรู้สึกตื่นเต้นและประทับใจมากที่ได้มาสอน บอกตรง ๆ ว่าเรารอว่าเมื่อไหร่จะได้มาสอนอีก และเป็นเช่นนี้ทุกครั้ง เราดีใจที่ได้มาเจอนักเรียน ครูไม่ได้มา ‘ให้’ อย่างเดียว แต่ได้ ‘รับ’ พลังกลับไปด้วย เพราะได้เห็นความตั้งใจความกระตือรือร้น พลังของนักเรียนส่งกลับมาที่เรา การสอนนักเรียนรุ่นพิเศษนี้เป็นประสบการณ์ที่มีความหมาย และเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก ในฐานะครูต้องขอขอบคุณนักเรียนทุกคนที่ให้พลังใจแก่กัน” ครูแต้วเล่าพร้อมรอยยิ้ม

สุดท้ายแล้วพลังแห่งนิทานมีอำนาจมหาศาลดังที่ครูอรสมเชื่อมาตลอด เพราะนิทานได้ชุบชูใจให้ทั้งครูและศิษย์
ในโครงการนี้เกิดพลัง สร้างกำลังใจ สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อชีวิต 


ที่มา: นิตยสาร Secret

เรื่อง เชิญพร คงมา ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี


บทความน่าสนใจ

ไปสนุกกับวิถีชีวิตบางลำพูในอดีต @ พิพิธบางลำพู

เที่ยวตามรอยนิยาย “กาหลมหรทึก” ดูสถานที่จริง ให้อินนิยาย

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.