พูดกันไม่รู้เรื่อง

สาเหตุของการที่มนุษย์ที่ พูดกันไม่รู้เรื่อง

สาเหตุของการที่มนุษย์ที่ พูดกันไม่รู้เรื่อง

คุณเคยมีประสบการณ์ที่เวลาพูดกับบางคนแล้ว พูดกันไม่รู้เรื่อง บ้างไหม ทั้งๆ  ที่พูดภาษาเดียวกัน 

การพูดกันไม่รู้เรื่องหรือไม่เข้าใจกันนี้จะเป็นอุปสรรคใหญ่ในการทำงานร่วมกัน  บางครั้งถึงขั้นแตกความสามัคคีในองค์กรหรือทะเลาะเบาะแว้งกันได้  บางคนพูดแล้วเข้าใจได้ง่าย  บางคนพูดแล้วไม่เข้าใจ  ไม่รู้เรื่อง  และเป็น ซ้ำๆ  จนเป็นนิสัย  ใครๆ  ก็รู้ว่าคนคนนี้เป็นคนพูดไม่รู้เรื่อง

ในการนำสัมมนาเรื่องการทำงานหรือความสุขในการทำงานในองค์กรต่างๆผมมักจะหยิบยกเอาประเด็นปัญหาเรื่องการพูดกันไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจขึ้นมาแนะนำ วิเคราะห์ให้เห็นถึงสาเหตุและแนวทางว่า  ทำอย่างไรจึงจะพูดกันให้เข้าใจง่ายและ รู้เรื่องกันมากขึ้น  ก่อนที่ปัญหาความไม่เข้าใจ  ความขัดแย้งจะบานปลายต่อไป

สาเหตุของการที่มนุษย์พูดกันไม่เข้าใจ  ไม่รู้เรื่อง อาจมาจากสาเหตุเดียวหรือหลายสาเหตุรวมกันก็ได้  เช่น

สนใจตัวเองมากไป เป็นเพราะมนุษย์มีลักษณะเฉพาะ คือ  มักสนใจตัวเอง  แต่ถ้าใครสนใจตัวเองมากไปก็มักจะลืมคิดไปว่าคนอื่นเขาก็เป็นมนุษย์ด้วย  เขาต้องสนใจตัวเขาเหมือนกัน  คนที่สนใจตัวเองมากไปจึงลืมสนใจคนอื่นและมักไม่แคร์ว่าใครจะฟังเขาหรือไม่  เขาก็จะพูดของเขาไปเรื่อยๆ  คนพวกนี้มักสนใจแต่ความคิดของตนเอง  ไม่รับฟังและไม่สนใจคนอื่น

ลักษณะของคนที่ไม่สนใจฟังคนอื่น  เช่น

ก)  ถามในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องถาม

ข)  ให้ความเห็นนอกเรื่องบ่อยๆ

ค)  พูดซ้ำๆ  ในเรื่องที่ชี้แจงถกเถียงไปแล้ว

ชอบต่อต้านการเปลี่ยนแปลง พวกนี้ไม่ยอมพัฒนาตัวเองหรือแก้ไข ข้อบกพร่องของตนเองแม้จะรู้ว่าไม่ดี  มักมีนิสัยที่ดื้อรั้นและไม่สนใจคนอื่น

มีการเสริมแต่งสิ่งที่ได้ยินมาให้มากขึ้น โดยยึดเอาประสบการณ์  ความคิด  ความรู้สึกของตัวเองเป็นหลัก  และนำไปรวมกับข้อมูลหรือข้อความที่ได้ยินมา  ทำให้ข้อมูลและความหมายบิดเบือนไปไม่เหมือนเดิม  อย่างที่ชาวบ้านเรียกกันว่า  ”ใส่ไฟ    นั่นแหละ

ยกเมฆเอาเองโดยไม่มีเหตุผล พวกนี้มักคิดยกเมฆแต่งเรื่องเอาเองทั้งๆ  ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน  เวลาคู่สนทนาปล่อยให้มีช่องว่างในการพูด  ก็จะเสริมข้อความที่ยกเมฆเอาเองเข้าไปดื้อๆ  พวกนี้เข้าข่ายมีความแปรปรวนทางบุคลิก-ภาพ  ไม่มีวุฒิภาวะ  ไม่รับผิดชอบในสิ่งที่พูด  ปั้นเรื่องต่างๆ  ขึ้นมาเองเหมือนโกหกทั้งเรื่อง  ซึ่งเป็นอันตรายต่อสังคมมาก

มีนิสัยชอบซ่อนเร้น บางคนไม่ชอบแสดงออก  ขี้อาย  เก็บกด  หรือมีท่าทีสมยอมได้ง่าย  (เป็นพวก  Passive  Dependent  Personality)    จึงพูดน้อยมาก    ใครพูดอะไรมาก็เฉยๆ  หรือยิ้มๆ หรือถามคำตอบคำ  ทำให้อีกฝ่ายแปลความหมายผิด  เข้าใจผิด  หรือไม่เข้าใจได้ง่าย

มีลักษณะการพูดที่ไม่ปกติ พบในคนที่มีลักษณะการพูดที่แปรปรวน เช่น    การพูดแบบผิวเผิน  ไม่จับประเด็น  (Circumstantial)  บางคนพูดแบบอ้อมค้อม  (Around  the  Bush)    เสียเวลาในการฟัง จับประเด็นยาก  หรือแปลประเด็นความหมายไม่เหมือนกัน บางคนพูดแบบขาดสติ  ขาดความต่อเนื่อง  (Blocking)  หรือเริ่มต้นเรื่องหนึ่งแล้วไปลงท้ายอีกเรื่องหนึ่งเป็นคนละเรื่องกัน  หรือพูดแล้วหาทางจบเรื่องที่พูดไม่ได้เพราะลืมประเด็นที่เริ่มพูดเอาไว้ บางคนพูดแบบคนพิการหรือมีความบกพร่องทาง การพูด  เช่น  ติดอ่าง  พูดตะกุกตะกัก  พูดขาดเป็นห้วงๆ ไม่ติดต่อ  ทำให้เข้าใจการสนทนาได้ยาก

ขาดสมาธิในการฟัง เช่น  ใจลอยหรือกำลังเครียด  ทำให้ไม่ตั้งใจฟังหรือฟังแบบผิวเผิน  ทำให้จับประเด็นไม่ได้  ตอบคำถามไม่ตรงประเด็น  แปลความหมายของการสนทนาไม่ถูกต้องบางคนขาดสมาธิในการพูด  มีความคิดเห็นมากมาย (Frightening  of  Idea)    จับประเด็นไม่ได้    พูดมาก  เข้าข่ายเพ้อเจ้อ    ฟุ้งซ่าน

ป่วยทางจิต บางคนป่วยทางจิตเข้าข่ายจิตเภท มีประสาทหลอน  (Hallucination)    พูดคนเดียว    สร้างภาษาของตนเองใช้อยู่คนเดียว  คนอื่นไม่เข้าใจ    บ่นพึมพำไปเรื่อยๆ  หรือมีความหลงผิด  (Delusion)    คิดระแวงหรือคิดว่าตัวเองมีความสำคัญมากๆ    ทำให้มีวิธีการพูดไม่เป็นปกติ  คนฟังไม่เข้าใจ  คุยกันไม่รู้เรื่อง  บางคนมีการศึกษาดี  มีการงานทำดี  กว่าจะรู้ว่าป่วยทางจิตก็ใช้เวลานานและทำให้การทำงานในองค์กรมีปัญหามากมาย

การพูดกันให้รู้เรื่องจึงเป็นเรื่องสำคัญมากในชีวิตประจำวัน  ทั้งชีวิตที่บ้าน  ที่ทำงาน  และในการติดต่อกับสังคมในรูปแบบต่างๆ 

สาเหตุก็มีต่างๆ  กัน  ตั้งแต่บุคลิกภาพเฉพาะตัวจนถึงป่วยทางจิตในระดับต่างๆ  ซึ่งต้องหาทางเข้าใจเพื่อจะได้เกิดการพัฒนาแก้ไขหรือรักษาต่อไป

เรื่อง ศาสตราจารย์  ดร.  นพ.วิทยา  นาควัชระ


บทความน่าสนใจ

ปัญหา ระหว่างพ่อ แม่ และลูก จะสงบได้ง่ายด้วยความ (เข้าใจ)

สภาวะจิต คนคิดสั้น บทความที่อ่านแล้ว จะทำให้เข้าใจคนจิตตก

กฎเหล็ก 5 ข้อสำคัญของชีวิตที่คนไม่อยากเป็นทุกข์ควรทำความเข้าใจ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.