ทะไลลามะองค์ที่ 14 เผยวัตรปฏิบัติสุดเรียบง่ายจากพระโอษฐ์พระองค์เอง

แม้จะเป็นผู้นำที่ได้รับการยกย่องและมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลก แต่ สมเด็จพระเทนซิน กยัตโซ ทะไลลามะองค์ที่ 14 ก็ยังคงทรงมีวัตรปฏิบัติที่เรียบง่าย

นับตั้งแต่พระองค์ทรงตัดสินพระทัยเดินทางออกจากทิเบต เสด็จลี้ภัยไปยังอินเดีย ดินแดนที่เคยมีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันมานานหลายปี พร้อมกับนำชาวทิเบตกว่า 80,000 คนเข้าไปพำนักอยู่ ณ เมืองธรรมศาลา (Dharmsala) หรือ แมคลอดกานจ์ (McLeod Ganj) ที่ตั้งอยู่ในรัฐหิมาจัลประเทศ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย วัตรปฏิบัติของพระองค์ก็ยังทรงเป็นเฉกเช่นเดียวกับเมื่อครั้งอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนอันเป็นที่รัก นั่นคือเป็นวิถีอันเรียบง่ายที่สะท้อนถึงความสงบในจิตใจได้เป็นอย่างดี

สมดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้เสมอมาว่า “ข้าพเจ้าเป็นเพียงพระสงฆ์ธรรมดา ไม่มีอะไรมากกว่านี้และน้อยกว่านี้”

และนี่คือวัตรปฏิบัติในแต่ละวันของ ทะไลลามะองค์ที่ 14 ที่เผยจากพระโอษฐ์ของพระองค์เอง

สมเด็จพระเทนซิน กยัตโซ ทะไลลามะองค์ที่ 14

“ตามปกติอาตมาตื่นนอนตีสี่ สิ่งแรกที่ได้เห็นคือพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าจากพระพุทธรูป พอลุกขึ้นมาก็สวดมนต์ภาษาทิเบต อุทิศส่วนกุศลที่ได้ทำ ได้พูด ได้คิดทั้งวัน เป็นการแผ่ส่วนบุญเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น อาตมาภาวนาจนถึงตีห้าครึ่ง จากนั้นก็ทำพุทธบูชากราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์และปลงอาบัติ เพื่อสำรวจตรวจดูความผิดของเราที่แล้ว ๆ มา เพื่อแถลงให้สงฆ์ทราบ แล้วสวดมนต์ให้พรเพื่อความสวัสดีของสรรพสัตว์

“สมัยที่ยังอยูทิเบต เวลาที่ตื่นนั้นอากาศหนาวเย็นนัก อาตมาจึงต้องออกกำลังกายและรีบอาบน้ำแต่งตัวอย่างรวดเร็ว อาตมานุ่งจีวรสีแดงเข้มเหมือนพระรูปอื่น ๆ เป็นผ้าหยาบๆ ผืนเดียว มีปะชุน การนุ่งห่มผ้าอย่างนี้เอาไปขายไม่ได้ แต่ก็ถือเป็นการยืนหยัดปรัชญาของเราที่สอนให้ไม่ติดยึดในสิ่งของต่าง ๆ ทางโลก

“อาตมาก็เหมือนพระทุกรูป คืออยู่กับความจน ไม่มีสมบัติส่วนตัว ในห้องนอนก็มีแต่เตียง

สมเด็จพระเทนซิน กยัตโซ ทะไลลามะองค์ที่ 14

“พอสว่าง อากาศดี อาตมาจะลงสวน เวลาเช่นนี้นับว่าวิเศษมาก อาตมาจะมองดูฟ้าที่กระจ่าง ทำให้เกิดความรู้สึกพิเศษว่า เราแทบไม่มีความสำคัญอันใดเลยในจักรวาลนี้ ทำให้ตระหนักในความไม่เที่ยงแท้ นับว่าเหมาะแก่การพักผ่อนอย่างยิ่ง บางครั้งอาตมาก็ไม่คิดเลยว่าจะมีความสุขกับยามรุ่งอรุณและเสียงนกร้องได้อย่างนี้

“จากนั้นพระจะนำอาหารเช้ามาถวาย ขณะฉันเช้า อาตมาจะฟังวิทยุบีบีซี ราว ๆ ย่ำรุ่ง อาตมาก็ย้ายไปยังอีกห้องหนึ่งเพื่อภาวนาจน 9.00 น. การภาวนาเป็นพุทธวิธีที่ช่วยตั้งกระแสจิตไปในทางสุจริตหรือสัมมาทิฏฐิ เพราะทำให้เกิดความกรุณา การให้อภัย และความมีใจกว้าง อาตมาจึงภาวนาราว ๆ วันละ 6 – 7 ครั้ง

สมเด็จพระเทนซิน กยัตโซ ทะไลลามะองค์ที่ 14

“เก้าโมงจนเที่ยง อาตมาจะศึกษาพระธรรมจากคัมภีร์ พุทธศาสนานั้นลึกซึ้งมาก แม้อาตมาจะได้ศึกษามาจนตลอดชีวิตก็ยังต้องศึกษาอีกมาก อาตมาพยายามอ่านหนังสือของผู้รู้ฝรั่งด้วย เพราะอยากเรียนรู้ปรัชญาตะวันตกและวิทยาศาสตร์ของฝรั่ง โดยเฉพาะนิวเคลียร์ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ ประสาทชีววิทยา บางครั้งอาตมาก็ทำงานด้านเครื่องยนต์กลไก เช่น เปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับวิทยุ หรือซ่อมเครื่องวิทยุ

“เวลาเที่ยงครึ่ง อาตมาฉันอาหารซึ่งมีเนื้อด้วย แม้อาตมาจะชอบอาหารมังสวิรัติก็ตาม แต่พระย่อมต้องฉันเท่าที่เขาถวายมา บ่ายเป็นงานราชการ พบปะกับพวกรัฐมนตรีที่ลี้ภัยออกมาด้วยกัน และตัวแทนจากรัฐบาลทิเบต นอกจากนี้ก็ยังมีคนมาขอพบเสมอ ส่วนมากมาจากทิเบต คนกล้าเหล่านี้เขาไม่ได้รับอนุญาตจากจีนคอมมิวนิสต์หรอก เขาเลยหนีออกมาจากช่องแคบแถบเชิงเขาหิมาลัย

“เวลาย่ำค่ำ อาตมาฉันน้ำชา ตอนหนึ่งทุ่มเป็นเวลาดูโทรทัศน์ อาตมาชอบดูรายการบีบีซีที่ว่าด้วยอารยธรรมตะวันตกและรายการต่าง ๆ แล้วก็ถึงเวลาที่กำหนด เป็นเวลาภาวนาและบูชาพระ

สมเด็จพระเทนซิน กยัตโซ ทะไลลามะองค์ที่ 14

“อาตมาหลับง่าย  สองทุ่มครึ่งหรือสามทุ่มก็หลับแล้ว แต่ถ้ามีพระจันทร์ อาตมาจะนึกถึงว่ามีพระจันทร์มองลงมายังประชากรของอาตมาที่ถูกขังติดคุกอยู่ในทิเบต แม้อาตมาจะเป็นผู้ลี้ภัย แต่ก็มีเสรีภาพในการพูดเพื่อประชากรของอาตมา อาตมาจะสวดอ้อนวอนต่อพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ผู้เป็นองค์พิทักษ์ของทิเบต ขอให้ทรงปกปักรักษาพวกเขา

“จริงๆ แล้วทุกชั่วโมงที่กินอยู่ อาตมานึกถึงความทุกข์ยากของประชากรของอาตมาซึ่งถูกเขากางกั้นเอาไว้เสมอ”

 

เรื่อง : Ghibli

ที่มาข้อมูล : ทะไลลามะ ประมุขแห่งทิเบต โดยอัญญรัตน์ อ่อนสุทธิ Instructions For Life from The Dalai Lama (2006)

ภาพ : IG@dalailama

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.