โรคหัวใจ ไกลห่างด้วยเมนู “รักหมดใจ”

โรคหัวใจ ไกลห่างด้วยเมนู “รักหมดใจ”

คนเรามีหัวใจดวงเดียวที่ต้องเก็บรักษาไว้ ต้องทะนุถนอม ดูแลหวงแหนทั้งในด้านความรักความรู้สึก และการดูแลสุขภาพของ หัวใจให้แข็งแรง

การดูแลหัวใจนั้นสัมพันธ์ทั้งกับสภาพจิตใจและการดูแลที่ตัวอวัยวะหัวใจ  ในทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มองว่าหัวใจมีความสัมพันธ์กับระบบของธาตุไฟและธาตุลม  ถ้าเมื่อใดธาตุไฟกำเริบ (ร้อนเกินควบคุม) ก็ทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด ง่าย โมโหง่าย ใจร้อน กระวนกระวาย ร้อนอกร้อนใจ  ลุกลี้ลุกลน  และส่งผลให้ธาตุลม (ทั้งสุมนาวาตะและลมหทัยวาตะ) กำเริบ  ก็เกิดอาการหงุดหงิด วิตกกังวล กระสับกระส่าย รวมถึงนอนไม่หลับและอาจส่งผลต่อระบบความดันโลหิตผิดปกติได้  แต่ที่สำคัญคือทั้งหมดนั้นล้วนส่งผลเสียต่อการทำงานของหัวใจ การไหลเวียนโลหิต  อารมณ์แปรปรวนไม่ปกติ  จนทำให้เกิดอาการของโรคหัวใจได้  ซึ่งดิฉันมีวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันตนง่ายๆ ดังนี้
1. ไม่นอนดึกจนเกินไป (ไม่ควรนอนเกินสี่ทุ่ม)  เนื่องจากถ้านอนหลังสี่ทุ่มจะเป็นเวลาของธาตุไฟ อาจทำให้นอนไม่หลับ รู้สึกร้อน  หงุดหงิด  หรือหลับได้ไม่สนิท  เมื่อตื่นตอนเช้าจะยังรู้สึกง่วง  สะลึมสะลือ ไม่สดชื่น บางรายมีอาการมึนงงเนื่องจากนอนไม่พอ
2. ควรดื่มน้ำอุ่นหรือนมอุ่นเล็กน้อยก่อนนอน  เพราะจะช่วยให้การไหลเวียนต่างๆ ดีขึ้น  หรือจะเป็นชาเกสรดอกไม้เพื่อ ช่วยสงบประสาทและทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น
3. ไม่ควรรับประทานอาหารที่ย่อยยาก เช่น  เนื้อสัตว์  หรืออาหารไขมัน  หรือผักดิบ ต่างๆ มากเกินไปในมื้อเย็น  เพราะจะรบกวนระบบไฟธาตุทั้งการย่อย การเผาผลาญ และส่งผลให้ธาตุลมที่เกี่ยวกับการย่อยพัดพาได้ไม่สะดวก  ทำให้ท้องอืด  อาหารไม่ย่อยไม่สบายท้องหรือเกิดการสะสมของไขมันได้ง่าย  พอนานวันเข้าก็ส่งผลให้เกิดการสะสมของไขมันในหลอดเลือด (ท่อทางเดินของลม)  ทำให้เกิดหลอดเลือดตีบตันได้ง่ายขึ้น  โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจ  หลอดเลือดสมอง ฯลฯ
4. ฝึกหายใจทำสมาธิจากการฟังเพลงบรรเลงและบริหารร่างกายในท่าเหยียดและยืดกล้ามเนื้อ การฝึกการหายใจที่ถูกต้องจะช่วยให้เกิดการไหลเวียนที่ดีขึ้น  ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ อารมณ์  ความดันโลหิต ทำให้เกิดการนำเอาพลังงานแฝงสะสมมาใช้ และช่วยกระตุ้นการเผาผลาญต่างๆในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น
5. รับประทานไขมันและอาหารหวานแต่พอประมาณ  รับประทานเค็มแต่น้อย รับประทานแป้งพอควรและต้องให้ครบทั้ง 6 หมู่ (เพื่อรักษาสมดุลของธาตุทั้ง 6 ได้แก่ ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  อากาศ  และวิญญาณธาตุ)
6. ออกกำลังกายเป็นประจำ  จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงมีกำลังในการสูบฉีด (การไหลเวียนของลม) ดีขึ้น  ไม่เหนื่อยง่าย  นอนหลับได้ดีขึ้น  ทำให้หัวใจมีสมรรถภาพที่ดีและแข็งแรง
7. มองโลกในแง่ดี(คิดในทางบวก) จะส่งผลต่อทั้งการทำงานของหัวใจที่ดีและต่ออารมณ์ที่ดี ทำให้มีสติมากขึ้น  อาการหงุดหงิด โมโหง่าย  กระวนกระวาย  นอนไม่หลับก็จะไม่เกิดขึ้นถ้าปฏิบัติตามหลักการนี้

7 ข้อปฏิบัตินี้เป็นวิธีอย่างง่ายที่ทุกคนนำไปปฏิบัติได้และไม่รู้สึกอึดอัดที่จะปฏิบัติ แต่ถ้ายังปฏิบัติได้ไม่ครบในครั้งนี้ดิฉันมี ตัวช่วยที่ทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้นและดีต่อสุขภาพ อย่างเมนู“รักหมดใจ” แก้วนี้นั่นเอง

โรคหัวใจ อาหารบำรุงหัวใจ
รักหมดใจ

เมนูรักหมดใจ

โดย อาจารย์วันทนี  ธัญญา  เจตนธรรมจักร ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย

ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่)   เตรียม 20 นาที  ปรุง 20 นาที
ใบเตยหอม 5 ใบ
ดอกบัวหลวงขาวตัดก้านทิ้ง ล้างให้สะอาด 1 ดอก
แห้วดิบ หั่นเป็นแผ่น 10 หัว
ดอกคำฝอย 1 ช้อนชา
ดอกมะลิสด 20 ดอก
อ้อยสดปอกเปลือกออก หั่นหรือบุบ ให้แตก 100 กรัม
น้ำเปล่า 1 ลิตร

วิธีทำ
นำใบเตยมาขยำแล้วมัดรวมกันใส่ลงหม้อ  ตามด้วยอ้อย  ก่อนเติมน้ำลงหม้อ  นำไปตั้งไฟต้มให้เดือด 10 นาที  จึงใส่ดอกบัว  แห้วลงต้มต่อ 10 นาที ใส่ดอกคำฝอย ดอกมะลิลงต้มต่อ 10 นาที (ตลอดการต้มให้ปิดฝาหม้อ)  เมื่อครบเวลาให้ยกลงจากเตา  กรองเอาแต่น้ำดื่มขณะยังอุ่นจะดีต่อสุขภาพ

ดอกบัวและเกสรบัวหลวง ดอกมะลิ  ช่วยบำรุงหัวใจ  ช่วยให้การไหลเวียนเลือดดี
ใบเตย  มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะอย่างอ่อน
แห้ว  ช่วยบำรุงกำลัง  แก้ร้อนภายใน
อ้อย  บำรุงกำลัง  ขับปัสสาวะ

พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 54.24 กิโลแคลอรี
โปรตีน 0.53 กรัม 
ไขมัน 0.29 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 13.71 กรัม 
ไฟเบอร์0.64 กรัม

 

โรคหัวใจ ป้องกันได้ด้วยเมนูอื่นๆ  คลิก

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.