“เมนูจากผัก” อยากแข็งแรง ไม่ป่วยง่าย โรคภัยไม่ถามหา ต้องกินสิ่งนี้ให้มากขึ้น!!!!

“ไม่อยากป่วย ยกมือขึ้น !”

“ใครเอ็นจอยของอร่อย ยกมือขึ้น !”

“ใครอยากค้นพบเมนูที่ให้ทั้งสุขภาพ และความอร่อย ทานได้ทุกวัน ไม่เบื่อ ยกมือขึ้น!”

เจอคำถามนี้เข้าไป ใครละจะไม่อยากยกมือ แต่ตรงกลางระหว่างคำถามนี้ บางทีก็มีโจทย์ (ที่ดูเหมือนไม่ยากแต่ก็ยาก)อย่างการกินผักผลไม้ให้ได้มากขึ้นมาคั่นตรงกลาง หลายๆ คนไม่กินผักผลไม้ ไม่ใช่เพราะไม่อร่อย หรือไม่ชอบ แต่อาจเป็นเพราะว่ายังไม่รู้ว่าจะกินอย่างไรให้ถูกหลัก ยังไม่ซาบซึ้งดีพอว่ากินผักผลไม้ให้มากขึ้นจนถึงมาตรฐานที่กำหนดแล้วให้คุณงามความดีอะไร ไม่รู้ว่าจะปรุงรสชาติให้อร่อยได้อย่างไร แถมเบื่อกับเมนูผักผลไม้เดิมๆ ที่รู้จักอยู่ไม่กี่อย่าง เข้าร้านทีไร ก็ต้องสั่งมากินทุกทีไป ถ้าทุกสิ่งที่พูดมานี้เป็นปัญหาแน่นอก คุณเข้ามาถูกทางแล้ว เพราะโอกาสนี้เรามี เมนูผัก สุดครีเอทมานำเสนอ

ขีดเส้นใต้ไว้เลย!
“บริโภคผักผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน (โดยไม่ใช่พวกพืชหัวหรือมันฝรั่ง ซึ่งเป็นผักที่ให้คาร์โบไฮเดรตสูง) จะช่วยป้องกันสารพัดโรค อย่างเช่น โรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน รวมทั้งโรคอ้วน อีกทั้งสามารถช่วยลดปัญหาขาดสารอาหารอีกด้วย”

ถึงตรงนี้ชักเริ่มสนใจขึ้นมาแล้วสิ….
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) บอกไว้ชัดว่า ในหนึ่งวันคนเราควรบริโภคผักและผลไม้ไม่น้อยกว่า 400 กรัม โดยมีธัญพืชทั้งเมล็ดและถั่วชนิดต่างๆ ไม่น้อยกว่า 20 กรัม (จะส่งผลให้ได้รับใยอาหารเกิน 25 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณใยอาหารที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน) คู่ไปกับควบคุมสารอาหารประเภทอื่นๆ อย่างไขมัน เกลือ/โซเดียม และน้ำตาล

จำง่ายๆ กินพืชผักให้มากและกินผลไม้เป็นประจำ
-กินผักวันละ  4-6 ทัพพี
-กินผลไม้วันละ 3-5 ทัพพี
(จะเท่ากับกินผัก 3 ส่วนมาตรฐาน + ผลไม้ 2 ส่วนมาตรฐาน)

รู้ไปใช่ว่าจะทำ
แต่ก็เป็นเรื่องน่าตกใจไม่น้อยที่สำรวจพบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป กินผักผลไม้ต่อวันต่ำกว่าปริมาณที่แนะนำ (ผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 ปีพศ.2557 ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข)

ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยบริโภคผักและผลไม้ไม่เพียงพอ คืออะไรรู้ไหม มันคือ
“ความหลากหลาย หรือทางเลือกของเมนูผักผลไม้ในชีวิตประจำวัน มีค่อนข้างจำกัด
!!!”

โครงการดีๆ ที่อยากเห็นคนไทยสุขภาพดีขึ้น
ด้วยเหตุนี้ สถาบันโภชนาการ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์รณรงค์เพิ่มการปริมาณการบริโภคผักและผลไม้แก่ผู้บริโภค ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดให้บริโภคผัก ผลไม้มากกว่า 400 กรัมต่อวัน

เป็นที่มาของการจัดกิจกรรมการแข่งขัน “รังสรรค์เมนูฟิวชั่นด้วยผักผลไม้ 100 กรัม”  โดยผู้สมัครออกแบบเมนูอาหาร 1 ชุด ประกอบด้วย 3 ประเภทคือจานหลัก อาหารว่าง และเครื่องดื่มที่มีผักและผลไม้เป็นส่วนประกอบไม่น้อยกว่าเมนูละ 100 กรัม

ซึ่งเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการคัดเลือก 10 ทีมสุดท้ายที่เข้ารอบ มาประกวดบนเวที โดยแสดงการปรุงประกอบอาหารทั้งสามเมนูที่ส่งแข่งขันต่อหน้าคณะกรรมการ และทีมงาน Health&Cuisine ก็ได้เข้าไปร่วมงานดังกล่าวด้วยจึงนำภาพบรรยากาศและโฉมหน้าเมนูอาหารมาฝากกัน

 เมนูฟิวชั่นด้วยผักผลไม้ ที่เห็นแล้วไม่เพียงดีต่อสุขภาพและยังเป็นอาหารตาที่ดูน่าลิ้มลองมากๆ

 ทีม Wonder Girls (จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต)

เมนูจากผัก

อาหารหลักคือพาสต้าสามสีผัดฉ่า มาจากพริกระฆัง สีเหลือง สีแดง และสีเขียว เอาไปเผาแล้วสกัดเป็นน้ำมาผสมตอนนวดแป้งโดเส้นพาสต้า เอาเนื้อปลาไปปั่นให้ละเอียดแล้วใส่ไปมนตัวเครื่องเทศของสมุนไพรไทย ทานคู่กับซอสผัดฉ่า ทานกับเส้นแล้วทานคู่กัน ปลากะพงขาว รสชาติหอมกลิ่นสมุนไพรกลิ่นเครื่องเทศ และมีกลิ่นผัดฉ่าร้อนแรงอยู่แล้ว

ทีมปวยเล้งรังสรรค์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

เมนูจากผัก

ด้วยความที่สมาชิกทั้ง 3 ชอบกินผักปวยเล้งมาก พวกเขาจึงนำปวยเล้งมาตั้งเป็นชื่อทีม รวมถึงนำผักชนิดนี้มาเป็นวัตถุดิบหลักของเมนูที่ใช้ในการแข่งขัน เริ่มจากจานหลักนำผักปวยเล้งไปปั่นผสมลงในแป้งเคบับ ด้านในสอดไส้ด้วยอกไก่ย่างและผักสด ก่อนราดด้วยซอสฮังเล ของหวานนำผักปวยเล้งไปปั่นทำเป็นเจลลี่ผสมลงในไอศกรีมรสนม เสิร์ฟพร้อมไอศกรีมสตรอว์เบอร์รี่เชอร์เบท ทอปปิ้งด้วยธัญพืชและผลไม้สด ส่วนเครื่องดื่มมีชื่อว่า ผักโขมสับปะรดสมู้ทตี้ แก้วนี้นำผักโขมสับประรด โยเกิร์ตและมะนาว ปั่นรวมกัน แล้วเติมรสให้หวานกลมกล่อมด้วยน้ำผึ้ง

ทีม Power Puff Girl (ม.เกษตรศาสตร์)

เมนูจากผัก

เมนูเรียกน้ำย่อยคือข้าวตังลาบแซลมอน ที่นำผักสดจัดอยู่ในแก้วใบจิ๋ว วางข้าวตังที่ทำจากข้าวกล้องไว้บนแก้ว แล้วจึงนำลาบแซลมอนผสมธัญพืชที่รสชาติแซ่บซี้ดราดลงไป ส่วนจานหลักคือโรลสไตล์ญี่ปุ่นที่ด้านในสอดไส้ข้าวอบธัญพืชและหมูสับราดด้วยซอสพิซซ่า ส่วนเครื่องดื่มสีสวยที่เรียงเป็นชั้นสวยงามแก้วนี้ ชั้นล่างสุดเป็นน้ำเชื่อมที่ทำจากสตรอว์เบอร์รี่ปั่นกับเปลือกส้ม ชั้นถัดมาคือน้ำแข็งปั่นรวมกับน้ำเชื่อมที่ได้จากการต้มน้ำตาล กับเปลือกเลม่อนและอบเชย สีม่วงชั้นบนคือน้ำอัญชันแช่ให้แข็งแล้วนำไปปั่น แล้วทำการตกแต่งเจลลี่ผลไม้ด้านบนสุด

Power Puff Girls (มหาวิทยาลัยสวนดุสิต)

เมนูจากผัก

กระเพรา ซอสกระเพราไม่เผ็ดมาก รสชาติไม่จัดเกินไป ทานได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เปลี่ยนจากผักโขมมาใช้ผักหวาน ใช้นมกับแป้งในการผัดแทนการใช้ครีม อาหารหลักคือ secret steak สเต๊กที่ซ่อนผักไว้ภายใต้ ผักที่เห็นนี้ผัดด้วยซอสที่ปรุงขึ้น เป็นซอสบาร์บีคิวชิลลิเพสซอสผสมพริกเผาไทย แล้วนำผักวางเป็นชั้น เนื้อไก่ ผักกระหล่ำม่วง แครอท ผักกาดแล้ว ข้าวโพด มะเขือเทศ ผักย่าง ซอสเลม่อน ทานคู่กับสลัดผักย่าง ผักย่าง ในจานเลือกที่คาร์โบไฮเดรตต่ำ ซอสเลมอนปรุงจากมายองเนส ไข่แดง นมข้นหวาน และเครื่องปรุงรสชาติ น้ำผักผลไม้ตั้งชื่อว่า “Evergreen Mocktail” ใส่ผักโขม มะม่วงมหาชนก สับปะรด น้ำเลมอน และน้ำเชื่อมเพิ่มความหวานเล็กน้อย รสออกเปรี้ยวๆ หวานๆ  กลมกล่อมโดยไม่ต้องเติมเกลือ

ทีม Sven (มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จังหวัดสุพรรณบุรี)

เมนูผัก

ทีมนี้ตั้งชื่อเมนูเรียกน้ำย่อยแบบเก๋ๆ ว่า สามคำกลมกล่อม ซึ่งตัวฐานทำจากข้าวไรซ์เบอร์รี่อบกรอบ โดย 2 คำที่อยู่ซ้าย-ขวาจะราดด้วยเต้าหู้ผัดกับเห็ดหอมและน้ำมันงา ส่วนคำที่อยู่ตรงเป็นกิมจิที่ให้รสเปรี้ยวเผ็ด เมื่อกินครบทั้งสามคำจะได้รสกลมกล่อมสมชื่อ จานหลักคือราดหน้าแกงเลียงเส้นอุด้ง ส่วนเครื่องดื่มที่ใช้ในการะแข่งขันในครั้งนี้คือ น้ำหวานห่างจระเข้น้ำผึ้งมะนาว ซึ่งเด็ดตรงที่ใส่เนื้อว่านหางจระเข้ลงไปด้วย ดื่มแล้วจึงจะได้ทั้งความหวานสดชื่นทั้งยังได้เคี้ยวเพลินๆ กับเนื้อนุ่มหนึบหนับของว่านหางจระเข้

คลิก 2 อ่านเมนูเด็ดจากอีก 5 ทีม พร้อมผลการประกวด

ทีมกินพอดี สุขีดุสิต (มหาวิทยาลัยสวนดุสิต)

เมนูจากผัก

จัดเสิร์ฟสวยเด่นเลยทีเดียวสำหรับทีมนี้ ตั้งแต่เมนูเรียกน้ำย่อยอย่างมินิเบอร์เกอร์ที่สอดไส้ด้านในด้วยกะเพราไก่เสิร์ฟคู่มากับซอสมะเขือเทศใบกะเพรา เคียงด้วยสลัดผักย่างราดน้ำสลัดใบมะกรูด จานหลักเป็นเส้นพาสต้าที่ทำจากผักราดด้วยซอสต้มยำ เสิร์ฟกับลาวิโอลีไส้หมูสับและกุ้ง ตกแต่งด้านบนด้วยเนื้อกุ้งที่หั่นเป็นเส้นแล้วนำไปอบจนเหลืองกรอบ เครื่องดื่มหน้าตาน่าชิม ชั้นล่างเป็นมะม่วงสุกและพานาคอตต้า เมื่อแช่เย็นจนเซตตัวแล้วจึงใส่สมู้ทตี้ผักใบเขียวลงไป เป็นเมนูแปลกใหม่ที่ผสมผสานระหว่างขนมหวานและเครื่องดื่มได้แปลกใหม่จริงๆ

ทีม อจก. (ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยบูรพา)

เมนูจากผัก

น้องๆ ทีมนี้เรียนจบโภชนบำบัดได้ปีกว่าและทำงานด้านโภชนาการอยู่ในโรงพยาบาลกันแล้ว ทว่าด้วยใจรักในการทำอาหารจึงมาร่วมประกวดเพื่อค้นหาประสบการณ์ใหม่ๆ เมนูเรียกน้ำย่อยของพวกเขาเริ่มจากทาโก้ลุยสวน ที่ตัวไส้ทำจากยำผักใส่ไก่ฉีกรสชาติแซ่บแบบไทยๆ จานหลักคือเซตเบนโตะ ที่ประกอบไปด้วยซูชิไข่สอดไส้ผักกับไก่สับ วางคู่มากับสปาเกตตีเต้าหู้ เพิ่มคุณค่าด้วยผักสลัดที่เสิร์ฟเคียงมา เครื่องดื่มมีชื่อว่า น้ำผลไม้รีมิกซ์ ใช้น้ำสับปะรดแช่แข็งมาปั่นรวมกับน้ำส้ม น้ำมะนาว และขิง ได้เป็นเครื่องดื่มที่เย็นชื่นใจแบบไม่ต้องใส่น้ำแข็ง

SDU NUTRITION 2559 (มหาวิทยาลัยสวนดุสิต)

เมนูจากผัก

สหายผักใบ ประกอบด้วยใบเหลียงอบครีม ได้ความมันของใบเหลียงผัดกับนม รสชาติกลมกล่อม บรอคโคลี่บอลล์ คลุกเคล้าด้วยอัลมอนด์ ให้รสชาติหอมมัน  ไก่โรลใบชะพลู  สหายผักผล มีนาโช่ซัลซ่าลิ้นจี่ ข้าวโอ๊ตบอล ซอสพรุน  สหายผักรวม ประกอบด้วยน้ำแอ๊ปเปิ้ลผักกาดหอม กลิ่นแอปเปิ้ลเขียวนำ มีคะน้าเซเลอรี่ เลมอน พาร์สลีย์ ทับทิม สปาเก็ตตี้ผักสามสี ใช้เส้นสามสีคือเขียว ส้ม เหลือง โดยสีเขียวได้จากบรอคโคลี สีส้มได้จากแครอท และสีเหลืองจากฟักทอง ราดด้วยซอสต้มยำลงบนเนื้อปลากระพงที่วางอยู่ด้านบน

โฮะฟิวชั่น (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

เมนูจากผัก

คำว่า “โฮะ” ในภาษาเหนือแปลว่า “นำมารวมกัน” เมนูเซตทีมนี้นำอาหารจานผักผลไม้มาผสมผสานกับอาหารจากวัฒนธรรมต่างประเทศอย่างทาร์ทา รังสรรค์เป็น” ทาร์ทาร์สปาเก็ตตี้ซอสข้าวซอยไก่” โดยมีองค์ประกอบหลักคือ เส้นสปาเก็ตตี้ทำจากผักโขม โดยนำผักโขมมาปั่นละเอียด ผสมกับแป้งอเนกประสงค์ สำหรับซอสข้าวซอย ปรุงจากไก่และเครื่องข้าวซอย ให้กลิ่นหอมของของสมุนไพรอย่าง ยี่หร่า ชะพลู ลูกผักชี ทางเหนือจะได้ความเปรี้ยวจากมะนาว แต่ทีมนี้ใช้แอ๊ปเปิ้ล ซึ่งให้ความเปรี้ยวที่ไม่โดดจนเกินไป ทานกับสปาเก็ตตี้ โคร็อกเกะต้มยำกุ้ง ซึ่งสูตรปกติจะทำจากมันบด นำไปทอด แต่ทีมนี้ลดปริมาณมันบด แล้วเพิ่มผักใบ ใส่เห็ด ผักชีฝรั่ง ต้นหอม คลุกเครื่องต้มยำกุ้งบดละเอียด ส่วนน้ำปั่นแอ๊ปเปิ้ลผักกาดขาว ใส่มะนาว ตัดด้วยน้ำเชื่อมรสออกเปรี้ยวหวานสดชื่น กลิ่นละม้ายคล้ายน้ำฝรั่ง

ทีมกระจุ๊กกระจิ๊ก (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

เมนูจากผัก

เพื่อสื่อถึงความมหัศจรรย์ของเขตร้อน เลยนำกุ้งแม่น้ำมาปรุงเป็นจานหลัก ซอสทำจากมะม่วงน้ำดอกไม้สุก ผลไม้ขึ้นชื่อของไทย ปรุงด้วยสูตรแบบอินเดียคือผสมระหว่างซอสมะม่วงกับโยเกิร์ต นำมาฟิวชั่นกับเมนูไทยโบราณหาทานยากอย่าง “แสร้งว่ากุ้ง” จานนี้ให้รสชาติเปรี้ยวหวาน หอมกลิ่นเครื่องเทศ และได้รสเผ็ดหน่อยๆ จากแสร้งว่า เมนูที่สองคือ ออเดิร์ฟ  โคร็อกเกะ ไส้มันเทศไข่ ซึ่งเป็นมันที่มีสีออกแดงตามธรรมชาติ จากการที่เห็นว่าช่วงนี้มันม่วงญี่ปุ่นกำลังได้รับความนิยม ก็เลยนำมันสีแดงแบบไทยมาประยุกต์เป็นเมนูแนวญี่ปุ่น ทานคู่กับสลัดผัก ที่มีน้ำสลัดปรุงจากน้ำอัญชัน และมีสลัดมะม่วงกับสับปะรด น้ำสลัดมีสองตัว ตัวแรกออกรสเปรี้ยว เผ็ดหวาน ทานกับสลัดมะม่วง-สับปะรด และน้ำสลัดรสออกหวานนิดๆ ทานกับผักบัตเตอร์เฮด เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค แตงกวาญี่ปุ่น สสมูททีมะม่วงสับปะรด ทานคู่กับน้ำปั่นกระหล่ำม่วง

ผู้ชนะการแข่งขัน
รางวัลชนะเลิศตกเป็นของ ทีม Wonder Girls  จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งสามารถคว้ารางวัลเงินสด 50,000 บาท และโล่เกียรติยศไปครองได้สำเร็จ ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมกระจุ๊กกระจิ๊ก จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศได้แก่ ทีมกินพอดี สุขีดุสิตา จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขณะที่รางวัลป๊อปปูล่าโหวต ซึ่งตัดสินจากการโหวตให้คะแนนของผู้ร่วมงานนั้น ก็ตกเป็นของทีมผู้ชนะเลิศอย่าง Wonder Girls ไปอีกหนึ่งรางวัล

เมนูจากผัก
โฉมหน้าผู้เข้าร่วมการแข่งขัน
เมนูจากผัก
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมตัดสิน
เมนูจากผัก
ผศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เมนูจากผัก
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.
เมนูจากผัก
นพ.กำจัด รามกุล ที่ปรึกษากระทรวงด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข
เมนูจากผัก
(ซ้าย) นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. (ขวา) รศ.ดร.รัชนี คงคาฉุยฉาย ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตาม วิธีปรุง บางส่วนของเมนูเหล่านี้ ได้ใน Health&Cuisine ในเร็วๆ นี้นะคะ

เรื่องผักสุดครีเอทอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Grilled vegetable เมนูผักต้านอนุมูลอิสระ

5 ไอเดีย แปลงผักเป็นเมนูอร่อย เก๋ไก๋ไม่ซ้ำใคร

5 จานอร่อยจากผักผลไม้ ไม่เกิน 200 แคลอรี

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.