เลอค่า “น้ำตาลไทย” ใส่อะไรก็อร่อย

“น้ำตาล” วัตถุดิบไทยรสหวานอมตะจากธรรมชาติ ปลอดสารเคมี เครื่องปรุงในอาหารที่อยู่คู่ครัวไทยมาช้านานหลายร้อยปี ทั้งน้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าว และน้ำอ้อย เรามารู้จักกันกันดีกว่า ว่าน้ำตาลแต่ละชนิดที่ว่านั้นได้มาจากอะไรและนำไปทำอะไรได้บ้าง

 

น้ำตาล

น้ำตาลโตนด

“โตนด” อีกชื่อหนึ่งที่คนไทยใช้เรียก “ต้นตาล” นอกจากมีลูกตาลสุกให้นำมาทำขนมตาลแล้ว ยังมีน้ำตาลสด และน้ำตาลปึก ซึ่งได้จากการกวนน้ำหวานของช่อดอกหรืองวงตาลจนข้นเหนียว น้ำตาลปึกที่ว่ามีเหลืองนวลค่อนไปทางขาว บางที่ก็จะเป็นสีน้ำตาลเข้มแต่ไม่พบบ่อยนัก

แหล่งผลิตน้ำตาลปึกที่โด่งดังของประเทศมีอยู่ 2 ที่ด้วยกัน คือ เมืองเพชรบุรี และ อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท น้ำตาลปึกนำมาทำอาหารได้ทั้งคาวและหวาน แต่ส่วนใหญ่คนไทยนิยมนำมาทำขนมมากกว่า เพราะด้วยกลิ่นรสที่หอมหวานเข้ากับขนมไทยได้เป็นอย่างดี

น้ำตาล

น้ำตาล

ดูสูตรฟักทองแกงบวดที่ : http://www.goodlifeupdate.com/8992/healthy-food/แกงบวดฟักทอง/

นิยมนำมาเคี่ยวเป็นน้ำกะทิไว้สำหรับกินกับขนมไทย อย่าง น้ำกะทิลอดช่อง หรือใส่ในขนมหม้อแกง สังขยา หรือจะนำมาปรุงในแกงบวดต่างๆ รวมถึงลูกอมกะทิแบบไทยที่ใส่ถั่วลิสงลงไปให้เคี้ยวมันอร่อยมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

น้ำตาล

น้ำตาลมะพร้าว

ได้จากการเคี่ยวน้ำหวานของช่อดอกหรือจั่นของมะพร้าวจนข้นเหนียว แล้วเทใส่พิมพ์ให้เป็นปึกแข็ง เรียกน้ำตาลปึกเช่นกับกับน้ำตาลโตนด หรือกวนให้อ่อนๆ อัดใส่ปี๊ปขาย ก็เรียกน้ำตาลปี๊บ กลิ่นไม่หอมเท่าน้ำตาลโตนด รสชาติหวานแหลมกว่า สีเหลืองเข้มไปจนถึงน้ำตาล

น้ำตาลมะพร้าวชั้นดีของไทยมาจากอัมพวา บ้านแพ้ว แม่กลอง และนครปฐม แหล่งปลูกมะพร้าวแหล่งใหญ่ของประเทศ สามารถนำมาทำอาหารได้ทั้งคาวและหวานคล้ายกับน้ำตาลโตนด แต่จะให้รสหวานมันมากกว่าเพราะมีความมันจากมะพร้าวติดไปด้วย

น้ำตาล

ดูสูตรมัสมั่นปลาอินทรีย์ที่ : http://www.goodlifeupdate.com/24617/healthy-food/มัสมั่นปลาอินทรี/

น้ำตาล

เมนูอาหารคาวที่ใช้น้ำตาลมะพร้าวมาปรุงจะช่วยเพิ่มรสหวานมันให้อร่อยมากยิ่งขึ้น อย่าง แกงกะทิต่างๆ เช่นแกงเผ็ด แกงมัสมั่น แกงคั่ว หรือแม้กระทั่งพะแนง ส่วนขนมหวานนั้นก็ทำได้ทุกชนิดคล้ายกับน้ำตาลโตนด เพราะบางพื้นที่หาน้ำตาลโตนดไม่ได้ก็ใช้น้ำตาลมะพร้าวแทน

 

น้ำตาล

น้ำตาลอ้อย

คนไทยนำน้ำตาลอ้อยมาใช้ในอาหารมาช้านาน โดยจะหีบหรือบีบเอาน้ำหวานออกจากอ้อยออกมา แล้วเคี่ยวจนมีกลิ่นหอมและเหนียวได้ที่เป็นสีน้ำตาลเข้ม หยอดลงพิมพ์หลายรูปแบบ ทั้งแผ่นกลมแบน ทรงกระบอกคล้ายอ้อยควั่น ทรงลูกเต๋า และแบบเป็นก้อนที่หารูปทรงไม่ได้เลยก็มี ชาวบ้านเรียกน้ำตาลอ้อยแบบนี้ว่า “น้ำตาลงบ” หรือ “งบน้ำอ้อย”

สมัยก่อนนำงบน้ำอ้อยมาเคี่ยวกับกะทิ ถั่วคั่ว งาคั่ว และมะพร้าวขูด ได้เป็นขนม “น้ำอ้อยกะทิ” ขนมกินเล่นของเด็กๆ ในสมัยนั้น

น้ำตาล

น้ำตาล

ดูสูตรขนมต้มที่ : http://www.goodlifeupdate.com/19333/healthy-food/19333/

น้ำตาลอ้อยมีรสหวานสนิทไม่มีรสอื่นปน นำมาทำขนมได้หอมอร่อย เช่น ใส่เป็นไส้ขนมต้ม เคี่ยวให้เหลวราดหน้าขนมวงหรือโรยบนหน้าขนมนางเล็ดหรือข้าวแต๋น ส่วนอาหารคนไทยหยิบน้ำตาลอ้อยมาใส่ในเมนู ปลาตะเพียนต้มเค็ม เคี่ยวน้ำปลาหวานสะเดา พะโล้แบบไทย และน้ำซุปก๋วยจั๊บ

 

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.