หอมกลิ่น “แจ่วแมงดานากับปลานึ่ง”

สมัยนายน้ำพริกเป็นเด็ก ยามพลบค่ำในฤดูฝน นอกจากแสงดาวบนท้องฟ้าจะดึงดูดตาให้มองแล้ว แสงไฟสีม่วง ๆ มัว ๆ กลางทุ่งนาก็ดึงใจให้ฉงนว่ามันคืออะไรหนอ เกี่ยวกับผีกระสือที่พ่อเล่าให้ฟังหรือเปล่า กระทั่งพ่อมาเฉลยว่า “ชาวนาเปิดหลอดแบล็กไลต์ไต้แมงดานากัน” จึงคลายความกลัว

ถึงจะทราบอย่างนั้น แต่นายน้ำพริกเองก็ไม่เคยมีโอกาสได้เข้าไปเห็นใกล้ ๆ สักครั้งว่ากลไกการไต้แมงดานา (ไต้ หมายถึงการจับแมลงหรือสิ่งมีชีวิตโดยใช้แสงไฟล่อ) นั้นเขาทำกันอย่างไร มาถึงบางอ้อก็เมื่อได้คุยกับพ่อค้าขายปลาหมึกย่างชาวร้อยเอ็ดหน้าหอพัก ซึ่งเคยหาแมงดานามาก่อน เล่าให้ฟังว่า

“วิธีหาแมงดาทำได้ 2 ทาง ทั้งการจับและไต้ ต้องรอให้ฝนตกจึงจะมีแมงดาให้จับ พอน้ำขังในนาที่ยังไม่ได้ไถหว่านแมงดาจะมาไข่ไว้กับตอฟางข้าวเห็นเป็นกลุ่มสีขาว ๆ เจือน้ำตาลเหนือน้ำเล็กน้อย แมงดาตัวเมียพอไข่เสร็จจะบินหนีทิ้งให้ตัวผู้ว่ายน้ำวนเวียนเฝ้าไข่ ดังนั้นแมงดาที่หาด้วยวิธีจับจะได้เฉพาะตัวผู้ ส่วนการไต้แมงดานั้นต้องใช้หลอดแบล็กไลต์สีม่วงเปิดล่อไว้กลางท่งุ นารอบหลอดไฟมีแผ่นสังกะสีวางลาดคล้ายมุงหลังคา ด้านล่างรองกะละมังใส่น้ำเตรียมไว้ พอแมงดาบินมาเล่นไฟเหนื่อยหยุดบินจะตกลงบนสังกะสีก่อนสไลเดอร์ลงไปในกะละมังน้ำ ตอนเช้าเราก็ไปเก็บ วิธีนี้จะได้ทั้งแมงดาตัวเมียและตัวผู้”

เพศของแมงดานานั้น คนปรุงอาหารต้องทำความเข้าใจให้ดี แม่นายน้ำพริกจะย้ำเสมอว่า “แมงดาตัวผู้จึงจะมีกลิ่นหอม ส่วนตัวเมียมีไข่ไว้กินมัน ๆ อร่อยแต่ไม่หอม”

เรื่องกลิ่นของแมงดานานี้ จะบอกว่าหอมหรือไม่ก็ขึ้นกับใจคนตัดสิน สำหรับนายน้ำพริก กลิ่นแมงดานาคือกลิ่นหอมพิเศษที่ไม่ได้หากินได้ง่าย ๆ แมงดาตัวผู้นั้นนิยมนำมานึ่งแล้วดองน้ำปลา ปิ้งหรือคั่วพอสุกแล้วเอาไปโขลกใส่แจ่วกินกับปลานึ่ง บ้างก็โขลกใส่ป่นปลาช่วยให้มีกลิ่นหอมชวนกินน้ำปลาที่ดองแมงดาจนหอมได้ที่แล้วเหยาะคลุกข้าวสวยร้อนๆ ก็หอมอร่อยสำหรับผู้พิสมัยในฟีโรโมนของแมงมวนน้ำชนิดนี้

เวลาโขลกป่นหรือแจ่วแมงดานั้น ถ้าทำไม่เป็นกลิ่นแมงดาจะหายไป นายน้ำพริกเคยโชว์ความฉลาดน้อยอยู่หนหนึ่งโดยคิดเองเออเองว่ากะอีแค่โขลกแจ่วแมงดาเป็นเรื่องง่ายจะตายจะตายไป เพราะแค่โขลก แมงดานาย่างที่เด็ดปีก ปลายปาก และปลายขาซึ่งเป็นตะขอทิ้งแล้วจนแหลก ก่อนใส่พริกเขียวเม็ดใหญ่ย่างเตาถ่านลอกเปลือก พริกกะเหรี่ยงหรือพริกจินดาแดงสดคั่วสุกหอมเล็กเผา กระเทียมเผา ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า น้ำปลา เท่านั้นก็เสร็จ แต่พอลองโขลกก็ต้องฉงนว่า ทำไมแจ่วไม่มีกลิ่นหอมแมงดา! พอตั้งสำรับแม่ถามว่าโขลกแจ่วแมงดาอย่างไร จึงเล่าให้ท่านฟัง แม่จึงสอนนายน้ำพริกว่า “จำไว้นะลูก เวลาจะโขลกแจ่วหรือป่นที่ใส่แมงดา เขาจะไม่ใส่กระเทียม เพราะมันจะฆ่ากลิ่นกัน” จึงจำติดใจมาจนวันนี้

แจ่วแมงดา ส่วนผสมก็ดังที่กล่าวไว้เพียงแค่ตัดกระเทียมออกไป กินเข้ากันดีที่สุดกับปลานึ่งสุกพร้อมกับใบแมงลักกลิ่นหอม เห็ด ฟักทอง กะหล่ำปลี บวบงูนึ่งรวมกันไปจนสุก ยกตั้งสำรับร้อน ๆ กินกับข้าวเหนียวอร่อยจนลืมไม่ลง

แมงดานาแม้หน้าตาไม่สะสวยแต่มีกลิ่นหอมในตัว มนุษย์จึงเห็นคุณค่าหยิบจับมาปรุงแต่งอาหารให้มีรสเลิศ เช่นเดียวกับคนเราแม้รูปกายภายนอกไม่งามศรี แต่หากมีความดีอยู่เต็มหัวใจแล้ว ไม่นานกลิ่นหอมความดีนั้นก็จะฟุ้งกำจายให้เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้ใกล้ชิดในที่สุด

แจ่วแมงดานาปลานึ่ง
ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่) เตรียม 30 นาที ปรุง 5 นาที

  • แมงดานาตัวผู้ปิ้งไฟจนสุกเด็ดปีก ปลายขา ปลายปากทิ้งแล้ว 1 – 2 ตัว
  • พริกหยวกหรือพริกเขียวเม็ดใหญ่
  • สำหรับโขลกแจ่วย่างไฟจนสุกลอกเปลือก 7 เม็ด
  • พริกกะเหรี่ยงหรือพริกจินดาคั่วสุก 3 – 5 เม็ด
  • หอมเล็กเผาปอกเปลือก 5 หัว
  • น้ำปลาดี 1½ ช้อนโต๊ะ
  • น้ำปลาร้าต้มสุก 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำต้มสุก 2 ช้อนชา
  • ผักนึ่ง เห็ดนึ่ง และปลานึ่งตามชอบ

 

 

พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 50.95 กิโลแคลอรี
โปรตีน 4.04 กรัม ไขมัน 0.68 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 7.15 กรัม ไฟเบอร์ 3.03 กรัม

เรื่อง : นายน้ำพริก ภาพ : อัศวิน นรินท์ชัยรังษี สไตล์ : พิมฝัน ใจสงเคราะห์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.