ฎีกาจากราษฎรในวันวาน กลายเป็นกิจการสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรีในวันนี้

ตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงงานอย่างหนัก เพื่อประชาชนชาวไทยมาโดยตลอด หลายครั้งที่เราได้ทราบข่าวว่าการทูลเกล้าถวายฏีกาต่อองค์พ่อหลวงนั้น ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาอันใหญ่หลวงต่อปวงชนเสมอ ด้วยเพราะพระองค์ท่านทรงสนพระราชหฤทัย ต่อทุกปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับเรื่องราว ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจังหวัดราชบุรี ที่ได้ทูลเกล้าถวายฎีกาถึงปัญหา ความเดือดร้อนในเรื่องการไม่มีตลาดจำหน่ายน้ำนมดิบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ความช่วยเหลือจนกลายเป็นกิจการณ์ สหกรณ์ โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ดังเช่นวันนี้

102

เรื่องราวนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก ในระยะแรกที่มีการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในประเทศ เกษตรกรผู้เลี้ยงมักประสบปัญหาจำหน่ายน้ำนมดิบไม่หมด ต้องประสบกับการขาดทุนเสมอ โดยเฉพาะเกษตรกรในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียงซึ่งเลี้ยงโคนมกันมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้นำน้ำนมสดมาแปรรูปเป็นนมผง ซึ่งจะเก็บไว้ได้นานนับเดือน จึงโปรดให้ก่อสร้างโรงงานผลิตนมผงขนาดเล็กขึ้นในบริเวณสวนจิตรลดา เพื่อเป็นตัวอย่างแก่สมาชิกสหกรณ์โคนมได้ศึกษา และรวมทุนกันก่อสร้างโรงงานของตนเองต่อไป

เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในจังหวัดราชบุรี ซึ่งประสบปัญหาใหญ่เกี่ยวกับสถานที่จำหน่ายน้ำนมดิบ เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ทำให้ประสบภาวะการขาดทุนในการประกอบอาชีพ กลุ่มผู้นำเกษตรกรตำบลหนองโพและเขตใกล้เคียง ได้ขอความช่วยเหลือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี ในขณะนั้นให้ติดต่อผู้รับซื้อน้ำนมดิบ และได้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตกลงเป็นผู้รับซื้อ โดยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรวมกลุ่มจัดตั้งศูนย์รวมนมหนองโพขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทางราชการและทุนของกลุ่มเกษตรกรเป็นทุนในการก่อสร้างอาคารศูนย์รวมน้ำนม

105

ก่อนที่จะมีการก่อตั้งศูนย์รวมน้ำนมนั้นในปี ๒๕๑๒ สถานีผสมเทียมจังหวัดราชบุรีได้นำเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดโรงงานนมผงสวนดุสิต ณ พระราชวังสวนจิตรลดา และในครั้งนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจังหวัดราชบุรีได้ทูลเกล้าถวายฎีกาถึงปัญหาความเดือดร้อนที่ไม่มีตลาดจำหน่ายน้ำนมดิบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ความช่วยเหลือในการที่จะสร้างโรงงานนมผงขึ้น กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ การดำเนินการของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประสบความสำเร็จแต่ยังไม่เพียงพอต่อการรับ สถานการณ์น้ำนมดิบที่เพิ่มสูงขึ้นกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม จึงเคลื่อนไหวจัดตั้งสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมที่ตำบล หนองโพ

ในปีเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายทวิช กลิ่นประทุม และ คณะกรรมการศูนย์รวมนมหนองโพเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน จำนวน ๑,๔๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อพิจารณานำมาช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำเงินดังกล่าวรวมกับทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๑,๐๐๒,๐๐๐ บาท ก่อสร้างโรงงานนมผง ณ ตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัด ราชบุรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ออกแบบ โดยใช้ต้นแบบจากโรงงานนมผง สวนจิตรลดา แต่มีกำลังการผลิตนมผงเป็นสองเท่าพระราชทานชื่อว่า “โรงงานหนองโพ” ให้มีการดำเนินการบริหารในรูปของบริษัทชื่อบริษัท ผลิตภัณฑ์นมหนองโพ จำกัด และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

103

โดยเหตุผลสำคัญที่ดำเนินการในรูปบริษัทนั้นเป็นไปตามพระราชปรารภที่ว่า

“การที่จะให้การเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพปึกแผ่นมั่นคงได้นั้น ผู้เลี้ยงโคนมควรจะได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มในรูปแบบของสหกรณ์ เพื่อสมาชิกจะได้รับประโยชน์มากที่สุด แต่ระหว่างที่สหกรณ์ยังไม่พร้อมนั้น ควรให้จัดตั้งในรูปบริษัทที่ไม่ได้มุ่งหวังกำไร บรรดาเงินกำไรสุทธิที่บริษัทหาได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้น จึงไม่มีการแบ่งกำไรให้กับผู้ถือหุ้น แต่ให้บริษัทนำกำไรสุทธิส่วนหนึ่งให้แก่สมาชิกสหกรณ์ ซึ่งนำนมสดมาขายให้แก่โรงงานนมผงเป็นประจำ และอีกส่วนหนึ่งของกำไรเข้ากองทุนสะสม เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของบรรดาบุตรหลานสมาชิก กลุ่มผู้เลี้ยงโคนม อันจะเป็นประโยชน์แก่สหกรณ์และท้องถิ่น”

104

น้ำพระราชหฤทัยในการส่งเสริมสหกรณ์โคนมอย่างเป็นระบบนี้ เห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ คณะกรรมการดำเนินงานสร้างโรงงานนมผง เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๑๓ ตอนหนึ่งว่า “วิธีที่จะให้ผู้ผลิตนมโคสามารถจำหน่ายนมได้ก็มีทางเดียวก็คือตั้งโรงงาน แล้วให้โรงงานนั้นเป็นของผู้ผลิต มิใช่ว่าบริษัทฝรั่งหรือญี่ปุ่นมาลงทุนสร้างโรงงานแปรสภาพวัตถุดิบให้เป็นสินค้าต่อไปนั้น ความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่เรารับไม่ได้ เพราะว่าเกิดเรื่องอยู่เสมอที่จะต้องมีการทะเลาะวิวาทระหว่างผู้ผลิตคือผู้ที่ผลิตนมโค ผู้ที่เลี้ยงโคนมกับผู้ที่แปรสภาพมาทำเป็นนมกระป๋อง เป็นนมผง เนยแข็ง เนยสด หรือเนยอะไรก็ตาม คือถ้าตั้งเป็นบริษัทแปรสภาพและขายนมสดให้ จะต้องเกิดเรื่องอยู่เสมอ แต่ถ้าผู้ที่ผลิตวัตถุดิบกับผู้ที่แปรสภาพเป็นเจ้าของเดียวกันจะไม่เกิดปัญหา เพราะว่าทำกันเอง แต่การทำกันเองนี้มีความลำบากอยู่ที่ต้องมีวินัยอยู่มาก ต้องมีความเสียสละเพื่อส่วนรวมของกิจการอย่างสำคัญ ถ้าตั้งในรูปโรงงานสหกรณ์ก็จะเป็นการดี แต่ถ้าสร้างในรูปโรงงานสหกรณ์ไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม ก็เห็นควรเลิกล้มกิจการ เพราะว่าจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง…..”

เมื่อราวต้นปี ๒๕๑๔ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในจังหวัดราชบุรี ได้มีการจัดตั้งเป็นสหกรณ์ประเภทบริการ ชื่อสหกรณ์โคนมราชบุรี จำกัด มีสมาชิกแรกตั้ง ๑๘๕ คน และได้รับโอนกิจการของศูนย์รวมนมหนองโพ มาดำเนินการ ซึ่งต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด เป็นสหกรณ์ประเภท สหกรณ์การเกษตร ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงงานนมผงหนองโพ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๑๕ ในวโรกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชปรารภในการจัดตั้งโรงงาน นมผงว่า

101

“เมื่องานของสหกรณ์โคนมเจริญก้าวหน้าตามวัตถุประสงค์ สมาชิกสหกรณ์ต่างมีความเข้าใจในหลักสหกรณ์และดำเนินกิจการสหกรณ์ได้ดีถูกต้องตามหลักของสหกรณ์ และมีหลักฐานมั่นคง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนทรัพย์สินทั้งหมดของ บริษัทผลิตภัณฑ์นมหนองโพ จำกัด พร้อมด้วยโรงงานให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์ดำเนินกิจการในรูปสหกรณ์ต่อไปตามพระราช ประสงค์”

กระทั่งในปี ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุมัติให้โอนกิจการทั้งหมดของบริษัท ผลิตภัณฑ์นมหนองโพ จำกัด ให้สหกรณ์โคนมหนองโพ จำกัด รับไปดำเนินการ และทรงรับสหกรณ์ไว้ให้อยู่ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อมาในปี ๒๕๒๑ หลังจากโรงงานผลิตภัณฑ์นมหลังใหม่สร้างเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารโรงงานผลิตภัณฑ์นมหลังใหม่และได้มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศาล เป็นจำนวนเงิน ๑๒๙,๐๐๐ บาท ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานเงินทั้งหมดให้สหกรณ์ นำไปใช้ในด้านการศึกษาแก่บุตรหลานของสมาชิก โดยสหกรณ์นำเงินจำนวนดังกล่าวจัดตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อการศึกษา ได้รับพระราชทานนามว่า มูลนิธิพระบารมีปกเกล้า ดำเนินการจัดสรรดอกผลเป็นทุนการศึกษาให้แก่บุตรหลานของสมาชิกตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่าน

16_หนองโพ2

สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ดำเนินกิจการตามแนวพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่มีปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องสถานที่จำหน่ายน้ำมันดิบ เนื่องจากสหกรณ์ทำหน้าที่ด้านการตลาดรองรับ น้ำนมดิบจากเกษตรกรและแปรรูปจำหน่ายเอง นอกจากนี้โรงงานสามารถผลิต ผลิตภัณฑ์นมจำหน่ายได้ทั่วประเทศ เมื่อประกอบกับการดำเนินงานในรูปสหกรณ์ที่ผลประโยชน์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับสมาชิก แล้ว นับได้ว่า สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) คือทางออกของการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้อย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นแหล่งจ้างงานในชนบทที่สำคัญแหล่งหนึ่งซึ่งทำให้คนในพื้นที่มีอาชีพมีรายได้ที่มั่นคงในการมีโอกาสทำงานกับสหกรณ์  อีกทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานทั้งของชาวไทย และชาวต่างประเทศอย่างกว้างขวางในด้านการพัฒนาชนบทที่ประสบผลสำเร็จในรูปแบบสหกรณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย

ปวงข้าพระเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้จัดทำ เว็บไซต์ healthandcuisine.com

ขอบคุณข้อมูล : www.ku.ac.th
ภาพ: www.nongpho.com

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.