ฟอกเลือด

ไข 6 ข้อสงสัย ของการ ฟอกเลือด

ฟอกเลือด ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ฟอกเลือด คือกระบวนการนำเลือดออกจากร่างกายของผู้ป่วยมาทำให้สะอาดขึ้นโดยการใช้เครื่องไตเทียม เพื่อกำจัดของเสีย ปรับระดับเกลือแร่ในเลือด และปรับสมดุลของน้ำในร่างกายให้เป็นปกติ ในผู้ป่วยโรคไตวายทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง มิเช่นนั้นจะมีอาการผิดปกติ ดังต่อไปนี้

  • มีอาการของเสียคั่งในร่างกาย โดยเฉพาะกรดยูเรีย ซึ่งได้จากกระบวนการสลายโปรตีนที่หมดสภาพในร่างกาย ซึ่งกรดยูเรียจะทำให้เกิดอาการมึนงง สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง เมื่อเป็นมากจะมีอาการกระตุก ซึม หมดสติ และชัก ร่วมกับอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เป็นต้น
  • มีการคั่งของเกลือ กรดในเลือด และน้ำในร่างกาย ทำให้เกิดอาการตัวบวม ความดันโลหิตสูง ในกรณีที่รุนแรงมาก อาจทำให้มีอาการหอบ เหนื่อย น้ำท่วมปอด นอกจากนั้นหากมีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงร่วมด้วย อาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน หากรักษาไม่ทัน อาจทำให้เสียชีวิตได้kidney-147499_960_720

อย่างไรก็ตาม แม้การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจะช่วยให้ผู้ป่วยไตวายประเภทต่างๆใช้ชีวิตอย่างมีความสุขขึ้น แต่ก็ยังมีข้อควรรู้อีกหลายประการที่ต้องศึกษา ทำความเข้าใจ

ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการฟอกเลือด

1.ใครควรได้รับการฟอกเลือด

  • ผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเฉียบพลัน ซึ่งอาจต้องการฟอกเลือดเพียงไม่กี่ครั้ง เมื่อไตฟื้นตัวขึ้นจนทำหน้าที่ได้พอสมควร แล้วก็ไม่จำเป็นต้องฟอกเลือด
  • ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ปัจจุบันผู้ป่วยเหล่านี้ เป็นกลุ่มใหญ่ที่ต้องได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งต้องได้รับการฟอกเลือดตลอดชีวิต หรือจนกว่าได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่
  • ผู้ป่วยหัวใจวายบางราย ซึ่งไม่สามารถรักษาด้วยยาได้ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจะช่วยในการดึงน้ำและเกลือส่วนที่เกินออกจากเลือด ช่วยให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น

หลังฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม อาการคั่งของเกลือ และน้ำในร่างกายจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาวะเลือดเป็นกรดจะดีขึ้น ส่งผลให้อาการบวม หอบ เหนื่อย ชัก กระตุก รวมไปถึงอาการคลื่นไส้ อาเจียนหายไป ทำให้ผู้ป่วยโรคไตสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง

ติดตามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการฟอกเลือดไปตลอดชีวิตได้ใน

หน้าถัดไป

2. จำเป็นหรือไม่ต้องฟอกเลือดไปตลอดชีวิต

  • ไม่จำเป็น เพราะการฟอกเลือดในผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเฉียบพลัน สามารถหยุดได้ เมื่อไตกลับมาทำงานตามปกติ ซึ่งอาจใช้เวลาเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของไตของแต่ละคน (บางรายอาจใช้เวลาแค่ 1-2 สัปดาห์ แต่บางรายอาจนานถึง 6 เดือน)
  • จำเป็น เพราะในผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จำเป็นต้องรับการฟอกเลือดไปตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไต เนื่องจากไตของผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้เอง

3. การฟอกเลือดแต่ละครั้งใช้ระยะเวลานานเท่าไร

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นไตวายเฉียบพลัน โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 4 – 5 ชั่วโมงต่อครั้ง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับของเสีย และสุขภาพของผู้ป่วยด้วยว่ามีความแข็งแรงแค่ไหน

ส่วนผู้ป่วยที่เป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ความถี่ในการฟอกเลือดขึ้นอยู่กับอาการน้อยมาก ตั้งแต่สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ถึงต้องฟอกเลือดทุกวัน และในกรณี๊ของผู้ป่วยหัวใจนั้น แพทย์จะพิจารณาตามลักษณะอาการต่างหาก

หลังการฟอกเลือดแล้วจะหายหรือไม่ … ติดตามต่อได้เลยค่า

4. หลังฟอกเลือดแล้วจะหายจากโรคไตหรือไม่

การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม คือการรักษาตัวผู้ป่วยในภาวะไตวายเฉียบพลัน โดยใช้หลักการให้ไตหยุดทำงานชั่วคราว ซึ่งการฟอกเลือดจะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ รอจนกว่าไตจะฟื้นตัวกลับมาทำงานตามปกติ สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะไตวายเรื้อรัง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เป็นการรักษาตัวผู้ป่วยให้มีชีวิตอยู่ เนื่องจากไตเสียไปแล้วอย่างถาวร การฟอกเลือดจึงไม่ใช่การรักษาไต แต่เป็นการทำหน้าที่แทนไต

5. การฟอกเลือดเจ็บปวดมากไหม

โดยทั่วไปการฟอกเลือดมักจะไม่เจ็บปวด แต่จะมีบ้างในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเส้นเลือดจม ซึ่งอาจจะได้รับความเจ็บปวดเล็กน้อย ในขณะแพทย์ใช้เวลาในการเจาะเพื่อหาเส้นเลือด แต่ก็เป็นเพียงเหมือนการเจาะเลือดหรือการฉีดยาธรรมดา อีกทั้ง การฟอกเลือดเป็นการช่วยกำจัดของเสียออกจากร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่สบายขึ้น โดยอยู่ในการดูแลของแพทย์ และพยาบาลอย่างใกล้ชิด ดังนั้น การฟอกเลือดจึงไม่น่ากลัวแต่อย่างใด

6. ผลข้างเคียงจากการฟอกเลือด

ในระหว่างที่รักษาด้วยการการฟอกเลือด ผู้ป่วยโรคไตอาจมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นได้ เช่น เหนื่อยง่าย ร่างกายอ่อนแอ หงุดหงิดบ่อยๆ และเครียด ซึ่งอาจเกิดจากสภาพร่างกายที่ย่ำแย่ และเกิดความรู้สึกท้อแท้ในจิตใจ ดังนั้น ญาติๆ ควรทำความเข้าใจในความผิดปกติของผู้ป่วย และคอยให้กำลังใจอยู่เสมอ

ปรับวิถีชีวิตเพื่อปกป้องไต

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไตมีหน้าที่ในการรักษาปริมาณน้ำ เกลือแร่ และความเป็นกรดของร่างกายให้อยู่ในภาวะที่สมดุล หากมีการสูญเสียน้ำ ไตจะดูดน้ำกลับสู่ร่างกายมากขึ้น ซึ่งการขาดน้ำจะทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้ เพื่อให้ไตทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ควรดื่มน้ำ 6 – 8 แก้วต่อวัน
  • ให้ความสำคัญกับอาหารที่กิน โดยต้องเป็นอาหารที่สุกและสะอาด เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดท้องเสียซึ่งจะทำให้เกิดการขาดน้ำเฉียบพลัน ควรงดอาหารเค็ม และอาหารรสจัดอย่างเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และไตเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น
  • ออกกำลังกาย คนเป็นโรคไตเรื้อรังก็สามารถออกกำลังกายได้  ซึ่งจะทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น และควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ก่อนออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์
  • ควบคุมน้ำหนัก คนที่มีน้ำหนักมากเกินไปจะมีโปรตีนรั่วในกระเพาะปัสสาวะมากกว่าคนปกติ เพราะความอ้วนจะไปกดทับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไต ทำให้ความดันภายในไตสูงขึ้น โปรตีนที่รั่วจะเป็นตัวทำลายไต ทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น ดังนั้น หากสามารถควบคุมน้ำหนักได้ ก็จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตได้เช่นกัน

ข้อมูลเรื่อง “ไข 6 ข้อสงสัย ของการฟอกเลือด” จากนิตยสารชีวจิต ฉบับที่ …

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.