เลือกซื้อผัก, วิธีการเลือกซื้อผัก, ซื้อผัก, กินผัก, ผัก

ฉลาด เลือกซื้อผัก 14 ผักมากคุณค่า จ่ายทั้งทีเลือกแต่ของดี อร่อยเฮลตี้ ไกลโรค!

เทคนิค เลือกซื้อผัก อย่างฉลาด คุ้มค่า ได้ของดีสดอร่อย คุณค่าครบ ห่างไกลจากโรคภัย โดยชีวจิตกูรู ป้ายุง-ผกา เส็งพานิช

เลือกซื้อผัก คืออีกหนึ่งเคล็ดลับที่คนรักสุขภาพตัวจริงพลาดไม่ได้! เพราะผักเป็นแหล่งวิตามินเกลือแร่สำคัญ ฉะนั้น หากเลือกผักที่ดี เราย่อมได้สารอาหารและคุณค่าทาง โภชนาการครบถ้วนตามต้องการ ป้ายุงคนสวยรู้ความจำเป็นนี้ดี จึงรวบรวมวิธีเลือกผักมาให้ทุกท่านได้รับทราบกัน

วันก่อนยุงไปตลาดกับยายเตย (ลูกสาวยุงเอง) คิดว่าจะสอนเรื่องงานครัวให้ลูกทีละนิด เพราะไม่อย่างนั้นคนเขาจะตำหนิได้ว่า แม่ก็ออกเก๊งเก่ง (ฮ่าๆ ๆ) แต่ทำไมลูกเลือกผักไม่เป็น

เพราะส่วนตัวยุงเอง ก็ต้องยกความดีให้แก่แม่เพราะท่านเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการบ้านการเรือนให้ (แต่แม่ไม่ได้สอนให้หลงตัวเองอย่างทุกวันนี้นะคะ)

ครั้งนี้จึงขอนำเคล็ดลับการเลือกผักมาฝากคุณผู้อ่าน ถ้าผู้ช่วยในครัวเลือกมาไม่ถูกใจ จะได้สอนเขาได้ (แต่ห้ามดุนะ)

เคล็ดลับการเลือกผัก

1.แตงกวา : ผลเรียว -สีเขียว -เมล็ดเล็ก

เราใช้ค่อนข้างบ่อย ใส่ทั้งสลัด ยำเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือแกล้มข้าวผัด ควรเลือกผลค่อนข้างเรียว สีเขียว ซึ่งจะมีเมล็ดเล็กและเนื้อกรอบยิ่งที่ปลายผลมีเกสรสีดำติดอยู่ แสดงว่ายังเอ๊าะ ๆอยู่ หม่ำได้อร่อย  ส่วนผลที่กลม ๆ อ้วน ๆ ผิวออกขาว เนื้อจะเหนียวและมีเมล็ดค่อนข้างใหญ่ กินไม่อร่อย ลองใช้นายโต้ง (ลูกชายยุงเองค่ะ) ไปซื้อมาทั้งสองลักษณะ การันตีคุณภาพตามที่บอกเลยค่ะ

2.บวบ : ขั้วเขียวสด -ผลตรงยาว-ร่องลึก

มีหลายพันธุ์ ขอแนะนำวิธีเลือกบวบเหลี่ยมก่อน ขั้วต้องมีสีเขียวสด ผลตรงยาว (ปอกเปลือกง่ายดี) มีเหลี่ยมเป็นสันคมและร่องลึก ยกแล้วมีน้ำหนัก แสดงว่าเป็นบวบอ่อนกำลังกินเชียวค่ะ

ส่วนบวบกลม มีวิธีเลือกคล้ายกับแตงกวา คือ ควรเลือกผลที่มีผิวสีเขียวเข้ม เนื้อแน่น ที่ปลายผลมีเกสรสีคล้ำ ๆ ติดอยู่

3.กวางตุ้งและผักกาดเขียว : ต้นอวบ-ใบไม่เหี่ยว

ผักกลุ่มนี้มีวิธีเลือกเหมือนกัน คือเลือกใบไม่เหี่ยว ต้นอวบ ๆ ผิวบริเวณโคนต้นบางเขียว ถ้าผิวหนาแสดงว่าใกล้ ส.ว. (สูงวัย) หรือแก่แล้ว ซึ่งจะมีเสี้ยนแข็ง ๆ กินไม่อร่อย

คะน้า, เลือกซื้อผัก, วิธีซื้อผัก, ผัก, ซื้อผักคะน้า
เลือกผักคะน้า ลำต้นขาวอวบ ใบเล็ก มีรูพรุนหน่อย

4.คะน้า : ใบเล็ก -ต้นขาวอวบ -มีรูพรุนรับได้

เดี๋ยวนี้มีหลายพันธุ์ เช่น คะน้าฮ่องกง ควรเลือกใบเล็กลำต้นขาวอวบ นำไปผัดกินอร่อย แต่ราคาแพงกว่าคะน้าธรรมดาเล็กน้อยนอกจากนี้ยุงจะเลือกต้นที่ใบมีรูพรุนหน่อย แหะ ๆ กลัวยาฆ่าแมลงค่ะ

5.ตำลึง : ใบเขียวอ่อนบาง-รอยหยักใบน้อยๆ

ยุงเคยซื้อที่ขายเป็นกำ ๆ หรือไม่ก็ที่เด็ดเป็นท่อนใส่ถุงแล้วมา ซึ่งทำให้ไม่เคยได้กินอร่อยอย่างใจ เพราะแม่ค้าเด็ดทุกส่วนใส่ในถุงมาให้ วันก่อนเดินไปข้างบ้าน เจอต้นตำลึงแอบเลื้อยขึ้นมาริมระเบียงตอนแรกจะตัดทิ้ง แต่พอเห็นใบแล้วน้ำลายสอ เพราะตั้งแต่ยอดจนถึงก้านยาวประมาณเมตรกว่า ๆ มีใบอ่อนบางสีเขียวขนาดใหญ่ แถมใบมีรอยหยักน้อย ๆ เชื่อไหมคะ ยุงใช้ตำลึงเถาเดียวต้มแกงจืดได้ชามเบ้อเร่อ เพราะใช้ได้ทุกใบ ไม่มีทิ้ง

​6.กะหล่ำปลี  : น้ำหนักเบา-ทรงแป้น-ใบกรอบ

มีทั้งพันธุ์หัวกลมและพันธุ์รูปหัวใจซึ่งหวานกว่าและราคาแพงกว่า ทั้งสองพันธุ์เลือกโดยดูจากหัวที่น้ำหนักเบา ๆ ทรงแป้น ๆใบกรอบ เพราะจะล้างง่ายมาก อย่าเลือกหัวที่มีตำหนินะคะ เพราะข้างในอาจเสียแล้ว

ยังมีผักอีกหลายชนิดค่ะ อ่านต่อหน้าที่ 2 เลย

7.ดอกกะหล่ำและบรอกโคลี : ดอกย่อยกอดกันแน่น

ควรเลือกที่ดอกย่อยกอดกันแน่น ดอกกะหล่ำควรมีสีขาว โคนดอกสีเขียว ส่วนบรอกโคลี ดอกต้องมีสีเขียวสด หัวมีน้ำหนักมาก และมีใบอ่อนแซมรอบ ๆ ดอก รับรองกินอร่อยค่ะ

บรอกโคลี, เลือกซื้อผัก, เลือกซื้อบรอกโคลี, วิธีเลือกซื้อผัก, ผัก
บรอกโคลีที่ดี ดอกมีสีเขียวสด หัวมีน้ำหนัก มีใบอ่อนแซมรอบดอก

8.มะเขือยาวและมะเขือเปราะ : ผลเขียวสด -ผิวไม่เหี่ยว-กลีบเลี้ยงยาวติดแน่นขั้ว

ยุงชอบผัดมะเขือยาวกับใบโหระพาค่ะ เป็นสูตรของอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต ท่านสอนตั้งแต่วิธีเลือกมะเขือยาว จนถึงวิธีผัด จบด้วยวิธีกินเลยค่ะ ควรเลือกผลสีเขียวสด ผิวไม่เหี่ยว กลีบเลี้ยงยาวติดแน่นอยู่ที่ขั้วถ้ากลีบเลี้ยงสั้นแสดงว่าเริ่มจะเข้าสู่วัย “ผักแก่” แล้วค่ะ

ส่วนมะเขือเปราะ ก็เลือกคล้าย ๆ มะเขือยาว คือสังเกตกลีบเลี้ยงเป็นหลัก กลีบเลี้ยงสั้นแสดงว่าเป็นผักแก่ ส่วนกลีบเลี้ยงยาวแสดงว่าเป็นผักอ่อน เลือกใช้ได้ตามความต้องการ

ความจริงผักมีมากมายหลายชนิดจนไม่สามารถนำมาบอกเล่าได้ครบ แต่มีหลักให้คุณผู้อ่านง่ายๆ ว่า ถ้าผักรูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกัน ก็อนุโลมให้ใช้วิธีเลือกและเก็บคล้ายๆ กันได้ค่ะ

ยุงจะเล่าถึง “น้องผัก” ที่เราใช้บ่อยๆ และต้องมีติดครัวอยู่ตลอดกันต่อเลยนะคะ

9. ต้นหอม : มาทั้งราก-ต้นขาวอวบ-ใบเรียวยาว

เลือกต้นที่ยังมีรากติดอยู่ ลำต้นขาวอวบใหญ่ ใบเรียวยาว ภายในเป็นโพรงกลวง ปลายใบแหลมสีเขียวเข้ม ถ้าเลือกได้ต้นลักษณะนี้ รับรองมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว

ผักชี, เลือกซื้อผัก, เลือกซื้อผักชี, วิธีเลือกซื้อผัก, ผัก
เลือกผักชีที่มีรากใหญ่ ลำต้นแข็งแรง ใบสีเขียวสด

10. ผักชี : รากใหญ่ -ใบแข็งเขียวสด-ไม่มีดอก

เลือกต้นที่มีรากขนาดใหญ่ ลำต้นแข็งแรงใบแข็ง สีเขียวสด ไม่มีดอก

ขอแถมวิธีเก็บต้นหอมและผักชีให้อีกหน่อย (ใจดีค่ะ) เลือกใบเหลืองทิ้ง นำไปล้างให้สะอาด (ล้างเบามือหน่อยนะคะ เดี๋ยวน้องผักจะช้ำซะ) จากนั้นผึ่งลมให้แห้งมากที่สุด แล้วใส่ลงในกล่องที่มีตะแกรงรองก้นกล่อง ปิดฝากล่องให้สนิท ใส่ตู้เย็น เก็บได้นานเป็นสัปดาห์

11. กะเพรา : ใบปานกลาง-ไม่เหี่ยว-ช่อที่มีดอกเลือกดอกอ่อนเท่านั้น

ให้เลือกชนิดใบขนาดปานกลาง ไม่เหี่ยว ส่วนกะเพราแดงเลือกที่ผิวใบด้านบนเขียว ผิวใบด้านล่างสีแดงคล้ำ ปลายช่อมีดอกอ่อนอย่าเลือกดอกแก่ เพราะดอกอ่อนกินอร่อยและหอมกว่าดอกแก่ค่ะ

อ่านต่อหน้าที่ 3

 

12. โหระพา : ปลายช่อมีดอกอ่อน

เลือกชนิดใบเล็ก ปลายช่อมีดอกอ่อน จะหอมมากค่ะใบใหญ่กลิ่นจะหอมน้อยกว่าใบเล็ก ใบไม่หงิกงอ ก้านสีแดงเข้ม

สะระแหน่, เลือกซื้อผัก, เลือกซื้อสะระแหน่, วิธีการเลือกซื้อผัก, ผัก
สะระแหน่ ดูใบที่สีเขียวสวย ก้านไม่งอมาก

13. สะระแหน่ : ใบเขียวสวย ไม่ช้ำ-ก้านตรง

เลือกใบสีเขียวสวย ไม่เหี่ยวหรือช้ำ ก้านตรง อย่าให้งอมาก

แถมวิธีเก็บอีกนิดค่ะ เวลาเด็ดใบให้ใช้กรรไกรหรือมีดตัดใบออกจากก้าน (ถ้าใช้มือเด็ด ใบจะช้ำและเน่าง่าย) ล้างน้ำให้หมดสารเคมี แล้วผึ่งลมให้ใบแห้งมากที่สุด (ยุงใส่เครื่องสลัดน้ำแบบใช้มือหมุน ๆ ค่ะ ซื้อจากมุมขายเครื่องใช้พลาสติก ราคาไม่แพงค่ะ) แล้วเก็บใส่กล่องพลาสติกรองก้นกล่องด้วยกระดาษทิชชู จากนั้นปิดฝาให้สนิท ใส่ตู้เย็น เก็บได้หลายวันโดยใบไม่เหี่ยวให้ช้ำใจ

14. พริกขี้หนู : เม็ดเล็ก-ผิวแน่น-สีสด-ก้านเขียวเข้ม

ถ้าอยากได้รสเผ็ดจัดและมีกลิ่นหอม ๆ ให้เลือกชนิดเม็ดเล็ก ผิวแน่น สีเขียวหรือแดงสด ก้านเขียวเข้ม ไม่เหี่ยว รับรองว่าโขลกน้ำพริกกะปิได้อร่อยลิ้นทีเดียว ถ้าไม่ชอบเผ็ดมาก ใช้พริกขี้หนูเม็ดใหญ่นะคะ วิธีเลือกก็เหมือนกัน

วิธีเก็บพริก ทำได้โดยเลือกเม็ดเสียทิ้งไป นำไปล้างให้สะอาด ผึ่งลมให้ใบแห้ง แล้วเก็บในกล่องพลาสติกที่รองก้นด้วยตะแกรง และวางกระดาษทิชชูลงไปเพื่อช่วยดูดซับความชื้น ปิดฝากล่องให้แน่น แช่ในตู้เย็น จะเก็บได้นาน หรืออีกวิธีคือ ห่อด้วยกระดาษทิชชู แล้วใส่ในถุงพลาสติก ทำให้ถุงพองลมหน่อย มัดหนังยางให้แน่น นำไปแช่ตู้เย็นเก็บได้นานเหมือนกัน

พี่สาวยุงที่อยู่ต่างประเทศเคยบอกว่า ปลูกพริกไว้หลังบ้าน ช่วงฤดูร้อนพริกจะออกเม็ดเต็มต้น กินไม่ทัน เลยใช้วิธีเด็ดแล้วล้างให้สะอาด ใส่ถุงพลาสติก แล้วแช่ในช่องแช่แข็ง เก็บไว้ได้นานหลายเดือน เวลาจะใช้ก็นำออกมาวางให้คลายความเย็น กลิ่นรสยังคงเดิม

ผัก​ในครัวอีก 2 ชนิดที่ขาดไม่ได้ก็คือ หอมเล็ก และ กระเทียมหอมเล็ก เลือกหัวขนาดปานกลาง ถ้าหัวใหญ่มากจะเป็นชนิดหอมเล็กแขกกินไม่อร่อยค่ะ เลือกเปลือกสีแดงเข้ม เนื้อแข็ง ถ้าจะให้ดีซื้อแบบกระจุกแขวนเป็นเครื่องประดับในครัวได้อีก โดยแขวนพวงสีขาว (กระเทียม) สลับกับพวงสีแดง (หอมเล็ก) ดูสวยดีค่ะ กระเทียมเลือกชนิดกลีบเล็กเพราะเป็นกระเทียมไทย เสียเวลาแกะหน่อย แต่รสอร่อยเกินคุ้ม

ถ้าเรารู้จักเลือก รู้จักเก็บ จะประหยัดเงินได้อีกเยอะเลยค่ะ แถมยังได้ปฏิบัติตามกระแสพระราชดำรัสเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

จาก คอลัมน์ท้ายครัวป้ายุง นิตยสารชีวจิต ฉบับ 366 – 367 (1 – 16 กราคม 2557)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

6 Tips หุงข้าวกล้อง ให้หอมนุ่มอร่อย

สะระแหน่ ผักสารพัดประโยชน์ มิตรแท้ของลำไส้

ถั่วเขียว กินสู้เบาหวาน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.