ยาคุม, ยาคุมกำเนิด, กินยาคุม, วิธีกินยาคุม, กินยาคุมให้ปลอดภัย

ยาคุม กินอย่างไร ปลอดภัย ไกลโรค

ยาคุม กินอย่างไร ปลอดภัย  ไกลโรค

ยาคุม จะต้องกินอย่างไรให้ปลอดภัยและไกลโรค เรามีเทคนิคง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณผู้หญิงเข้าใจยาคุมกำเนิดมากยิ่งขึ้น

ยาอีกชนิดหนึ่งที่ผู้หญิงหลายคนจำเป็นต้องใช้ก็คือ ยาคุมกำเนิด ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่ได้ศึกษาการใช้ยาเม็ดคุมกําเนิดในผู้หญิงอายุ 15-45 ปี จํานวน 300 คน พบว่า มีผู้หญิงเพียงร้อยละ 53.6 เท่านั้นที่ใช้ยาถูกวิธี

น่าตกใจไหมล่ะ เพราะข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงเกือบครึ่งหนึ่งกําลังใช้ยาคุมกำเนิดอย่างผิดวิธี จนอาจส่งผลเสียให้กับผู้ใช้ ดังนั้น เราจึงมีคําแนะนําเกี่ยวกับการใช้ยาคุมกําเนิดอย่างถูกต้องและปลอดภัยมาฝาก

ยาคุม, ยาุคุมกำเนิด, กินยาคุม, กินยาคุมให้ปลอดภัย, วิธีกินยาคุม
กินยาคุมเพื่อรักษาโรค ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่ง ไม่ควรซื้อมากินเอง

อะไรอยู่ในยาคุมกำเนิด

ในยาเม็ดคุมกําเนิดจะมีฮอร์โมน 2 ชนิด คือ เอสโทรเจน และ โพรเจสเทอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง โดยกลไกลการทํางานของยาเม็ดคุมกําเนิดคือ ห้ามการตกของไข่ ทําให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่ เหมาะแก่การฝังตัวของตัวอ่อน และทําให้ปากมดลูกเหนียว จนอสุจิไม่อาจเข้าไปได้

สาวๆ จะเห็นได้ว่า จุดประสงค์หลักของผู้ใช้ยาคุมกําเนิดคือ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ แต่ก็มีผู้หญิงจำนวนมากกินยาคุมเพื่อความสวยงาม แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลประจําจังหวัดพิจิตร อธิบายว่า

“ปัจจุบันมีการปรับสูตรยา นอกจากมีฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนและเอสโทรเจนที่มีคุณสมบัติป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ตัวยายังมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อแอนโดรเจน ซึ่งหลังกินยาจะทําให้ผู้ใช้บางคนซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนมีความเป็นผู้หญิงมากขึ้น เช่น ช่วยลดหนวด ลดเครา ลดสิว ลดหน้ามัน แต่ไม่ได้ช่วยผู้ที่มีปัญหาสิวที่เกิดจากกรรมพันธุ์ หรือการติดเชื้อ”

กินยาคุมกำเนิด, ยาคุมกำเนิด, ยาคุม, วิธีกินยาคุม, กินยาคุมให้ปลอดภัย
กินยาคุมกำเนิด ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้

ยาคุมกําเนิดกับการบําบัดโรค

  1. โรคไข่ไม่ตก ซึ่งทําให้ผู้ป่วยไม่มีประจําเดือน หรือมีประจําเดือนกะปริบกะปรอย สามารถใช้ยาคุมกําเนิดทดแทนการทํางานของฮอร์โมนได้
  2. ผู้ที่มีฮอร์โมนน้อย ในบางคนรังไข่ไม่ทํางาน เนื่องจากระบบฮอร์โมนทํางานผิดปกติ ทําให้ไม่มีประจําเดือน การใช้ยาคุมก็ทําให้มีประจําเดือนได้
  3. โรคถุงน้ำหลายใบในรังไข่ ผู้ป่วยโรคนี้มีฮอร์โมนเพศชายสูง มีภาวะอ้วน ไม่มีประจําเดือน ยาเม็ด คุมกําเนิดจะช่วยลดขนาดของถุงน้ำได้
  4. ลดอาการปวดประจําเดือนแบบปฐมภูมิ คือ เป็นอาการปวดที่ไม่ได้เกิดจากโรคแฝง เกิดจากโพรงมดลูกมีแรงดันสูง การกินยาคุมจะช่วยลดอาการปวดแบบปฐมภูมิได้ แต่กรณีเป็นการปวดประจําเดือนแบบทุติยภูมิ คือ มีโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น เนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ยาคุมอาจไม่ได้ช่วยให้หายปวด

กินง่าย ปลอดภัย ไร้กังวล

เพราะยาคุมกําเนิดมีความจําเป็นสําหรับคุณผู้หญิงบางท่าน เราจึงมีคําแนะนําวิธีกินที่ถูกต้องมาฝาก

1. ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรว่าควรกินยาคุมกําเนิดประเภทใด

2. ไม่ควรกินติดต่อกันนานเกิน 5 ปี

3. ควรพบแพทย์ทุกปีเพื่อประเมินความเสี่ยงในการกินยาคุมกําเนิดในปีต่อๆ ไป

4. กรณีใช้ยาคุมเพื่อรักษาโรค ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่ง ไม่ควรซื้อยาคุมกําเนิดมากินเอง

5. ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนร่วมกับการกินยาคุมกำเนิด เพราะฮอร์โมนเอสโทรเจนจะไปขัดขวางกระบวนการกําจัดกาเฟอีนออกจากร่างกาย ทําให้ร่างกายมีกาเฟอีนตกค้างเป็นเวลานาน จึงเกิดอาการใจสั่น กระวนกระวาย นอนไม่หลับตามมาได้

6. คุณผู้หญิงที่เป็นฝ้า ควรเลือกยาคุมกําเนิดชนิดที่มีระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนต่ำ และควรใช้ครีมกันแดดร่วมด้วยเพื่อลดการเกิดฝ้า

นอกจากการใช้ยาคุมกำเนิด การใช้ถุงยางอนามัยก็เป็นอีกทางเลือกเพื่อการคุมกำเนิดที่ดีและยังป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย

อย่าลืมนำความรู้เรื่องยาคุมกำเนิดไปบอกต่อคนใกล้ตัว จะได้แข็งแรง ปลอดภัยกันถ้วนหน้านะคะ


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

วิธีป้องกัน 5 โรคร้าย สำหรับ สาวโสด ขี้เหงา

โรคจุดซ่อนเร้นน่ารู้

ช็อกโกแลตซีสต์ โรคที่ทำให้มีลูกยาก

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.