รูปที่มีทุกบ้าน

ตัวจริง เจ้าของไอเดีย “รูปที่มีทุกบ้าน” อภิรักษ์ สุขสัย

ตัวจริง เจ้าของไอเดีย “รูปที่มีทุกบ้าน” อภิรักษ์ สุขสัย

 

เราทุกคนคงคุ้นเคยดีกับเพลง “รูปที่มีทุกบ้าน” ที่ไม่ว่าจะฟังกี่ครั้งกี่หนก็ทำให้น้ำตาคลอ เพราะเนื้อเพลงแสดงถึงพลังแห่งความจงรักภักดีที่คนไทยมีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ชีวจิต ภูมิใจที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณอภิรักษ์ สุขสัย หรือ คุณอู๊ด รองผู้จัดการฝ่ายภาพนิตยสารกลุ่มบ้านและสวน บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่น้อยคนนักจะรู้ว่า เขาคือช่างภาพคนแรกในเมืองไทยที่ลงมือฉายพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในคอนเซ็ปต์ “รูปที่มีทุกบ้าน”

มองผ่านเลนส์…ก็เห็นพระองค์ท่าน

คุณอู๊ดเล่าที่มาของโปรเจ็กต์นี้โดยย่อว่าประมาณปี พ.ศ. 2544 ทางบริษัทอมรินทร์ฯได้จัดงานแสดงศิลปะที่เรียกว่า “Side Walk วันพ่อ” เพื่อจัดแสดงภาพพระบรมฉายาลักษณ์และผลงานศิลปะที่เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งตอนนั้นคุณอู๊ดยังหาไอเดียในการแสดงผลงานที่ถูกใจไม่ได้

เขาจึงค่อย ๆ ทบทวนภาพจำของตัวเองเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งทำให้พบว่า ทุกครั้งที่ออกไปถ่ายภาพบ้านและต้นไม้ ไม่ว่าจะในเมืองหรือชนบทที่ห่างไกล เมื่อมองผ่านเลนส์เขาจะพบภาพพระบรม-ฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทุกที่

“เพราะต้องไปถ่ายภาพบ้านและต้นไม้ ทั้งบ้านคนรวย บ้านชาวบ้านตามต่างจังหวัด ก็จะเห็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ทุกที่หากเป็นบ้านคนรวย ก็จะมีภาพพระบรมฉายาลักษณ์หรือพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงใส่กรอบที่เข้ากับสไตล์การแต่งบ้านของตัวเอง ถ้าเป็นชาวบ้านต่างจังหวัดก็มักมีปฏิทินในหลวงแขวนไว้ แม้ปฏิทินจะเก่าแค่ไหนก็ไม่ทิ้ง จะติดไว้อย่างนั้น

“แม้แต่บ้านเราเองก็มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ซึ่งการที่จะนำภาพใครสักคนที่ไม่ใช่คนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องมาติดไว้ คนในภาพนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่เราเคารพรัก เป็นคนที่เราระลึกถึงอยู่ในใจเสมอหรือเป็นคนที่เราเก็บไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งคนในภาพนั้นคือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้ผมฉายพระบรมฉายาลักษณ์พระองค์ท่านสะสมเรื่อยมา”

กระทั่งในช่วงปลายปีที่ผ่านมา พนักงานทุกฝ่ายของบริษัทอมรินทร์ฯร่วมจัดแสดงงานศิลปะ Side Walk Gallery อีกครั้งในหัวข้อ “เพราะเรารักและคิดถึงพ่อ” เพื่อแสดงความจงรักภักดีและความอาลัยต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 คุณอภิรักษ์จึงคัดเลือกภาพถ่ายกว่า 100 ภาพ จาก 1,000 ภาพมาจัดแสดงในคอนเซ็ปต์“ในหลวงในใจ”

พระบรมราโชวาทเพื่อการทำงาน

ในหลวงในใจ…ของช่างภาพคนหนึ่ง

ในหลวงในใจของแต่ละคนนั้นอาจเป็นภาพที่มีความงามแตกต่างกันไป บางคนจงรักภักดี และเทิดทูนพระองค์ในความที่ทรงเป็นลูกกตัญญูหรือความที่ทรงเป็นนักปราชญ์ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่สำหรับคุณอู๊ด ภาพในหลวงในใจคือ

ทรงทำเรื่องไม่ปกติจนเป็นเรื่องปกติ

“ตั้งแต่จำความได้ เราก็จะเห็นข่าวพระราชกรณียกิจที่พระองค์เสด็จฯ ไปทรงงานตามที่ต่าง ๆ จริง ๆ แล้วพระองค์ทรงไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ หรือในสวนจิตรลดา ไม่จำเป็นต้องมีนาข้าว โรงสี โรงเผาถ่าน บ่อปลาก็ได้ พื้นที่ข้างนอกมีเยอะแยะ แต่ทำไมต้องมาทำในวัง เป็นเพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะทำด้วยพระองค์เอง มีพระราชประสงค์ที่จะทอดพระเนตรใกล้ ๆ ด้วยพระองค์เอง ซึ่งพระราชกรณียกิจเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราเห็นจนชินตาจนกลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เรื่องปกติที่พระมหากษัตริย์จะต้องทรงงานหนักขนาดนี้”

ทรงเป็นไอดอลของความเป็นผู้ชาย

“เวลาเจอคนเก่งหรือมีความสามารถหลายด้าน เช่น เล่นดนตรีเก่ง วาดรูปเก่ง มีฝีมือในเชิงช่าง เราจะคิดว่า เก่งเหมือนในหลวง โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตัว ท่านทรงมีเทสต์ (Taste) ด้านการแต่งตัวมากจะเห็นว่า เวลาท่านเสด็จฯไปทรงงาน ท่านจะทรงเครื่องดูดีตลอด ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะเป็นถิ่นทุรกันดารแค่ไหน บนคันนา ในป่ารก ท่านจะทรงสูทตลอด

“แต่ความน่าสนใจอยู่ที่พระองค์ท่านไม่ได้ดูแปลกแยกจากสภาพแวดล้อม พระองค์ทรงไม่เคยทำให้ประชาชนรู้สึกห่างเหินเลย นั่นเป็นเพราะท่านทรงงานเฉพาะพระพักตร์อย่างตั้งใจ ไม่ว่าอากาศจะร้อนขนาดไหน แต่เราไม่เคยเห็นท่านทรงบ่นหรือแสดงอาการเบื่อเลย ท่านจึงทรงเป็นไอดอลในแง่ความเป็นผู้ชายด้วยกัน”

ภาพในหลวงในใจของผู้อ่านอาจจะมีอีกมากมายหลายมุม ซึ่งไม่มีวันบรรยายได้จบสิ้น เช่นเดียวกับคุณอู๊ด ที่วันนี้แม้จะไม่ได้เห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศอีกแล้ว แต่เขาก็ยังคงถ่ายภาพในหลวงในใจในทุก ๆ พื้นที่ต่อไปจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ

เช่นเดียวกับคนไทยที่ยังจงรักภักดีและระลึกถึงพระองค์ท่านทุกลมหายใจ

จาก คอลัมน์ตามรอยพ่อหลวง  นิตยสารชีวจิต ฉบับ 446 (1 พฤษภาคม 2560)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ความเกื้อกูลของพระราชาและประชาชน

โครงการ พระดาบส “โอกาส” ทางการศึกษาแก่ “ผู้ด้อยโอกาส”

อ่างขาง สถานีเกษตรหลวงเพื่อปวงชน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.