มูลนิธิราชประชานุเคราะห์

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ความเกื้อกูลของพระราชาและประชาชน

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์

ความเกื้อกูลของพระราชาและประชาชน

 

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

“ประชาชนทั่วๆ ไป เมื่อทราบว่าเพื่อนร่วมชาติได้รับความเดือดร้อนก็อยากจะช่วยเหลือด้วย ฉะนั้นจะต้องตั้งโครงการอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ทางราชการ เพื่อที่จะประสานน้ำใจเมตตาปราณีของคนทั่วประเทศ ได้ตั้งมูลนิธิขึ้นมาและได้ปฏิบัติดังนี้ คือเมื่อมีภัยธรรมชาติใด ๆ เกิดขึ้นก็มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิเข้าไปช่วยเลย ทำงานให้รวดเร็วและไม่บกพร่อง”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ณ ศาลาดุสิดาลัย

 

ปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยนำมาซึ่งความแปรปรวนของธรรมชาติ เกิดเป็นภัยพิบัติร้ายแรงขึ้นทั่วทุกมุมโลก แต่ในความโชคร้ายนั้นยังมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นให้เห็นนั่นคือน้ำใจไมตรีของเพื่อนมนุษย์ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ทุกข์ยาก

ชีวจิต มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณประวิทย์ หาญณรงค์รองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งให้เกียรติเล่าความเป็นมาของการก่อตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย

“ย้อนกลับไปในคืนวันที่ 25 ต่อกับวันที่ 26 ตุลาคม 2505 ได้เกิดพายุโซนร้อนชื่อ ‘แฮเรียต’ พัดผ่านทางตอนใต้ของประเทศไทย นำความเสียหายให้เกิดแก่จังหวัดทางภาคใต้ถึง 12 จังหวัด ซึ่งบริเวณที่โดนหนักสุดคือ ‘แหลมตะลุมพุก’ จังหวัดนครศรีธรรมราช

“เหตุการณ์นั้นสร้างความเสียหายแก่ชาวบ้านมาก บ้านเรือนถูกพายุพัดเรียบ มีผู้เสียชีวิตประมาณ 800 คน นับเป็นภัยพิบัติครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน” คุณประวิทย์เล่า พลางระลึกเรื่องราวในอดีต

เมื่อเกิดภัยพิบัติที่สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไม่ทรงนิ่งดูดายในความทุกข์ยากนั้น แต่กลับมีพระราชหฤทัยอันแน่วแน่ที่จะเสด็จฯ ไปยังพื้นที่ประสบภัย เพื่อดูแลราษฎรด้วยพระองค์เองทรงจัดตั้งคณะทำงานลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตั้งศูนย์รับบริจาคเพื่อหาทุนสมทบ

เมื่อได้รับผลตอบรับที่ดีจากราษฎรทั่วประเทศ มียอดบริจาคจำนวนมากเพียงพอที่จะเยียวยาผู้ประสบภัยและบูรณะสิ่งปลูกสร้างที่เสียหายได้ เงินที่เหลือจึงนำมาจัดตั้งเป็นมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เพื่อดำเนินงานช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานของภาครัฐต่อไป

คำสอนของพ่อหลวง

“หลังจากนั้นทางมูลนิธิก็มีการดำเนินงานติดตามผล และให้ทุนการศึกษาแก่เด็กกำพร้าจากภัยพิบัติให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาโดยไม่มีเงื่อนไข มีการจัดตั้งโรงเรียนในเครือของมูลนิธิ เพื่อให้ทางมูลนิธิสามารถเข้าไปให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ และคอยช่วยเหลือประชาชนที่ประสบสาธารณภัยโดยประสานงานกับภาครัฐ”

ดังนั้นมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ซึ่งมีความหมายว่าพระราชาและประชาชนให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นี้จึงเป็นตัวกลางที่จะหนุนนำความเกื้อกูลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และประชาชนร่วมชาติส่งมอบให้แก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและความทุกข์ยากในทุกพื้นที่

“การได้มาทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทนับว่าเป็นโอกาสที่ดีอย่างหาที่เปรียบไม่ได้สำหรับผม เพราะงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือการดูแลทุกข์สุขของประชาชนที่พระองค์รัก ผมจึงได้ทั้งรับใช้พระองค์ท่าน รับใช้ราษฎร และประเทศของเราด้วย สิ่งนี้นำความภาคภูมิใจมาสู่ครอบครัวของผมอย่างสุดซึ้ง” คุณประวิทย์กล่าวทิ้งท้ายกับเราด้วยความปลื้มปีติ

น้ำใจใดจะยิ่งใหญ่และงดงามเท่าน้ำใจจากเพื่อนมนุษย์ที่มอบให้ด้วยความเมตตาและปรารถนาดี ชีวจิต ขอให้สิ่งดี ๆ เหล่านี้อยู่คู่กับสังคมไทยไปชั่วกาลนาน

 

สนใจบริจาคสมทบทุนได้ที่

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

เลขที่ 1034 ถนนกรุงเกษม แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100

โทรศัพท์ 0-2281-1902, 0-2282-9596

จาก คอลัมน์ตามรอยพ่อหลวง นิตยสารชีวจิต ฉบับ 384 (1 ตุลาคม 2557)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

โครงการ พระดาบส “โอกาส” ทางการศึกษาแก่ “ผู้ด้อยโอกาส”

อ่างขาง สถานีเกษตรหลวงเพื่อปวงชน

หญ้าแฝก พืชมหัศจรรย์จากพระราชา

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.