บุหงา

ดอกไม้ของพระราชาสู่ บุหงา “สราญรมย์”

ตามรอยพ่อหลวง

ดอกไม้ของพระราชาสู่ บุหงา “สราญรมย์”

 

 

บุหงา “สราญรมย์” นับจากวันแรกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต  นอกจากชาวไทยจะพากันหลั่งน้ำตาทั่วประเทศแล้ว ภาพหนึ่งที่ปรากฏในช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าดังกล่าวก็คือ มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่พร้อมใจกัน เดินทางมาวางดอกไม้เพื่อสักการะและร่วมถวายความอาลัยแด่ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่ง ณ บริเวณโดยรอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง

และมวลดอกไม้จำนวนมากมายมหาศาลในครั้งนั้นก็เป็นที่มาของ “บุหงาสราญรมย์” อีกหนึ่งกลุ่มพลังสามัคคีที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

อาจารย์อนุสรณ์ กะดามัน ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ คือผู้ริเริ่มแนวคิดการทำบุหงาสราญรมย์ เพื่อดำเนินตามแนว

พระราชดำริในเรื่องความพอเพียงและการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ท่านเล่าว่า หลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต มีประชาชนนำดอกไม้และพวงมาลัยจำนวนมากมาสักการะพระบรมศพเพื่อแสดงความอาลัย แต่ละวันดอกไม้เหล่านั้นจะถูกรวบรวมนำมาประดับไว้ที่

พระราชอุทยานสราญรมย์ และจะถูกนำไปทำเป็นปุ๋ยเมื่อเน่าเสีย ดังนั้นจึงคิดว่าควรจะนำดอกไม้เหล่านี้มาทำให้เกิดประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

บุหงา

“ในช่วงแรกผมเข้าไปช่วยเจ้าหน้าที่ที่สวนสราญรมย์แยกขยะก่อน อย่าลืมว่าดอกไม้หนึ่งช่อที่เราถือไปนั้นมีสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติ แต่เป็นมลพิษติดไปด้วย ทั้งลวด หนังยาง พลาสติกต่าง ๆ และหลังจากถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กก็มีเพื่อน ๆ และนักเรียนมาให้ความช่วยเหลือกลายเป็นกลุ่มจิตอาสานอกระบบที่ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้น”

กิจกรรมคัดแยกขยะของเหล่าจิตอาสายังคงดำเนินต่อไปวันแล้ววันเล่า กระทั่งอาจารย์อนุสรณ์เกิดแรงบันดาลใจในการตามรอยพ่อหลวงขึ้น

“ผมมานั่งนึกถึงในหลวง (รัชกาลที่ 9) ว่านอกจากรับสั่งให้ชาวเขาปลูกดอกไม้เมืองหนาวต่าง ๆ เพื่อนำมาขายแล้ว พระองค์ท่านทรงทำอะไรเกี่ยวกับดอกไม้ที่ใช้แล้วบ้าง เพราะอยากนำแนวคิดนั้นมาเป็นแนวทางในการจัดการดอกไม้ที่สวนสราญรมย์ให้เกิดประโยชน์เช่นกัน แต่คิดเท่าไรก็คิดไม่ออก จนได้อ่านบทความบทความหนึ่ง

“ในบทความนั้นเล่าว่า ตอนที่พระองค์ท่านประชวร มีประชาชนนำดอกไม้จำนวนมากมายมหาศาลไปถวายท่านที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งพระองค์ท่านทรงไม่เคยทิ้งดอกไม้ของประชาชน แถมยังรับสั่งให้นำดอกไม้เหล่านั้นไปให้คนไข้ในโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล ตำรวจ หรือผู้ที่ทำงานโดยเสียสละตนเอง สิ่งเหล่านี้ก็คือความพอเพียงง่าย ๆ ตามทฤษฎีของพระองค์ท่าน ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของการทำบุหงาสราญรมย์ครับ”

ปัจจุบันนอกจากเครื่องหอมกลิ่นรัญจวนใจนี้จะถูกแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่ทำงานเสียสละตน เช่น ทหาร ตำรวจ แพทย์ พยาบาล รวมถึงเหล่าจิตอาสาแล้ว กลุ่มบุหงาสราญรมย์ ดอกไม้ของพ่อ ยังเผื่อแผ่น้ำใจไปยังประชาชนและองค์กรที่อยู่ห่างไกลอีกด้วย อาทิ เจ้าหน้าที่ทหารในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และเขาพระวิหาร

สำหรับท่านใดที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เป็นประโยชน์นี้ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก: สราญรมย์ ดอกไม้ของพ่อ แล้วคุณจะรู้ว่า การเป็นผู้ให้ในวิถีพอเพียงนั้นสุขใจเพียงไร

จาก คอลัมน์ตามรอยพ่อหลวง นิตยสารชีวจิต ฉบับ 448 (1 มิถุนายน 2560)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

ช่างศิลป์ใน รัชกาลที่ 9 เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์

ฝนหลวง หยาดน้ำพระราชหฤทัยจากฟ้าสู่ผืนดิน

น้ำพระราชหฤทัยล้นเอ่อ ณ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.