กระเพาะอาหารอักเสบ, กระเพาะอักเสบ, ปวดท้องกระเพาะอาหาร, โรคกระเพาะอาหาร, กระเพาะอาหาร

สูตรธรรมชาติเยียวยากระเพาะอาหารอักเสบ

เยียวยา กระเพาะอาหารอักเสบ

ระวัง กระเพาะอาหารอักเสบ แบบไม่รู้ตัว เพราะเมื่อเวลาเจออากาศร้อนๆ ทีไร แนนมีทางออกด้วยการดื่มน้ำอัดลมใส่น้ำแข็งเย็นๆ เพราะนอกจากจะทำให้รู้สึกสดชื่นแล้ว ยังทำให้รู้สึกซาบซ่า เพราะเจ้าฟองที่ลอยบุ๋งๆ อยู่ในแก้วนั่นไง

ทว่าช่วงหลังๆ มานี้ เวลาแนนดื่มน้ำอัดลมทีไร มักมีอาการแสบที่บริเวณลิ้นปี่ เธอจึงเลิกดื่ม แต่ก็ยังรู้สึกจุกแน่นอยู่เหมือนเดิม บางครั้งมีอาการหนักถึงขั้นคลื่นไส้ อยากอาเจียนเสียให้ได้ วันนี้ก็เช่นกันที่แนนต้องทรมานกับอาการปวดบริเวณลิ้นปี่

เมื่อหาสาเหตุอื่นๆ แล้วไม่พบ แนนจึงมั่นใจว่าต้องเป็นเพราะน้ำอัดลมเจ้ากรรมขาประจำนั่นแน่ๆ

กระเพาะอักเสบเป็นอย่างไร

กระเพาะอักเสบ (Gastritis) หรือแผลในกระเพาะอาหารเกิดจากการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป หรือความต้านทานของผิวเยื่อบุกระเพาะอาหารลดลง ส่งผลให้มีอาการปวดแสบ ปวดตื้อ ปวดเสียด หรือจุกแน่นตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ บางครั้งอาจมีเลือดออกหรือเป็นแผล ส่งผลให้เยื่อบุกระเพาะถลอก ซึ่งแบ่งออกเป็นสองประเภท คือแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ดังนี้

  • กระเพาะอาหารอักเสบแบบเฉียบพลัน มักเกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารผิดเวลา กินมากเกินไป กินอาหารที่ติดเชื้อแบคทีเรีย กินอาหารประเภทครีม อาหารไม่สุก และอาหารค้างคืน นอกจากนี้การแพ้อาหารหรือมีความเครียดสูงก็มีผลเช่นกัน
  • กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง มักเกิดจากการกินอาหารที่ทำให้ระคายเคือง เช่น เหล้า เบียร์ ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำอัดลม รวมถึงการใช้ยาแอสไพริน ยาแก้อักเสบ ยาชุด หรือยาลูกกลอนชนิดที่ใส่สเตียรอยด์เพื่อรักษาอาการอักเสบ หรืออาการปวดอื่นๆติดต่อกันเป็นเวลานานๆ

บางรายอาจมีอาการปวดท้องเรื้อรังที่บริเวณลิ้นปี่ โดยจะรู้สึกปวดมากเวลาหิว บางครั้งก็จะปวดเวลาหลับตอนกลางคืนหรือหลังตื่นนอนตอนเช้า และอาการปวดจะลดลงหลังจากได้กินอาหารเข้าไป

กระเพาะอาหารอักเสบ, กระเพาะอักเสบ, ปวดท้องกระเพาะอาหาร, โรคกระเพาะอาหาร, กระเพาะอาหาร
กินอาหารผิดเวลา ดื่มเหล้า เบียร์ น้ำอัดลม เป็นประจำ เสี่ยงกระเพาะอาหารอักเสบ

ในกรณีกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังควรระวังภาวะแทรกซ้อน เช่น ปวดหัวรุนแรง มีไข้ และภาวะเลือดจาง ส่วนในรายที่มีอาการร้ายแรง อาจท้องเสีย ไม่สบายตัว อาเจียนมีเลือดปนเป็นสีแดงสดหรือสีน้ำตาลคล้ายกับสีของผงกาแฟ แต่ส่วนใหญ่มักตรวจพบขณะที่ตรวจโรคอื่นปรับพฤติกรรมเสี่ยง เลี่ยงกระเพาะอักเสบ

  1. พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ
  2. กินอาหารให้ตรงเวลา และกินอาหารให้ครบ 3 มื้อ (ถ้ารู้สึกปวดมากในระยะแรก ควรกินอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก) กินทีละน้อย แต่บ่อยมื้อขึ้น เพราะถ้ายิ่งกินมากนอกจากจะทำให้น้ำหนักขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้อาการกำเริบได้ง่ายขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้พยายามสังเกตว่าอาหารประเภทใดที่ทำให้มีอาการ แล้วพยายามหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ตาม ควรงดอาหารที่มีรสจัด อาหารมัน หรืออาหารทอดทุกประเภท
  3. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มจำพวกเหล้า เบียร์ ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำอัดลม เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ และอาจจะทำให้โรคกำเริบได้
  4. หยุดยาแอสไพรินและยาแก้อักเสบที่ใช้สเตียรอยด์ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาข้ออักเสบควรสอบถามแพทย์เพื่อความมั่นใจ
  5. คลายเครียดด้วยการออกกำลังกาย เช่น วิ่งเหยาะๆเดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ รำมวยจีน โยคะ เต้นแอโรบิก รำกระบอง หรือทำสมาธิ เพราะคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารเนื่องจากความเครียด การปฏิบัติในข้อนี้จะมีส่วนช่วยให้โรคหายขาดได้

 

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

กระเพาะอาหารอักเสบ, กระเพาะอักเสบ, กระเพาะอาหาร, ปวดท้องกระเพาะอาหาร, ปวดท้อง
อาการกระเพาะอาหารอักเสบ ที่เป็นมากกว่า 1 – 2 วัน หรือเป็นบ่อยๆ ควรรีบพบแพทย์

ฝึกชี่กงบำบัดกระเพาะอักเสบ

นายแพทย์เทิดศักดิ์ เดชคง กล่าวว่า การฝึกชี่กงเพื่อรักษาอาการกระเพาะอักเสบ เป็นการช่วยกระตุ้นระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (ระบบประสาทผ่อนคลาย) ร่วมไปกับการเคลื่อนไหวของร่างกายและหน้าท้อง เพื่อกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวเป็นปกติ การฝึกชี่กงเพื่อบำบัดกระเพาะอักเสบมีหลายวิธี แต่

ที่นำมาเสนอนี้ คุณหมอบอกว่าได้ผลดีและทำง่ายที่สุด เอ้า…ลองทำดู คุณทำได้ค่ะ

  1. การฝึกหายใจ หายใจเข้าจนท้องพอง แล้วหายใจออกจนท้องยุบ (ในระยะแรกอาจทำในท่านอน โดยวางมือหรือกล่องเล็กๆสักใบไว้บนสะดือ เวลาหายใจเข้า ท้องพองแล้วจะสังเกตได้ชัดเจน) ในช่วงแรกๆ ควรทำสัก 15 – 20 นาที แบบค่อยเป็นค่อยไป ถ้าทำได้ถูกต้องจะมีความรู้สึกโล่งสบายฝ่ามือ เท้า และใบหน้า จะแดงขึ้น
  1. การเคลื่อนไหวท้องในท่านั่ง เริ่มด้วยการนั่งบนเก้าอี้ในลักษณะห้อยขา โดยให้หัวเข่าขนานกับพื้น จากนั้นก้มตัวลงมาจนหน้าผากจรดเข่า พร้อมกับหายใจออก จากนั้นค่อยๆยกตัวขึ้นพร้อมกับหายใจเข้า ทำช้าๆ ซ้ำกันประมาณ 5 – 10นาที แต่ต้องระวังไม่ให้คอก้มหรือเงยมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการมึนงงได้สมุนไพรใกล้ตัวเยียวยากระเพาะอักเสบ

แนะนำมาแล้วตั้งหลายวิธี หากลืมเสนอยาจากธรรมชาติที่หาง่ายและอยู่ใกล้ตัวที่สุดอย่างสมุนไพรในครัวแล้วละก็เสียชื่อคอลัมน์นี้แย่เลย ว่าแล้วไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ ว่ามีอะไรที่บำบัดกระเพาะอักเสบได้บ้าง

  1. ผลมะไฟแห้ง 10 ลูก ต้มกับน้ำสะอาดในปริมาณที่พอเหมาะ ดื่มแต่น้ำ
  2. กล้วยน้ำว้า นำผลดิบหรือผลห่ามของกล้วยน้ำว้ามาฝานเป็นแว่น ตากแดดประมาณ 2 วัน หรืออบให้แห้งที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส แล้วนำมาบดเป็นผง นำผงกล้วยครั้งละ ½ -1 ผลผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ กินแทนยา หรือนำผงกล้วยมาปั้นเป็นยาลูกกลอนกินครั้งละ 4 เม็ด วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน
  3. ขมิ้นชัน ล้างเหง้าแก่สดของขมิ้นชันให้สะอาด (ไม่ต้องปอกเปลือก) หั่นเป็นชิ้นบางๆ ตากแดดจัดประมาณ 1 – 2 วันนำมาบดให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน

หรือบรรจุแคปซูล เก็บไว้ให้มิดชิดในขวดสะอาด กินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

* หมายเหตุ สำหรับบางคนกินขมิ้นแล้วอาจมีอาการแพ้ เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดหัว นอนไม่หลับ หากมีอาการดังกล่าวควรหยุดและเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่นแทน

เมื่อลองใช้ทุกๆ วิธีแล้ว สองสามวันให้หลังอาการของแนนค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ แนนบอกกับตัวเองว่า เข็ดแล้วเจ้าน้ำอัดลมมหาภัย นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว ยังทำให้กระเพาะแทบพรุน

สู้น้ำผลไม้คั้นสดๆ ของคุณแม่ไม่ได้สักนิด ว่าแล้วกินอีกแก้วดีกว่า…ชื่นใจกว่าเยอะ

อาการโรคกระเพาะที่ควรรีบไปพบแพทย์

  1. ปวดท้องไม่หายภายในเวลา 4 ชั่วโมง
  2. มีอาการมากกว่า 1 – 2 วัน หรือเป็นบ่อยๆ
  3. มีเลือดปนในอาเจียน
  4. อาเจียนหรือท้องเสียอย่างรุนแรงร่วมด้วย

 

ข้อมูลจาก คอลัมน์เยียวยาก่อนหาหมอ นิตยสารชีวจิตฉบับ 163 (16 ก.ค.48)

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.