โรคไทรอยด์, ไทรอยด์, คอพอก, ไทรอยด์ฮอร์โมน, ต่อมไทรอยด์

รู้จักไทรอยด์ ตัวปัญหาก่อโรควิตกกังวล นอนไม่หลับ

โรคไทรอยด์

อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ใจสั่น มือสั่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ อาการที่ดูเผินๆ ราวกับเป็นโรคกังวล แต่ที่จริงคุณอาจจะเป็น โรคไทรอยด์ โดยไม่รู้ตัวอยู่ก็ได้

รู้จักความสำคัญของไทรอยด์

ไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่ง อยู่บริเวณด้านหน้าของลำคอส่วนล่าง ชื่อของเขามาจากภาษาละตินเชียวนะคะ แปลว่า โล่หรือเกราะกำบัง เพราะอดีตเชื่อกันว่าต่อมไทรอยด์มีไว้เพื่อเป็นเกราะป้องกันหลอดลมที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ แต่ที่จริงเขามีหน้าที่ สำคัญในการผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด

ไทรอยด์ฮอร์โมนเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ เพราะมีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย สมอง และเซลล์ประสาท

ปกติเราจะมองไม่เห็นต่อมไทรอยด์หรอกค่ะ เพราะอยู่ใต้ผิวหนัง และขนาดใหญ่กว่านิ้วหัวแม่มือของเจ้าของเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อไหร่ที่มันมีขนาดใหญ่ขึ้นจะนูนออกมาให้เห็นได้ที่ด้านหน้าของลำคอ (แต่บางคนก็ไม่มีอาการคอโตอย่างชัดเจน)

แต่เมื่อไหร่ที่ต่อมไทรอยด์โตขึ้นกว่าปกติ ทั้งจากสาเหตุที่ทำงานมากขึ้น เช่น คอพอกจากขาดไอโอดีน คอพอกเป็นพิษ หรือว่าจากการที่ไทรอยด์โตขึ้นมาเอง เช่น เนื้องอกไทรอยด์ มะเร็งของไทรอยด์ เราจะเห็นได้ว่าคอพอกและก้อนจะขยับขึ้นลงตามจังหวะของการกลืน

เคยได้ยินชื่อ โรคเอ๋อŽ ใช่ไหมคะ เด็กที่ ตัวเตี้ย แคระแกร็น ปัญญาอ่อน หูหนวก เป็นใบ้ คือตัวอย่างของการขาดไทรอยด์ฮอร์โมนตั้งแต่เด็กค่ะ

ส่วนในผู้ใหญ่ที่ขาดไทรอยด์ฮอร์โมนร่างกายจะไม่เป็นปกติ กลายเป็นคนเฉื่อยชาซึมกระทือ ทำอะไรก็เชื่องช้าไปหมดทั้งร่างกายและจิตใจ

ตรงกันข้าม ถ้ามีฮอร์โมนมากเกินไปจะเหนื่อยง่าย ถึงแม้จะอยู่เฉยๆ จะมีอาการใจสั่น หงุดหงิด เหงื่อออกมาก ผอมลง แต่กินจุ เมื่อเป็นนานๆ จะตาโปนแบบตาดุ เรียกว่าเกิดภาวะ ไทรอยด์เป็นพิษ หรือ คอพอกเป็นพิษ

โรคไทรอยด์, ไทรอยด์, คอพอก, ไทรอยด์ฮอร์โมน, ต่อมไทรอยด์
ผู้ที่เป็นโรคไทรอยด์ มักมีอาการเฉื่อยชา เชื่องช้า ใจสั่น มือสั่น

คอพอกเป็นพิษ

ปกติต่อมใต้สมองจะเป็นตัวควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ คือถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย ต่อมใต้สมองก็จะหลั่งฮอร์โมนออกมากระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้น แต่ถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ต่อมใต้สมองก็จะลดการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลงสู่ระดับปกติ

แต่ในคนที่เป็นโรคคอพอกเป็นพิษพบว่า ต่อมไทรอยด์จะทำงานมากเกินหรือพูดง่ายๆ ว่าต่อมใต้สมองก็ควบคุมไม่อยู่ว่างั้นเถอะ และไทรอยด์ฮอร์โมนที่มากเกินจะไปกระตุ้นให้เซลล์ต่างๆ ของร่างกายทำงานมากผิดปกติ จนเกิดอาการไม่สบายต่างๆ ดังกล่าว

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ต่อมไทรอยด์เสียสมดุลในการทำงานนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อตัวเอง (autoimmune) คือร่างกายมีการสร้างแอนติบอดีต่อต่อมไทรอยด์ เรียกชื่อเฉพาะว่าโรคเกรฟส์ (Graves disease)โรคนี้ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชายถึง 8 เท่าเป็นกรรมพันธุ์ และความเครียดเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

โรคคอพอก, โรคไทรอยด์, ไทรอยด์, ไทรอยด์ฮอร์โมน, ต่อมไทรอยด์
ปรุงอาหารด้วยเกลือเสริมไอโอดีนเป็นประจำ ช่วยป้องกันโรคคอพอก

ไอโอดีน ผู้ช่วยคนสำคัญ

หากร่างกายขาดไอโอดีน (มีมากในเกลือทะเล อาหาร และสาหร่ายทะเล) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตไทรอยด์ฮอร์โมน ต่อมไทรอยด์จะทำงานหนักขึ้นด้วยการขยายขนาดให้ต่อมโตขึ้น เรียกว่า คอพอกชนิดธรรมดา จึงมักพบคนในชนบททางภาคเหนือและภาคอีสานซึ่งห่างไกลทะเลเป็นโรคนี้กันมาก

ผู้ที่อยู่ห่างไกลทะเลจึงควรปรุงอาหารด้วยเกลือเสริมไอโอดีนเป็นประจำ โดยเฉพาะเด็กๆ ก็จะช่วยป้องกันโรคเอ๋อได้หรือหากเป็นคอพอกชนิดธรรมดาและต่อมไทรอยด์ไม่โตมากนัก การเสริมไอโอดีนก็จะทำให้ก้อนยุบลงได้บ้าง

แต่ถ้าก้อนคอพอกขนาดโตมาก การกินไอโอดีนก็ไม่สามารถทำให้ก้อนยุบลงได้แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาเพื่อให้ขนาดยุบลง แต่ถ้าคอพอกใหญ่มากจนไปกดเบียดหลอดอาหารหรือหลอดลม ทำให้

กลืนลำบากหรือหายใจไม่คล่อง ก็ต้องผ่าตัดออก

มีคอพอกอีกประเภทหนึ่งที่ไม่เป็นอันตราย คือ คอพอกในช่วงเป็นสาววัยรุ่นหรือในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายมักต้องการไทรอยด์ฮอร์โมนมากกว่าช่วงอื่นๆ ทำให้ต่อมไทรอยด์ต้องทำงานหนักขึ้น จึงอาจเป็นคอพอกชั่วคราวได้ แต่เมื่อเลยช่วงนี้ไปแล้ว ต่อมไทรอยด์ก็จะยุบลงตามปกติไม่จำเป็นต้องรักษา

แต่ที่ไม่ควรวางใจคือพบว่าก้อนของต่อมไทรอยด์หรือก้อนคอพอกเป็นก้อนเดี่ยวหรือหลายก้อนที่มีขนาดโตอย่างรวดเร็ว คลำดูที่ก้อนไม่ค่อยเรียบและค่อนข้างแข็ง ขยับไม่ค่อยได้ บางครั้งอาจมีอาการปวดที่ก้อนร่วมด้วยและในบางรายเวลาพูดเสียงจะแหบและกลืนลำบาก ถ้ามีลักษณะเช่นนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์หรือไม่

จะเห็นว่าสาเหตุของการเกิดโรคไทรอยด์มีทั้งที่ไม่ทราบสาเหตุและที่เกิดจากการปฏิบัติตัวของเราเอง เช่น การขาดไอโอดีน หรือจากออโตอิมมูน ซึ่งหากเป็นสาเหตุจากสองประการหลัง เราสามารถที่จะป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพตามแนวทางชีวจิต เพื่อให้การทำงานของฮอร์โมนและระบบภูมิชีวิตไม่รวนเสียระบบจนทำให้เกิดเป็นโรคได้

กิน นอน ทำงาน พักผ่อนให้ถูกต้อง ยังคงเป็นยาครอบจักรวาลตลอดกาลค่ะ

 

คอลัมน์โรคภัยใกล้ตัว นิตยสารชีวจิต

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.