บำรุงหัวใจ

ชวนคุณกิน “กระเจี๊ยบ” เพื่อ บำรุงหัวใจ

บำรุงหัวใจ

บำรุงหัวใจ ด้วย “กระเจี๊ยบ” ผักดอกที่มีสีแดงสดใส รูปลักษณ์โดดเด่น และมาพร้อมสรรพคุณทางยาที่หลายประเทศให้การยอมรับ

ดื่มชาดอกกระเจี๊ยบลดความดัน

งานวิจัยจากต่างประเทศหลายเรื่องให้ข้อมูลว่า ชาดอกกระเจี๊ยบ มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตและป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เช่น งานวิจัยของมหาวิทยาลัยทัฟตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทดลองให้อาสาสมัครซึ่งเข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงจํานวน 65 คน อายุระหว่าง 30 – 70 ปี ดื่มชาดอกกระเจี๊ยบวันละ 3 แก้ว (แก้วละ 240 มิลลิลิตร) ต่อเนื่องเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า อาสาสมัครทั้งหมดมีค่าความดันโลหิตเฉลี่ย ลดลง โดยค่าความดันโลหิตตัวบนลดลง 7.2 มิลลิเมตรปรอท และค่าตัวล่างลดลง 3.1 มิลลิเมตรปรอท นักวิจัยอ้างถึงข้อมูลจากการศึกษาก่อนหน้านี้และสรุปว่า ชาดอกกระเจี๊ยบช่วยขับปัสสาวะจึงทําให้ความดันโลหิตลดลง

กระเจี๊ยบ

นอกจากนี้ การศึกษาในวารสาร Ethnopharmacology ซึ่งทดลองให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ดื่มชาดอกกระเจี๊ยบ โดยต้มชาแห้ง 2 ช้อนโต๊ะ กับ น้ำ 1 แก้ว (ปริมาตร 250 มิลลิลิตร) นาน 2- 3 นาที กรองแต่น้ำ ดื่มวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 12 วัน พบว่า ค่าความดันโลหิตตัวบนและตัวล่างลดลงถึง 11.2 และ 10.7 เปอร์เซ็นต์

กระเจี๊ยบกําราบไขมัน ปกป้องหัวใจ

ไขมันในเลือดสูง เป็นสาเหตุสําคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งอาจนําไปสู่การเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน

วารสาร Nutrition Research ตีพิมพ์ข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับการลดไขมันป้องกันโรคหัวใจ โดยทําการทดลองกับชาวไต้หวันที่มีปัญหาคอเลสเตอรอลสูง จํานวน 42 คน อายุระหว่าง 18 – 72 ปี พบว่า เมื่อได้รับสารสกัดจากดอกกระเจี๊ยบ ทุกคนมีระดับคอเลสเตอรอลลดลงภายใน 2 สัปดาห์ และภายหลัง 4 สัปดาห์ อาสาสมัคร 70 เปอร์เซ็นต์ มีระดับคอเลสเตอรอลลดลงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

คลิกเพื่ออ่านหน้าถัดไป

นักวิจัยมีความเห็นว่า สารสกัดจากดอกกระเจี๊ยบ ช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้ แต่จําเป็นต้องมีการศึกษาในกลุ่มทดลองที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อยืนยันผลการศึกษาต่อไป

5 เทคนิค คงคุณค่าชาดอกกระเจี๊ยบ

แสงแดด ความร้อน ความชื้น และอากาศ เป็นสาเหตุสําคัญทําให้สรรพคุณทางยาของชาดอกกระเจี๊ยบลดลง ฉะนั้นเพื่อให้ได้สรรพคุณตามต้องการ ควรทำดังนี้

กระเจี๊ยบ

  1. ซื้อชากระเจี้ยบที่บรรจุในถุงฟอยล์หรือภาชนะทึบแสง เช่น กล่องอะลูมิเนียม ไม่ซื้อชาที่บรรจุในขวดแก้วหรือภาชนะ พลาสติกใส
  2. เก็บชาในภาชนะปิดสนิท
  3. วางในตู้ที่ไม่โดนแสงแดด ไม่ควรวางใกล้แหล่งกําเนิดความร้อน เช่น เตาอบ
  4. ใกล้แหล่งที่ทําให้เกิดความชื้น เช่น เครื่องล้างจาน ตู้เย็น
  5. ไม่ควรวางใกล้เครื่องเทศที่มีกลิ่นแรง เพราะชากระเจี้ยบอาจดูดกลิ่นเครื่องเทศเข้ามา ทําให้กลิ่นและรสชาติเปลี่ยนแปลงได้

เมื่อความดันโลหิตลดลง หัวใจแข็งแรงทันที หากรู้จักใช้ประโยชน์จากดอกกระเจี๊ยบ ทั้งไม่ลืมกินผักผลไม้หลากสี และธัญพืชไม่ขัดขาวเพื่อให้ใยอาหารสูงร่วมด้วยทุกวันค่ะ

โดยธิษณา จรรยาชัยเลิศ จากคอลัมน์ มื้อสุขภาพ นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.