การจัดการความเครียด, ความเครียด, แก้เครียด, เครียด, บำบัดความเครียด

4 SUPER A หยุดเครียดถาวร

การจัดการความเครียด ด้วย 4 “A”

การจัดการความเครียด ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนส่วนใหญ่มักเจอปัญหาอื่นๆ ในชีวิตประจําวัน โดยเฉพาะคนในเมืองจะมีเรื่องให้เดือดร้อนรําคาญตลอด เช่น การจราจรติดขัด ความขัดแย้งทางการเมือง การเอารัดเอาเปรียบของพ่อค้าแม่ค้า รวมไปถึง เรื่องส่วนตัว เช่น ไปทํางานสาย กลับไปรับลูกที่โรงเรียนไม่ทัน พักผ่อนไม่พอ

เวลามีเรื่องเครียด หลายคนมักหันไปหาวิธีคลายเครียดที่ไม่ค่อยเป็นผลดีต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่มากขึ้น ดื่มเหล้ามากขึ้น บางคนเก็บเนื้อเก็บตัว นั่งจมอยู่หน้าจอโทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์นานๆ บางคนใช้ยาคลายเครียดหรือยานอนหลับ แต่บางคนแสดงอาการตรงกันข้าม คือ บ่นมากขึ้น หงุดหงิดง่าย ทําลายข้าวของหรือทําร้ายคนอื่น

เพื่อจัดการความเครียดจึงต้องแก้ที่สาเหตุ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 วิธีใหญ่ๆ เรียกว่า 4A

  1. Avoid

การพยายามหลีกเลี่ยง (Avoid) สถานการณ์หรือบุคคลที่ทําให้เราเครียดแต่อาจทําไม่ได้เสมอไป และบางครั้งก็ไม่จําเป็นต้องทํา

อย่างไรก็ตาม ถ้าทําได้จะช่วยลดความเครียดลง วิธีหลีกเลี่ยงมีดังนี้

  • รู้จักปฏิเสธ

ควรรู้ขีดจํากัดของตนเองในการทํางาน หรือเรื่องต่างๆ การบอกปฏิเสธทั้งเรื่องส่วนตัวหรือการทํางานที่ไม่ใช่ของเราดีกว่าไปรับปากทุกเรื่อง แล้วมานั่งเครียดกังวลว่าจะทําไม่ทัน

  • เลี่ยงเผชิญหน้ากับบุคคลที่ทําให้เกิดความเครียด

เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสัมพันธภาพกับบางคน ฉะนั้นการพยายามหลบเลี่ยง ไม่พบเสียบ้าง จะช่วยให้สบายใจขึ้น

  • ปรับเปลี่ยนสิ่งรอบตัว

ในสถานการณ์ต่างๆ เช่น หากข่าวการเมืองทําให้เครียด ควรปิดโทรทัศน์ชั่วคราวหรือเปลี่ยนไปดูช่องอื่น หากขับรถไปทํางานแล้วรถติดหรือไม่มีที่จอด ควรหันไปใช้รถไฟฟ้าหรือแท็กซี่แทนสบายกว่ากันเยอะครับ

  • ไม่พูดเรื่องที่ความคิดเห็นไม่ตรงกัน

ทั้งในครอบครัว และกลุ่มเพื่อน โดยเฉพาะ 2 เรื่องที่ไม่ควรนํามาถกเถียงกัน คือ การเมืองและศาสนา

  • เรียงลําดับความสําคัญของสิ่งที่ต้องทําประจําวัน

เริ่มต้นจากการวางแผนว่า ต้องทําอะไรก่อน ส่วนเรื่องที่ไม่จําเป็นให้จัดไว้ลําดับท้ายๆ หรือตัดออกไปบ้าง จะได้ลดภาระของตัวเอง

การจัดการความเครียด, ความเครียด, เครียด, แก้เครียด
เมื่อเกิดความเครียด ควรหาวิธีจัดการความเครียด ที่ไม่ทำลายสุขภาพ
  1. Alter

          การปรับเปลี่ยนสิ่งที่ทําให้เครียด (Alter) ถ้าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น ควรพยายามปรับเปลี่ยน ซึ่งทําได้โดย

  • บอกความรู้สึกของเราที่มีต่อคนคนนั้นด้วยวิธีนุ่มนวล

การบอกกล่าวอย่างนุ่มนวนนั้น ทำเพื่อให้เขารู้ว่าสิ่งที่ทําหรือพูดทําให้เราเครียด การไม่พูดจะทําให้อีกฝ่ายไม่รู้ว่าเราคิดหรือรู้สึกอย่างไร

  • ปรับเปลี่ยนตัวเอง

ในกรณีที่คิดว่าเราอาจเป็นสาเหตุ ที่ทําให้คนอื่นเครียดเช่นกัน

  • จัดสรรเวลาให้ดี

การพยายามทํางานหนักหรือทํา กิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งวันไม่ใช่เรื่องดี เพราะร่างกายและจิตใจของคนเราต้องการเวลาพักผ่อนเหมือนกัน

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

  1. Adapt

การปรับตัวให้เข้ากับความเครียด (Adapt) ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสาเหตุความเครียด จึงควรปรับตัวให้เข้ากับมัน โดยยอมรับและเปลี่ยนทัศนคติหรือความคาดหวังจากเดิมไปบ้างซึ่งสามารถทําได้โดย

  • มองปัญหาในมุมใหม่

ยกตัวอย่างเช่น เวลารถติดนานๆ อย่าเอาแต่นั่งบ่นหรือหงุดหงิด ให้คิดใหม่ว่า ดีเหมือนกัน จะได้มีเวลาอยู่กับตัวเองบ้าง หรือหาแผ่นซีดีเพลงเพราะๆ ที่ซื้อมาแต่ยังไม่มีโอกาสฟังใส่ติดรถไว้เพื่อฟังขณะรถติด การมองสถานการณ์ต่างๆ ในด้านดีจะช่วยลดความหงุดหงิดลง

  • มองปัญหาที่เกิดในระยะยาว

คิดว่า เมื่อถึงเดือนหน้า หรือปีหน้าปัญหาที่เคยทําให้เราเครียดในวันนี้จะเป็นอย่างไร (คงไม่เป็นเหมือนเดิมแน่นอน) จะไปนั่งกลุ้มใจอยู่ทําไม

  • ลดมาตรฐานตัวเองลง

คนที่พยายามทําทุกอย่างให้ สมบูรณ์แบบ (Perfectionist) มักเครียดง่ายและทําให้คนอื่นเครียดด้วย ถ้าลดลงได้บ้าง เช่น คิดว่าพนักงานของเรา “ทําได้แค่นี้ก็ดีแล้ว” ก็จะเครียดน้อยลง

การจัดการความเครียด, ความเครียด, แก้เครียด, ผ่อนคลายความเครียด
ยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับปัญหาที่ก่อให้เกิดความเครียด จะช่วยให้เครียดน้อยลง
  1. Accept

การยอมรับความเครียด (Accept) เราหนี ปรับเปลี่ยน หรือควบคุมสาเหตุความเครียดบางอย่างไม่ได้ เช่น ความเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรืออุบัติเหตุ ดังนั้น การยอมรับปัญหาจึงดีที่สุด แต่อาจทําใจยากในตอนแรก วิธีทํามีดังนี้

  • เราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้

อย่าคิดว่าเราสามารถควบคุมทุกอย่างได้ เช่น พฤติกรรมของคนเป็นสิ่งที่ควบคุมยาก จึงควรยอมรับ และหาวิธีที่จะอยู่อย่างมีความเครียดน้อยที่สุด

  • บทพิสูจน์ชีวิต

คิดว่าปัญหายากๆ คือ การทดสอบที่จะทําให้เราแข็งแกร่งและมีประสบการณ์มากขึ้นในเวลาเดียวกัน ก็รับฟังคนอื่นกล่าวถึงข้อผิดพลาดของเราด้วย

  • พูดระบายสิ่งที่อยู่ในใจ

จะพูดระบายกับคนในครอบครัว เพื่อนสนิท บางคนไปหาพระหรือหมอดู คนไทยไม่นิยมพูดระบายกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพราะเสียเงินหาใครก็ได้ครับ ที่รับฟังและอาจให้ข้อแนะนําได้

  • ให้อภัย

ฝรั่งใช้คําว่า Forgive ซึ่งตรงกับหลักศาสนาพุทธที่สอนให้รู้จักการให้อภัย เพราะผู้คนในโลกนี้รวมทั้งตัวเราเองอาจทําอะไรผิดพลาดได้

การให้อภัยช่วยให้ความรู้สึกขุ่นเคืองลดลง อารมณ์ดีขึ้น พร้อมที่จะเดินไปข้างหน้าครับ

 

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 332

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.