เช็ก 9 อาการแพ้ยาปฏิชีวนะ

เช็ก 9 อาการแพ้ยาปฏิชีวนะ

9 อาการแพ้ยาปฏิชีวนะ

นับตั้งแต่เซอร์อะเล็กซานเดอร์ เฟลมิง ค้นพบยาเพนิซิลลิน ยาชนิดนี้ก็ได้รับการใช้อย่างแพร่หลาย เพราะประโยชน์มหาศาล แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระวัง อาการแพ้ยาปฏิชีวนะ กลุ่มนี้  กูรูต้นตำรับชีวจิตมีวิธีสังเกตอาการแพ้และวิธีแก้มาฝาก

ยาสำคัญที่สุดในวงการแพทย์ขณะนี้เห็นจะไม่มีอะไรเกินยาในกลุ่มปฏิชีวนะ ถ้าขาดยาตัวนี้เสียอย่างเดียว คุณหมอทั้งหลายอาจจะถึงกับอัดอั้นตันใจ ไม่รู้จะหาวิธีต่อต้านและรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างไร

ยากลุ่มนี้แม้จะมีความสำคัญและประโยชน์มหาศาล แต่ก็มีโทษมหันต์ สามารถคร่าชีวิตของผู้ที่ใช้ยาได้ทันที ถ้าใช้ยาประเภทนี้โดยไม่รู้จักวิธีควบคุมและแก้ไขในกรณีที่เกิดอาการแพ้ยาปฏิชีวนะขึ้นมา

ผมเคยเจอคนไข้มีอาการแพ้ยาปฏิชีวนะอย่างแรงเข้าครั้งหนึ่งสมัยที่กลับมาอยู่เมืองไทยใหม่ๆ เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นแพทย์ชวนเพื่อนเก่าๆ ไปรับประทานอาหารมื้อเย็นกัน คงจะเป็นโอกาสที่จะต้อนรับเพื่อนอย่างผมที่ไม่ได้พบเพื่อนเก่าๆ มาเป็นเวลานานด้วย

ขณะที่กำลังกินและดื่มกันอย่างสนุกสนาน เพื่อนคนหนึ่งนั่งทางหัวโต๊ะก็ฟุบหน้าลง แว่นตาหลุดออกจากใบหน้า มือสองข้างกำหมัดแล้วชกกันเองอย่างแรงๆ สักพักเดียวก็หล่นจากโต๊ะลงไปนอนหงายบนพื้นห้อง

เพื่อนตกใจหยุดดื่มหยุดกินกันหมด เพื่อนที่เป็นหมอดูเหมือนจะตกใจมากกว่าเพื่อน เขายืนตะลึงตัวแข็งอยู่ข้างๆ เพื่อนที่ล้มไปนั้น

“เฮ้ย ทำอะไรเข้าสักอย่างสิ” เพื่อนคนหนึ่งร้องขึ้น “ดูซิว่ามันเป็นอะไรไป”

นั่นแหละเพื่อนที่เป็นหมอจึงได้สติ เขาคุกเข่านั่งลง เปิดเปลือกตาดูตาของเพื่อนที่ชักดิ้นชักงออยู่นั้น ต่อไปก็จับชีพจรทำตาเหลือก “หัวใจทำท่าจะไม่เต้น” เขาทำท่าจะเป่าปาก แต่ก็หันมาบอกกับผมว่า “เอ็งช่วยทำ CPR ได้ไหม ข้าจะเป่าปากไอ้เขียวมัน”

 

เรื่องนี้ผมถนัดอยู่แล้ว การทำ CPR ก็คือการนวดหัวใจ – ปอดเพื่อให้การหายใจฟื้นคืนมาได้ตามปกติ เพื่อนช่วยกันเป่าปากจมูก ผมกดหน้าอกทำ CPR ตามวิธีที่เคยได้เรียนมา

สักครู่เพื่อนคนนั้นก็ลืมตาขึ้น แต่ยังลุกไม่ไหว เพื่อนที่เป็นหมอถามว่า “ไอ้เขียว เอ็งกินยาอะไรมาหรือเปล่า”

เพื่อนตอบเสียงแผ่วว่า “กินยาแก้หนอง”

“กินยาอะไร กินเมื่อไหร่”

“กินยาแอนติไบโอติก กินตอนขึ้นกระไดมาห้องอาหารนี่เอง”

“ไอ้บ้า กินแอนติไบโอติก แล้วดันมากินเหล้าทำไม” เสียงหมอพึมพำอย่างหัวเสีย

“ทำไงดีล่ะ ไปส่งโรงพยาบาลดีไหม” ผมถาม

“ดีเหมือนกัน แต่ข้าว่าเอาอย่างนี้ดีกว่า ไปถึงโรงพยาบาลมันช้า ช่วยกันหามไปขึ้นรถ ไปคลินิกของข้าดีกว่า อยู่หัวมุมใกล้ๆ นี่เอง ห้านาทีก็ถึงแล้ว”

เราหิ้วเจ้าเขียวร่องแร่งไปขึ้นรถ ขับประเดี๋ยวเดียว ไปถึงคลินิก หมอฉีดอะดรีนาลินให้เข็มหนึ่ง ครู่เดียวเจ้าเขียวก็ลุกขึ้นนั่งยิ้มได้

อาการแพ้ยาขนาดหนักอย่างนี้เรียกเป็นภาษาแพทย์ว่า ANAPHYLAXIS ซึ่งเป็นการแพ้ยาจนถึงกับมีอาการช็อกถึงตายได้ ยาที่แพ้กันง่ายดูเหมือนจะเป็นยาประเภทแอนติไบโอติกหรือยาประเภทปฏิชีวนะ

ยากลุ่มแรกที่เรารู้จักกันคือเพนิซิลลิน ซึ่งว่ากันที่จริง เซอร์อะเล็กซานเดอร์ เฟลมิง เป็นผู้ค้นพบจากเชื้อราชนิดหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 1929

จากการค้นพบคราวนั้น ยังไม่มีการคิดค้นให้เจ้าเพนิซิลลินตัวนี้ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรค ต้องรอกันกว่าสิบปีจนถึงปี ค.ศ. 1941 จึงได้นำยาตัวนี้มาใช้รักษาคนได้

เมื่อสมัยเพนิซิลลินมาถึงเมืองไทยเมื่อประมาณ 50 กว่าปีนั้น ผมจำได้ว่าเพนิซิลลินโผล่เข้ามาเหมือนเป็นยาวิเศษ เหมือนพระเอกผู้กล้าหาญขี่ม้าขาวมาช่วยชีวิตมวลชน

อาการแพ้ยาปฏิชีวนะ

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

แต่เพนิซิลลินนำมาใช้แก่คนไข้ได้ไม่กี่ราย ก็มีข่าวเรื่องการแพ้ยาจนกระทั่งเกิดการตายขึ้น การให้ยาเพนิซิลลินครั้งหลังๆ จึงต้องระวังมาก จำได้ว่าก่อนจะให้เพนิซิลลินต้องมีการทดสอบกันเป็นการใหญ่

การทดสอบนั้นคือใช้ยาปริมาณน้อยๆ โดยใต้ผิวหนังก่อน แล้วให้คนไข้ไปนั่งรอประมาณ 15 นาทีแล้วจึงตรวจสอบว่าผิวหนังมีผื่นขึ้นเป็นอาการแพ้หรือไม่ ถ้าไม่มีอาการแพ้จึงจะฉีดยาให้ได้

ต่อมาก็มีบริษัทยาค้นคิดยาปฏิชีวนะขึ้นมาใหม่อีกหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มแอมิโนไกลโคไซด์ ซึ่งจะมีคำว่าแอนติไบโอติกลงท้ายด้วยไมซินชนิดต่างๆ และยังแถมด้วยกลุ่มอื่นๆ เช่น ควิโนโลน เซฟาโลสปอริน เททราไซคลิน เป็นต้น

แม้จะเป็นยากลุ่มต่างๆ ซึ่งอาการแพ้อาจจะน้อยกว่าเพนิซิลลิน แต่กลุ่มต่างๆ นี้ก็เป็นกลุ่มปฏิชีวนะทั้งหมด หมายความว่า เป็นยาซึ่งผลิตมาจากเชื้อซึ่งมีชีวิตหรือจุลินทรีย์ แล้วเอาไปใช้ฆ่าเชื้อซึ่งเป็นจุลินทรีย์ด้วยกัน

เหตุที่กลุ่มต่างๆ เหล่านี้เป็นกลุ่มซึ่งมีชีวิต เมื่อกินหรือฉีดเข้าไปในตัวคนไข้ ผลข้างเคียงก็จะเกิดขึ้นนั่นคือ มีอาการแพ้

อาการแพ้เหล่านี้มีตั้งแต่น้อยๆ ไปหามาก อย่างเช่น ท้องเสีย ท้องอืด คลื่นไส้ ปวดหัวเวียนหัว ไปจนกระทั่งถึงหูอื้อและไตวายก็ยังมี เพราะฉะนั้น ก่อนจะใช้ยาประเภทนี้ก็ต้องทดสอบหรือสอบถามว่ามีอาการแพ้มากน้อยอย่างไร และมากน้อยเพียงไรด้วย

อาการแพ้ยาปฏิชีวนะ

อาการแพ้ยาปฏิชีวนะซึ่งพอจะสังเกตได้นั้น มีได้ดังนี้

– เริ่มต้นจะรู้สึกริมฝีปากชา

– มีอาการจามติดๆ กัน

– รู้สึกคันตามตัวและจะมีอาการเหมือนลมพิษขึ้นตามตัวด้วย

– น้ำหูน้ำตาไหล

– แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก

– ปากบวม คอบวม

– หัวใจเต้นแรง

– หัวใจเต้นอ่อนและเป็นลม

– หมดสติ

อาการแพ้เหล่านี้เกิดขึ้นได้เร็วมาก บางคนแพ้ภายใน 3 – 4 วินาที หลายคนจะแพ้ประมาณพักหนึ่งหลังจากกินยา

วิธีแก้

  1. บางคนจะมีอาการแพ้ยาเป็นประจำ ยาที่ทำให้แพ้นั้นอาจจะไม่ใช่ยาประเภทปฏิชีวนะก็เป็นได้ แต่ถ้าแพ้และจำเป็นจะต้องกินยาที่ทำให้แพ้นั้นอยู่ ก็มีวิธีป้องกันอย่างหนึ่งซึ่งดีมาก นั่นคือทำเป็นเหรียญ

หรือป้ายติดตัวหรือผูกคอไว้ ระบุสั้นๆ ว่าแพ้ยาอะไรและถ้ามีอาการแพ้จนไม่รู้สึกตัว ขอให้นำส่งโรงพยาบาลทันทีด้วย

  1. ในกรณีฉุกเฉินสำหรับคนไข้ ซึ่งอาจจะไม่รู้ตัวมาก่อนและเกิดการแพ้ยาจนหมดสติ ควรจะใช้วิธี

นวดหน้าอก – หัวใจ – และปอด (CPR) แล้วรีบตามแพทย์หรือส่งโรงพยาบาล ในระหว่างนำส่งโรงพยาบาลต้องนวด CPR ต่อไปจนถึงมือหมอแล้ว

  1. ยาที่จะแก้อาการช็อกหรือแพ้ยาอย่างชะงัดก็คืออะดรีนาลิน และแพทย์บางคนอาจจะให้ยาสเตียรอยด์และยาประเภท AMINOPHYLLINE ด้วย ยาประเภทหลังนี้เป็นยาขยายหลอดลมและขยายเส้นเลือด

ยาเหล่านี้คุณจะใช้เองไม่ได้ ต้องให้แพทย์เป็นผู้ให้เท่านั้น

 

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 319 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.