ป้องกันอัลไซเมอร์

วิธีดูแลสมอง ป้องกันอัลไซเมอร์ สไตล์บอกอ

ป้องกันอัลไซเมอร์

อยู่กับข้อมูลสุขภาพ โรคภัย ความเจ็บป่วยมานาน พบเจอผู้ป่วยมาก็เยอะ ไหนจะเซ็นซิทีฟต่อความทุกข์ของคน ชอบจินตนาการว่า หากเกิดขึ้นกับตัวเองจะเป็นอย่างไร เหล่านี้ทำให้ละเลยเรื่องสมองไม่ได้

เพราะความป่วยไข้ของสมอง เช่นการมีเนื้องอกในสมอง ในรายของน้องคนหนึ่งที่เคยสัมภาษณ์ ทำให้เธอไม่มีประเดือนเป็นปีๆ ปวดหัว และมองไม่เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ (เพราะเนื้องอกโตทับประสาทการมองเห็น) อีกรายหนึ่งมีบุคลิกเปลี่ยน จากเด็กชายวัย 7 ขวบที่น่ารักอ่อนโยน กลายเป็นเด็กร้าวร้าว พานชกต่อยกับเพื่อนในชั้นเรียนเป็นประจำ รุนแรงถึงขั้นจะฆ่าเพื่อน…โดยอาการต่างๆ เหล่านี้ ในเบื้องต้นมักไม่มีใครคิดถึงสมอง

ไหนจะความทุกข์ของคนที่ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เช่น หนังสือ The Long Goodbye เขียนโดยแพ็ตตี เดวิดลูกสาวประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา โรนัลด์ รีแกน ที่เล่าเรื่องพ่อของตนเอง ทำให้ผู้อ่านเห็นความทุกข์ทรมานของผู้ดูแล พร้อมกับพัฒนาการของโรค ซึ่งเริ่มจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัสถูกทำลายโดย “พลัก” ชนิดหนึ่ง ทำให้ความจำต่างๆ ค่อยๆ หายไป แล้วค่อยๆทำลายต่อมายังสมองส่วนที่ควบคุมเหตุผล ส่วนที่ควบคุมอารมณ์ จากนั้นก็เป็นส่วนที่เกี่ยวกับประสาทสัมผัสต่างๆ กลิ่น การได้ยิน การมองเห็น แล้วก็เลยไปทำลายความจำที่เกี่ยวกับครอบครัวตนเอง เช่น ใครเป็นลูก เป็นภรรยา สุดท้ายสมองทุกส่วนก็ถูกทำลายพร้อมๆ กับส่วนที่ควบคุมการทำงานของหัวใจ

ระหว่างนี้ (ซึ่งอาจใช้เวลา 5-10 ปี) ผู้ดูแลจะทรมานที่สุด เพื่อคงสภาพร่างกายและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ป่วยเอาไว้ (ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้) โดยผู้ดูแลก็จะต้องอยู่กับความปวดร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้ป่วยจะแย่ลงเรื่อยๆ กว่าจะเสียชีวิตนั่นเอง
เอ่อม…แบบนี้มันทรมานคนที่เรารักเนอะ ถ้ารักลูก รักภรรยา หรือสามี ก็อย่าทรมานคนเหล่านั้น ด้วยการเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งป้องกันได้

จึงต้องย้อนกลับไปดูสาเหตุของการเกิด “พลัก” ชนิดนั้น โดยอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต เรียกมันว่า “อัลเมิลลอยด์” เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากอาหารที่ก่อให้เกิดท็อกซิน เช่น ของหวาน ของมัน เนื้อสัตว์ติดมันต่างๆ ฉะนั้น การลดอาหารดังกล่าวลง และกินอาหารเสริมสุขภาพสมอง (คอลัมน์มื้อสุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉับบ 1 กุมภาพันธ์ 2560) จึงจะช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้

นอกจากนี้ ดร.ซิเรลลี และทีมงาน จาก US National Institute of Neuro
logical Disorders and Stroke (NINDS) และนักวิจัยจาก University of Rochester Medical Center researchers พบว่า การนอนหลับอย่างพอเพียงจะช่วยให้กลไกในการล้างพิษของสมองทำงานดีขึ้น โดยสมองจะหลั่งของเหลวสีน้ำเงินมาช่วยล้าง “เบต้า-อัลเมิลลอยด์” ที่พบในสมองผู้ป่วยอัลไซเมอร์ออกไป ฉะนั้น การพักผ่อนอย่างเพียงพอจึงช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ได้

ยิ่งไปกว่านั้น การอยู่กับลมหายใจ หรือการทำสมาธิ จะช่วยให้สมองอยู่ในคลื่นอัลฟ่า เกิดความรู้สึก สุข สงบ ช่วยให้สมองทุกส่วนทำงานอย่างสมดุล จึงเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมอง และป้องกันความเสื่อมของสมอง ที่นำไปสู่โรคความจำเสื่อม และอัลไซเมอร์ได้ ฉะนั้น เราจึงควรรักษาใจให้นิ่งๆ ร่มๆ แม้จะต้องเร่งทำงานมากมายก็ตามที

สำหรับคนวัยเกษียณ ข้อมูลจากคุณหมอสมาน ตั้งอรุณศิลป์ คลินิกชีวจิตโฮม ท่านแนะนำให้ออกกำลังกาย และเข้าสังคม เพื่อฝึกทักษะการเข้าสังคมและการใช้ภาษา ซึ่งก็เป็นการดูแลสมองเช่นกัน

ส่วนตัวบ.ก.เอง นอกจากวิธีการดังกล่าวแล้ว เรากินวิตามินบี 1, 2, 6 และ 12 แบบแยกเม็ด (คือไม่ใช่วิตามินบีรวม) ซึ่งทั้งหมดจะเข้าไปช่วยให้เซลล์สมองส่วนที่เรียกว่า นิวโรทราสมิสเตอร์ สปาร์คกัน แก้อาการคิดช้า คำติดอยู่ปลายลิ้น รวมทั้งความเหนื่อยล้าของสมองได้เป็นอย่างดี…อย่าลืมนะคะ วิตามินแบบแยกเม็ดกัน ซึ่งจะมีขายตามร้านขายยาใหญ่ๆ เท่านั้น

สุดท้าย การใช้เหตุผล การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาทั้งในงาน และเรื่องสำคัญอื่นๆ ในชีวิต ก็จะช่วยรักษาสุขภาพสมอง ตรงกันข้ามกับผู้ที่ปล่อยความคิดและชีวิตไปตามอารมณ์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.